วางแผนการลงทุนหุ้นต่างประเทศปี 2567

สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่าน ผ่านปีใหม่มาแล้ว 1 เดือน เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายท่านคงได้ได้ทราบกันแล้วว่าตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปนั้น รายได้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ หากนำเข้ามาในปีใด ให้นับว่าเป็นรายได้ที่จะต้องเสียภาษีในปีนั้นๆ ซึ่งจากเงื่อนไขนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ เพราะผลกำไรจากการลงทุนหากนำเข้ามาในประเทศไทย ก็จะต้องเสียภาษีรายได้ อีกทอดหนึ่งซึ่งมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 35% เลยทีเดียว ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนหุ้นต่างประเทศที่เคยใช้มาก่อนหน้านี้ ก็คงจะใช้ไม่ได้แล้ว คงถึงเวลาต้องปรับตัวกันใหม่ วันนี้ผมมี ผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาสรุปแนวทางสำหรับ ผู้ที่สนใจลงทุนในหุ้นต่างประเทศ มาให้ทราบกันครับว่า สามารถทำอย่างไรได้บ้าง 

สำหรับการวางแผนภาษีรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศนั้น พอจะแบ่งได้เป็น 3 แนวทางด้วยกันนั้นก็คือ 1. การนำเงินได้เข้ามาโดยทำให้เสียภาษีน้อยที่สุด 2.การเลือกที่จะไม่นำเงินได้เข้ามาเลย และ 3.การลงทุนในสินทรัพย์ทางอ้อมที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับหุ้นต่างประเทศ

แนวทางแรก คือการนำเงินเข้ามาโดยทำให้เสียภาษีน้อยที่สุดนั้น วิธีแรก ผู้ลงทุนสามารถใช้เงื่อนไขถิ่นที่อยู่ ในการที่จะไม่ต้องเสียภาษีได้ โดยหากปีไหนผู้ลงทุนอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน รายได้ที่นำเข้ามาในปีนั้นจะไม่ต้องเสียภาษี โดยวิธีนี้อาจจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและยุ่งยากสักหน่อย แต่ถ้าหากเทียบกับภาษีที่ต้องเสียแล้วคุ้ม ก็เป็นวิธีที่ใช้ได้วิธีหนึ่ง วิธีที่สองก็คือ การทยอยนำเงินเข้ามาหลายๆก้อนแทนที่จะนำเข้ามาในทีเดียว เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษีในฐานภาษีที่สูงขึ้น โดยอาจจะนำเข้ามาในปีที่ผู้ลงทุนไม่มีรายได้หรือมีรายได้น้อยในปีนั้นๆ โดยทั้ง 2 วิธีนี้จะไม่ค่อยเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการนำเงินเข้าออกบ่อยๆ สักเท่าไร

แนวทางที่สอง คือการเลือกที่จะไม่นำเงินเข้ามาเลย โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ลงทุนที่มีแผนจะนำเงินไปใช้ในต่างประเทศอยู่แล้ว โดยวิธีนี้ผู้ลงทุนควรจะลงทุนควบคู่ไปกับการทำแผนใช้เงินไปด้วย ตัวอย่างเช่นการนำเงินไปลงทุนในหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศที่มีการปันผลสม่ำเสมอ เมื่อได้เงินปันผลมาก็นำไปจ่ายเป็นค่าเช่าบ้าน หรือค่าเทอมสำหรับบุตรหลานในต่างประเทศ เมื่อทำได้ครบระยะเวลาตามแผนแล้วก็นำเงินต้นกลับเข้ามาในประเทศ ก็จะไม่เสียภาษีเป็นต้น โดยแนวทางนี้จะเหมาะกับนักลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนต่างประเทศเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในต่างประเทศ มากกว่าการลงทุนเพื่อนำเงินเข้ามาใช้ในประเทศ

แนวทางสุดท้าย คือการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับหุ้นต่างประเทศ โดยแนวทางนี้เหมาะกับคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นหลัก และต้องการนำผลตอบแทนมาใช้ในประเทศไทย โดยต้องการกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปที่หุ้นต่างประเทศด้วย โดยสินทรัพย์ลงทุนที่ว่ามาได้แก่ DR, DRx และกองทุนรวม 

สำหรับ DR และ DRx คือ ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยการลงทุนใน DR และ DRx นั้นจะเปรียบเสมือนกับเราได้เป็นเจ้าของหุ้นต่างประเทศที่ DR และ DRx นั้นๆอ้างอิงตัวอย่าง เช่น Microsoft และ Apple แต่เนื่องจาก DR และ DRx นั้นเป็นการลงทุนในตราสารแสดงสิทธิที่ออกในประเทศไทย ทำให้ไม่ถือเป็นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ นั่นทำให้ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนลงทุนในหุ้นต่างประเทศนั้นเอง อย่างไรก็ตามข้อเสียของ DR และ DRx นั้นอยู่ที่จำนวนของ DR และ DRx ที่มีในตลาดนั้นยังคงน้อยอยู่มาก จึงอาจจะไม่มี DR และ DRx ที่อ้างอิงกับหุ้นที่ผู้ลงทุนต้องการ

และสุดท้ายนี้ เป็นวิธีที่สะดวกที่สุดก็คือการลงทุนในกองทุนรวมที่มีการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีกองทุนรวมให้เลือกมากมาย ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี และหากเป็นกองทุนอย่าง RMF หรือ SSF ก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการลงทุนในกองทุนก็คือ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ และ อาจจะไม่ตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการลงทุนเฉพาะเจาะจงในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากกว่า 

สุดท้ายนี้จะเห็นได้ว่าแต่ละวิธีการก็มีข้อดีข้อเสียที่ต่างกัน โดยอาจจะมีต้องจ่ายภาษีบ้าง หรืออาจจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น หรืออาจจะได้ผลตอบแทนน้อยลงมาบ้าง ก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่เราต้องยอมเสีย หากมันทำให้พอร์ตการลงทุนของเรามีการกระจายความเสี่ยง แทนที่จะกระจุกตัวอยู่แต่เพียงหุ้นไทย หรือกองทุนหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว เพราะอาจจะเจอเหตุการณ์ตรงกับสำนวนที่ว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ก็ได้ครับ

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...