‘สภาพัฒน์’ ฉายภาพหนี้เสียไทย ‘NPLs’ สูงกว่าจริง 3 เท่าหลังรวมเครดิตบูโร

วานนี้ (28 ส.ค.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสสองปี 2566 บทความเรื่อง “หนี้สินคนไทย ภาพสะท้อนจากข้อมูลเครดิตบูโร”

นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่าเมื่อพิจารณาข้อมูลหนี้สินของคนไทยผ่านฐานข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NBC) ที่เป็นข้อมูลที่มีรายละเอียดของลูกหนี้ และการรายงานมูลค่าหนี้จัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ (SML) และหนี้เสีย (NPL) ที่มีความครอบคลุมทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ หรือข้อมูลเครดิตบูโรทำให้พบว่าสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนของไทยในไตรมาสที่ 1/2566 มีมูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 12.9 ล้านล้านบาท มีบัญชีหนี้สินเชื่อในระบบประมาณ 83.1 ล้านบัญชี

หนี้เสียเครดิตบูโรสูงกว่าหนี้เสียในระบบธนาคาร 3 เท่า

ทั้งนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 7.6% แต่หากพิจารณาจากหนี้เสียที่เกิดจากธนาคารพาณิชย์พบว่ามีเพียง 2.6% ซึ่งน้อยกว่าข้อมูลของเครดิตบูโรกว่า 3 เท่า หนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่  1.4 แสนล้านบาท ขณะที่ข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด มีมูลค่ามากกว่าที่ 9.8 แสนล้านบาท

สะท้อนให้เห็นว่าลูกหนี้ที่มีปัญหาเป็นลูกหนี้ที่กู้เงินจากแหล่งหนี้อื่นๆที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มแรงงานตอนต้น-แรงงานสูงอายุก่อหนี้สูง

โดยลูกหนี้ที่เข้าข่ายต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษได้แก่ กลุ่มแรงงานตอนต้น (อายุต่ำกว่า 30ปี) และกลุ่มผู้สูงอายุ (50 – 59 ปี) โดยกลุ่มวัยแรงงานตอนต้นที่มี NPLs เพิ่มขึ้น 4.1% ต่อปี หรือกลุ่มเจนวายมีพฤติกรรมการใช้จ่ายไปกับทัศนคติที่ว่า “ของมันต้องมี” ทำให้การก่อหนี้เพิ่มขึ้น และขาดการวางแผนการเงินสำหรับอนาคต

ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุพบว่ามีหนี้เสียขยายตัวสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยระหว่างปี 2563 – 2565 กลุ่มผู้สูงอายุที่เป็น NPLs เพิ่มขึ้น 10.2% ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง ทำให้ความสามารถในการหารายได้ และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง

นอกจากนั้นในส่วนของการก่อหนี้จากการซื้อรถยนต์พบว่าเป็นหนี้ที่ลูกหนี้มีพฤติกรรมการผิดนัดชำระหนี้มากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่าหนี้เสียและความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยในไตรมาส1/2566 ที่ผ่านมาหนี้ NPL ของสินเชื่อยานยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 30.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หรือสูงสุดรอบ 14 ไตรมาสสวนทางกับหนี้สินครัวเรือนประเภทอื่นๆที่ปรับตัวลดลงทั้งหนี้สินที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลอื่นๆที่ลดลงซึ่งถือว่าเป็นสินเชื่อที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเพราะยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น

คนอายุต่ำกว่า 30 ปีเสี่ยงถูกยึดรถเกือบแสนคัน 

ทั้งนี้หากดูข้อมูลจากเครดิตบูโรพบว่ากลุ่มอายุที่มีสัดส่วนเป็น NPLs แล้วถูกยึดรถมากที่สุดคือกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 30 ปี ที่มีจำนวนรถเสี่ยงถูกยึดกว่า 9.5 หมื่นคัน แต่กลุ่มที่มีหนี้สินส่วนนี้มากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงอายุที่มี NPLs ต่อสินเชื่อรวมที่ 8.6% ในปี 2565

นอกจากนี้ สศช.ยังพบว่าจากข้อมูลเครดิตบูโรยังมีหนี้ครัวเรือนอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ อาจเป็นหนี้ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งในปี 2565 หนี้อื่น ๆ มีสัดส่วนต่อมูลค่าหนี้ทั้งหมดกว่า 18.8% อีกทั้งยังมีสัดส่วน NPLต่อสินเชื่อรวมสูงเป็นอันดับสอง และมีลูกหนี้ที่เป็น NPL รวมเกือบ 2 ล้านราย

โดยการแก้ปัญหาควรมีแนวทาง ดังนี้

1.ขยายความครอบคลุมของสมาชิกเครดิตบูโร โดยมีมาตรการจูงใจให้ผู้ให้สินเชื่อทุกกลุ่มเข้าเป็นสมาชิก NCBเช่น งดเว้นเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า และกำหนดให้ผู้ให้สินเชื่อต้องใช้ข้อมูลของ NCB ประกอบด้วยทุกครั้ง

