FATCA และ CRS เมื่อไทยต้องเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษี
วันที่ส่ง: 29/08/2023 - ผู้เขียน: กรุงเทพธุรกิจ
วัตถุประสงค์ FATCA และ CRS
FATCA และ CRS เป็นความตกลงระหว่างประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินของผู้เสียภาษี ระหว่างกรมสรรพากรของประเทศคู่สัญญา ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของสรรพากรที่จะตรวจสอบได้ภายใต้ขอบอำนาจของตน
เนื่องจากผู้เสียภาษีได้นำฝากไว้ที่สถาบันการเงินในต่างประเทศ เช่น นาย A ชาวอเมริกัน ฝากเงินไว้กับบัญชีของธนาคารในไทย ดังนั้น เงินของนาย A จึงยากแก่การตรวจสอบของสรรพากรสหรัฐ
จากตัวอย่าง จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่ว่า การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ อาจเป็น “หนึ่งในสาเหตุของการหลบเลี่ยงภาษี เพราะรัฐไม่สามารถมองเห็นรายได้ที่แท้จริงของผู้เสียภาษีที่เก็บไว้ในประเทศอื่น”
ข้อแตกต่างที่สำคัญของ FATCA และ CRS
1.คู่สัญญาและข้อมูลที่ต้องส่ง
FATCA : ไทยได้ทำความตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ (ปีละครั้ง) กับสหรัฐ ดังนั้น ข้อมูลที่ต้องนำส่ง คือข้อมูลทางการเงินของชาวสหรัฐที่อยู่ในไทย โดยทางกลับกัน สหรัฐก็มีหน้าที่ส่งข้อมูลทางการเงินของคนไทยในสหรัฐให้กับไทยเช่นกัน
CRS : ไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax purposes (Global Forum)
ซึ่งภายใต้พันธกรณีของ Global Forum ไทยต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งแบบร้องขอ ภายใต้กรอบอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ไทยมีอยู่ (60 ประเทศ ไม่รวมสหรัฐ) และแบบอัตโนมัติในลักษณะพหุภาคีกับประเทศสมาชิกในเครือข่ายความร่วมมือภาษี (กว่าร้อยประเทศทั่วโลก)
2.ข้อมูลของใครบ้างที่ถูกรายงาน
FATCA เป็นข้อมูลทางการเงินของบุคคลสัญชาติสหรัฐ (U.S.Citizen) บุคคลสองสัญชาติ ผู้ที่ถือบัตรประจำตัวผู้มีถิ่นที่อยู่ในสหรัฐ (กรีนการ์ด) และบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในสหรัฐเพื่อวัตถุประสงค์ในทางภาษี (เช่น อยู่ในสหรัฐเกิน 183 วันในปีภาษี)
CRS จะพิจารณาจาก Tax resident หรือถิ่นที่อยู่เพื่อวัตถุประสงค์ในทางภาษี ซึ่งเป็นหลักการที่ว่า ผู้มีถิ่นที่อยู่ (หรืออาศัยอยู่) ในประเทศใด ย่อมต้องเสียภาษีให้กับประเทศนั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักสัญชาติ
กล่าวคือ กรณีบุคคลธรรมดา จะพิจารณาจากจำนวนวันที่อาศัยอยู่ในประเทศ เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณา Tax resident เช่น ประเทศ A กำหนดว่า หากบุคคลไม่ว่าสัญชาติใดอยู่ในประเทศ A เป็นเวลา 180 วันและมีเงินได้เกิดขึ้นในประเทศ A ประเทศ A จะมีสิทธิเก็บภาษีจากเงินได้ดังกล่าว
ดังนั้น เมื่อปรับเข้ากับหลักเกณฑ์ของ CRS จึงสรุปได้ว่า บุคคลที่จะถูกไทยรายงานข้อมูล คือข้อมูลของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในรัฐคู่สัญญา ซึ่งรวมถึงกองมรดกที่มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในดินแดนของรัฐคู่สัญญาด้วย
ในทางปฏิบัติ บุคคลหนึ่งอาจเป็น Tax resident ของหลายประเทศก็ได้ หากในปีภาษีที่ผ่านมาได้อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ตรงตามเงื่อนไขที่แต่ละประเทศกำหนด
3.ผู้มีหน้าที่รายงาน
ในภาพรวม FATCA กับ CRS ได้กำหนดนิยาม “สถาบันการเงินที่ต้องรายงาน” ไว้ใกล้เคียงกัน โดยพิจารณาจากประเภทของธุรกิจที่มีลักษณะการให้บริการที่อาจก่อให้เกิดรายได้ หรืออาจถูกใช้เป็นที่เก็บเงินกำไรของบุคคล อันได้แก่
1) สถาบันที่ทำหน้าที่รับฝากเงิน เช่น ธนาคาร 2) สถาบันผู้รับฝากสินทรัพย์ทางการเงิน (Custodian) 3) ธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนที่รับจัดการ/บริหารการลงทุนให้ลูกค้า เช่น บริษัทหลักทรัพย์ 4) ผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตที่มีการออกกรมธรรม์ที่มีมูลค่าเงินสดหรือแบบเงินรายปี (การประกันภัยแบบพ่วงการลงทุน)
จากความตกลงระหว่างประเทศสู่กฎหมายภายใน
