จับตา 'ไทย-กัมพูชา' ถกพื้นที่ทับซ้อน 'ปตท.สผ.' พร้อมลงทุนสำรวจปิโตรฯ

Key Points

  • นายกรัฐมนตรีไทยและกัมพูชากำลังจะหารือทวิภาคีครั้งสำคัญ และประเด็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเป็นวาระร้อนที่หลายฝ่ายจับตา
  • การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนยังต้องยึด MOU ปี 2544 ที่เจรจาพื้นที่ที่มีปัญหาเขตแดนควบคู่พื้นที่ที่จะพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน
  • รัฐบาลชุดที่แล้วได้มีการร่าง MOU ฉบับใหม่ ที่แยกการเจรจา 2 ส่วนออกจากกัน เพื่อให้มีข้อสรุปการพัฒนาที่พื้นทับซ้อน
  • ปตท.สผ.ที่ได้สิทธิสำรวจและผลิตในอดีตยืนยันว่าหากรัฐบาลเจรจาสำเร็จก็พร้อมที่จะลงทุนผลิตและสำรวจปิโตรเลียม

นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มีกำหนดการเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ก.พ.2567 ในฐานะแขกของรัฐบาล เพื่อหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รวมถึงจะมีการหารือกันในด้านความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ในหลายด้าน

ประเด็นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเป็นหนึ่งในประเด็นที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะมีการเจรจาร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องยกขึ้นมาหารือและควรตกลงกันขุมทรัพย์พลังงานที่มีมูลค่าระดับล้านล้านบาท เพื่อให้มีส่วนผลักดันเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ

สำหรับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางพลังงาน (Overlapping Claims Area : OCA) ยังอยู่ในกรอบการเจรจาตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (MOU ปี 2544) ซึ่งลงนามกันเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2544 มีแนวทางในการเจรจา 2 ส่วน คือ

1.จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนให้มีการพัฒนาร่วม

2.ตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อนที่กำหนดให้มีการแบ่งเขตทางทะเลบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวจะทำในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้กลไกคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมามี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา ส่วนรัฐบาลปัจจุบันยังไม่มีการแต่งตั้งประธานคนใหม่

ส่วนการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมามีการตั้งคณะทำงาน 2 ชุด คือ 1.คณะทำงานว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้า และ 2.คณะทำงานว่าด้วยระบอบการพัฒนาร่วม มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้า

“พลังงาน”เตรียมโมเดลพัฒนาร่วม

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้จัดเตรียมข้อมูลสำหรับการเจรจาตามนโยบายของรัฐบาล โดยได้มีการพิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไขของสัญญาหรือสัมปทานปิโตรเลียม และยกร่างรูปแบบการบริหารและการจัดการที่จะนำมาใช้ในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา

แหล่งข่าว กล่าวว่า ข้อมูลที่กระทรวงพลังงานจัดเตรียมครอบคลุมการเจรจาจัดทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีเป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (JDA

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานเห็นว่าควรมีการแยกเจรจาระหว่างส่วนที่เกี่ยวข้องกับเขตแดนทางทะเลกับส่วนที่เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล ซึ่งแนวทางดังกล่าวจำเป็นต้องปรับแนวทางการเจรจาและแนวทางการดำเนินทำงานใหม่ เพราะแนวทางตาม MOU ปี 2544 กำหนดให้เจรจาทั้ง 2 ส่วน แยกกันไม่ได้ โดยกระทรวงพลังงานเห็นว่าควรเน้นการใช้ประโยชน์ทางด้านพลังงานที่ไม่เกี่ยวกับการแบ่งเขตแดน

เผยรัฐบาลประยุทธ์ร่าง MOU ใหม่ไว้

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในการหารือวันที่ 7 ก.พ. 2567 เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา หวังว่าจะได้ข้อยุติ

ทั้งนี้ การเจรจาเพื่อพัฒนาพื้นที่ร่วมกันจำเป็นต้องลืมข้อตกลง MOU ปี 2544 และร่าง MOU ฉบับใหม่ ซึ่งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินการเจรจาและร่าง MOU ฉบับใหม่ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ดังนั้น เมื่อถึงรัฐบาลนายเศรษฐา คงเห็นความสำคัญด้านทรัพยากรพลังงานในอ่าวไทยจึงไม่ต้องการให้สูญเปล่า