2.ต้องมีการกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดำเนินการตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเข้มงวด โดย ธปท. มีการจัดทำเกณฑ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ควรมีการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินการของผู้ให้สินเชื่อร่วมด้วย

3.หน่วยงานรัฐในฐานะคนกลางต้องส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างรายได้และภาระหนี้ หรือระยะเวลาที่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้

4.ส่งเสริมการปลูกฝังความรู้ทางการเงิน (Financialliteracy)และวินัยทางการเงินต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย โดยวัยเด็ก/วัยเรียนควรมีหลักสูตรที่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ขณะที่วัยทำงานควรสร้างความตระหนักรู้ในการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการเก็บออม และกลุ่มผู้สูงอายุควรคำนึงถึงการใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็น และระมัดระวังในการก่อหนี้

และ 5.ดำเนินนโยบายที่ไม่กระตุ้น ให้เกิดการก่อหนี้หรือกระทบต่อการชำระหนี้ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้สะสมจำนวนมาก เช่น เกษตรกร จากนโยบายพักชำระหนี้ที่สร้างแรงจูงใจการไม่ชำระหนี้ให้กับประชาชน

 

อัตราว่างงานลดลงเหลือ 1.06% 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่าสำหรับภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 2 ปีนี้พบว่ามีประเด็นสำคัญคือ การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นโดยมีผู้มีงานทำจำนวนทั้งสิ้น 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวของปีก่อน 1.7% โดยเป็นการขยายตัวของแรงงานนอกภาคเกษตร 2.5% จากสาขาโรงแรม และภัตตาคารที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ชั่วโมงการทำงานรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 42.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ค่าจ้างแรงงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 14,032 บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่อัตราการว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น ลดลงจากปีก่อนที่เคยอยู่ที่ 1.37% มาอยู่ที่ 1.06% โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 4.3 แสนคน

อย่างไรก็ตามมีปัจจัยในด้านแรงงานที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงต่อไป คือการขาดแคลนแรงงานในสาขาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากพิจารณาตำแหน่งงานว่างและจำนวนแรงงานที่ได้บรรจุงานในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2565 ถึงเดือนมิถุนายน ปี 2566 จะพบว่า ผู้สมัครงาน 1 คนมีตำแหน่งงานรองรับถึง 5 ตำแหน่ง สะท้อนว่าความต้องการแรงงานของนายจ้าง และความสามารถของแรงงานไม่ตรงกัน

 

แรงงานทักษะต่ำสูงอายุ 1.3 ล้านคน

นอกจากนี้ยังต้องมีการการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเกษียณอายุของแรงงานทักษะต่ำ โดยไตรมาสสองปี 2566 มีแรงงานทักษะต่ำในภาคเอกชนที่กำลังจะเกษียณอายุกว่า 1.3 ล้านคน ขณะที่แรงงานที่จะเข้ามาทดแทนมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ในระยะต่อไปผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยปริมาณฝนสะสมในปัจจุบันมีค่าน้อยกว่าค่าปกติในทุกภูมิภาค ซึ่งการลดลงของปริมาณน้ำจะส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตรในระยะต่อไป

ในส่วนของหนี้สินครัวเรือนข้อมูลในไตรมาสที่ 1/2566 พบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้น3.6%  โดยหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 90.6% ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน

โดยหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสนี้สศช.ได้มีการปรับฐานหนี้ครัวเรือนให้สอดคล้องกับการปรับนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้มีการเพิ่มหนี้ในส่วนต่างๆเช่น กองทุนเพื่อกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้สหกรณ์ หนี้การเคหะแห่งชาติ เป็นต้น รวมมูลหนี้ 7 แสนล้านบาทเข้ามาด้วยแล้ว

หากพิจารณาการก่อหนี้ครัวเรือนรายวัตถุประสงค์ พบว่า ครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนภาพรวมลดลงเล็กน้อย โดยหนี้ NPL มีมูลค่า 1.44 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วน NPLต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่2.68% เพิ่มขึ้น 2.62% ของไตรมาสก่อน

ประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญ

ทั้งนี้มีประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่

1.หนี้เสียและความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

2.การติดกับดักหนี้ของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ สะท้อนจากพฤติกรรมการกู้ยืมของลูกหนี้สหกรณ์ส่วนใหญ่เพื่อใช้สอยส่วนตัวและเพื่อชำระหนี้สินเดิม

และ3.การส่งเสริมให้คนไทยมีทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้องแม้ว่าคนไทยจะมีระดับความรู้ทางการเงินดีขึ้น แต่การสำรวจการติดตามระดับความรู้ และการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือน ปี 2565 พบว่า ทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้องของคนไทยลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 โดยพบว่าให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงินลดลง

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...