ไทยได้เข้าทำความตกลง FATCA กับสหรัฐในปี 2559 และเข้าร่วมเป็นสมาชิก Global Forum ตามมาตรฐานของ OECD ที่เรียกว่า CRS (Common Reporting Standard) ในปี 2560
ต่อมาได้อนุวัติการความตกลง FATCA โดยการตรา พ.ร.บ.การปฏิบัติการตามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐ เพื่อความร่วมมือในการปรับปรุงการปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ 2560
และอนุวัติการพันธกรณีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีแบบร้องขอและตามกรอบความร่วมมือของ OECD CRS โดยการตรา พ.ร.ก.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร 2566
กฎหมายภายในของ FATCA
นอกจาก พ.ร.บ.อนุวัติการฯ มีกฎหมายลำดับรองอีก 3 ฉบับ ได้แก่
1.“พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับประเภท ลักษณะการให้บริการ หรือธุรกรรมของผู้มีหน้าที่รายงาน” เพื่อกำหนดผู้มีหน้าที่รายงาน
2.“กฎกระทรวงการขอและการออกหนังสือรับรองสถานะการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน” ซึ่งผู้ประสงค์อาจร้องขอหนังสือดังกล่าวเพื่อรับรองสถานะว่าเป็นหรือไม่เป็นผู้มีหน้าที่รายงานตาม FATCA ได้
3.“กฎกระทรวงการรวบรวมและนำส่งข้อมูลที่ต้องรายงานให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ” เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการของผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลในทางปฏิบัติ (ทั้งนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดทำประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อกำหนดแบบรายงานข้อมูล ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเวลาอันใกล้)
กฎหมายภายในของ CRS
นอกจาก พ.ร.ก.อนุวัติการฯ มีกฎหมายลำดับรองอีก 3 ฉบับ ได้แก่
1.“กฎกระทรวงกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร” เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลตาม Global Forum
2.“ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดรายชื่อรัฐหรือภาคีซึ่งเป็นคู่สัญญาตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ” โดยไทยได้กำหนดรายชื่อประเทศ (113 ประเทศ) ที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วย
3.“ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และรูปแบบการส่งข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ ตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ”
การบังคับใช้
สำหรับ CRS สรรพากรได้เปิดระบบรายงานข้อมูลแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.-16 ก.ย.2566 ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลของปี 2565 และสำหรับ FATCA เมื่อประกาศอธิบดีแล้วเสร็จ และไทยได้แจ้งถึงความพร้อมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสหรัฐ คาดว่าจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ในต้นปี 2567
ท้ายที่สุด ปีหน้าจะเป็นปีแรกที่ประเทศไทยจะแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินเพื่อความโปร่งใสในทางภาษีตามความตกลงทั้งสองฉบับอย่างเต็มรูปแบบ.
คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ
คำเดียวสั้นๆ "แฟนสาวจาค็อบ" พูดต่อหน้า "รถถัง" หลังชวดแชมป์โลก
เผยคำพูด แฟนสาวของ จาค็อบ สมิธ ที่พูดต่อหน้า รถถัง จิตรเมืองนนท์ หลังฟาดปากกันในศึกมวยไทย รุ่นฟลายเว...
กรมวิชาการเกษตร ระดมแผนเตรียมพร้อม ส่งลำไยเจาะตลาดจีน
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรเร่งขับเคลื่อนนโยบายผัก ผลไ...
ผลบอล "บาเยิร์น มิวนิก" ไม่พลาด บุกเชือด "ซังต์ เพาลี" รั้งจ่าฝูงบุนเดสลีกา
"เสือใต้" บาเยิร์น มิวนิก ทำได้ตามเป้า บุกมาเอาชนะ ซังต์ เพาลี เก็บ 3 คะแนนสำคัญ รั้งจ่าฝูง บุนเดสลี...
ส่องขุมทรัพย์ที่ดิน 'รถไฟ' 9.6 หมื่นล้าน จ่อประมูลสร้างรายได้เชิงพาณิชย์
การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นับเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีทรัพย์สินที่ดินทั่วประเทศจำนวนมาก และยังเป็น...
ยอดวิว