“ร่าง MOU ฉบับใหม่ทำไว้แล้ว แต่สุดท้ายกระทรวงการต่างประเทศก็ล้มเลิก โดยจะเน้นการนำก๊าซธรรมชาติมาแบ่งกัน และไม่เน้นเส้นแบ่งเขตแดน เพราะถ้าหารือเขตแดนไม่ว่าประเทศไหนก็คุยไม่จบ จึงต้องหาทางทำอย่างไรให้ได้ก๊าซมาในช่วงที่ยังมีราคาอยู่”

อย่างไรก็ตาม ในร่าง MOU ฉบับใหม่ สมัย พล.อ.ประยุทธ์ มีผู้แทนหลายฝ่ายร่วมดำเนินการทั้งความมั่นคงและกระทรวงพลังงาน แต่ไม่ได้ข้อยุติจนถึงขั้นลงนาม ซึ่งอาจติดขัดบางประเด็นโดยเฉพาะสิทธิของผู้รับสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายเดิมที่รัฐบาลไทยอนุมัติเมือปี 2511 และรัฐบาลกัมพูชาอนุญาตให้สิทธิสำรจและผลิตปิโตรเลียมเช่นกัน จึงต้องเจรจาว่าจะจัดการส่วนนี้อย่างไร

ทั้งนี้ ก๊าซจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา มีปริมาณมาก ซึ่งจะมีมากกว่าหรือเท่ากับแหล่งเดิมในอ่าวไทยที่ไทยใช้มาแล้วกว่า 30 ปี คาดกันว่ามีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท  รวมทั้งในอ่าวไทยเป็นก๊าซเปียก (Wet Gas) ที่นำมาเข้าโรงแยกก๊าซและนำไปทำธุรกิจปิโตรเคมีได้ ซึ่งไทยมีโรงแยกก๊าซอยู่แล้ว 6 แห่ง และมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่รองรับ จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 6-20 เท่า 

ปตท.สผ.พร้อมลงทุนสำรวจ

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า พื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ที่มีพื้นที่เป้าหมายพัฒนาร่วมกัน 16,000 ตารางกิโลเมตร รัฐบาลไทยได้ให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

ส่วนผู้ได้รับสัมปทานพื้นที่ทับซ้อนจากรัฐบาลไทยเมื่อปี 2511 แบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย

1.แปลง B5 และ B6 คือ Idemitsu Oil เป็นผู้ดำเนินงานหลัก (Operator) ถือสัดส่วน 50% และพันธมิตรมี Chevron E&P สัดส่วน 20% ,Chevron Blocks 5 and 6 สัดส่วน 10% ,Mitsui Oil Exploration Co.Ltd. สัดส่วน 20%

2.แปลง B7,B8 และ B9 คือ British Gas Asia เป็นผู้ดำเนินงานหลักถือสัดส่วน 50% และพันธมิตร คือ Chevron Overseas สัดส่วน 33.33% และ Petroleum Resources สัดส่วน 16.67%

3.แปลง B10 และ B11 คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 60% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 40%

4.แปลง B12 และ B13 (บางส่วน) คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 80% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 20%

5.แปลง G9/43 และ B14 ผู้รับสิทธิ คือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ

สำหรับพื้นที่ที่ ปตท.สผ.ได้รับสิทธิเป็นแปลงที่อยู่ล่างสุดของพื้นที่ทับซ้อนซ้อน โดยสิทธิในการสำรวจและผลิตในพื้นที่ดังกล่าวได้หยุดนับเวลาไว้นับตั้งแต่มีการโต้แย้งของทั้ง 2 ประเทศ

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า หากรัฐบาลไทยสามารถเจรจาได้สำเร็จ ปตท.สผ.ก็พร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐเพื่อนำเอาทรัพยากรที่เป็นประโยชน์มาสนับสนุนประเทศชาติ 

“ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยลดขั้นตอนการขุดเจาะสำรวจได้ดี และเชื่อว่าหากเป็นพื้นที่ติดกับแหล่งเอราวัณจะสามารถลดระยะเวลาจากระดับ 6-7 ปี ลดลงมาเหลือ 2-3 ปี ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าก็คงเป็นไปไม่ยาก” นายมนตรี กล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...