เปิดโรดแมพ 3 เฟส ดันเป้าหมายไทย ‘ฮับการบิน’

“มี.ค.นี้ รัฐบาลจะประกาศแผนยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นฮับการบินของภูมิภาค (Aviation upgrade) ครั้งใหญ่” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวบางช่วงของปาฐกถาพิเศษในงาน TNN DINNER TALK Thailand Level Up ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งครั้งของการประกาศนโยบายรัฐบาลสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบิน ที่มีบทบาทสำคัญสร้างรายได้ให้กับประเทศ จากการเดินทางท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปัจจุบัน

โดยภายใต้แผนยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น “ฮับการบินของภูมิภาค” นายกฯ ยังระบุด้วยว่า จะมีแผนการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ และปรับปรุงท่าอากาศยานเดิมทั่วประเทศ เช่น ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานเชียงใหม่ นอกจากนี้จะมีการเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยแผนก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 3 และ 4

อีกทั้งอุตสาหกรรมการบินจะมีการปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ของท่าอากาศยานหลายแห่งในการให้บริการแก่ผู้โดยสาร รองรับต่อการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้นายกฯ ยังมีแนวคิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับเปลี่ยนนโยบายส่วนของค่าลงจอดอากาศยาน (Landing Fee) กับค่าปรับกรณีลงจอดล่าช้า ซึ่งประเทศไทยคิดค่า Landing Fee สูง แต่ค่าปรับการลงจอดช้าในอัตราที่ต่ำ

ซึ่งตรงนี้ต้องปรับเปลี่ยนสลับกันเป็นการคิดค่า Landing Fee ให้ต่ำ แต่คิดค่าปรับลงจอดช้าหรือดีเลย์ให้แพงขึ้น โดยมองว่าการปรับเปลี่ยนมาตรการลักษณะนี้ จะสามารถดึงดูดสายการบินมาลงที่ท่าอากาศยานในไทยได้เพิ่มขึ้น และจูงใจให้คนมาใช้บริการท่าอากาศยานในไทยมากขึ้น

ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมการบินของไทย จะต้องบริหารท่าอากาศยาน เพิ่มอัตราการเปลี่ยนเครื่อง การต่อเที่ยวบิน (Transit) ของผู้โดยสารให้มากขึ้น เพราะปัจจุบัน Transit ของผู้โดยสารในไทยยังน้อยอยู่มาก เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในปีที่มีผู้โดยสารสูงถึง 40 ล้านคน แต่กลับพบว่ามีอัตราการ Transit แค่ 1.5% ขณะที่ท่าอากาศยานชั้นนำอื่นๆ ในโลกมีอัตราการ Transit อยู่ที่ 20 – 30% ภาพรวมมากกว่าไทยหลายเท่าตัว

อย่างไรก็ดี บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. หน่วยงานผู้กำกับดูแล 6 ท่าอากาศยานหลักของประเทศไทย ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานเชียงราย

ขณะนี้มีแผนลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยาน และพัฒนาบริการผู้โดยสาร ระหว่างปี 2566 - 2570 รวมวงเงินลงทุนกว่า 2.4 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

โครงการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันออก (East Expansion)

  • เพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร
  • รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี
  • วงเงินลงทุน 7,830 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก (West Expansion)

  • เพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร
  • รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี
  • วงเงินลงทุน 7,830 ล้านบาท

โครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion)

  • เพิ่มพื้นที่ 348,000 ตารางเมตร
  • รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี
  • วงเงินลงทุน 40,000 ล้านบาท

โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3

  • เพิ่มพื้นที่ 160,000 ตารางเมตร
  • รองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคนต่อปี
  • วงเงินลงทุน 36,829 ล้านบาท

ท่าอากาศยานล้านนา

  • รองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคนต่อปี
  • วงเงินลงทุน 70,000 ล้านบาท

ท่าอากาศยานอันดามัน

  • รองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคนต่อปี
  • วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ทอท.ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาให้บริการ ได้แก่ เครื่อง CUSS (Common Use Self Service) สำหรับผู้โดยสารสามารถเช็กอินด้วยตนเอง และเครื่อง CUBD (Common Use Bag Drop) สำหรับให้ผู้โดยสารสามารถโหลดกระเป๋าสัมภาระได้เอง รวมไปถึงระบบส่งคืนถาดใส่สัมภาระอัตโนมัติ(Automatic Return Tray System: ARTS) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งในการรอต่อคิว ณ เคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร และบริเวณจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ รวมไปถึงการเชื่อมต่อข้อมูลการบริการต่างๆ ของสนามบินไปไว้บนแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา

ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) วางแผนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยประเมินไทม์ไลน์ของการดำเนินงาน แบ่งเป็น

ระยะสั้นปี 2567 – 2568

  • ขยายขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน 1.2 ล้านเที่ยวบินภายในปี 2568
  • ขยายขีดความสามารถในการองรับผู้โดยสาร 180 ล้านคนภายในปี 2568
  • มีกลยุทธ์ด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ
  • ลดระยะเวลาการต่อเครื่อง MCT (Minimum connecting time) 75 นาที
  • การบริการจัดการอากาศยานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ระยะกลางปี 2569 – 2571

  • ขยายขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน 1.4 ล้านเที่ยวบินภายในปี 2571
  • ขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 210 ล้านคนภายในปี 2571
  • อันดับของประเทศด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศในทวีปเอเชียแปซิฟิกดีขึ้น
  • ลดระยะเวลาการต่อเครื่อง MCT (Minimum connecting time) 60 นาที

ระยะยาวปี 2572 – 2580

  • ขยายขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน 2.1 ล้านเที่ยวบินภายในปี 2580
  • ขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 270 ล้านคนภายในปี 2580
  • อันดับของประเทศด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศในทวีปเอเชียแปซิฟิก อันดับ 1 ใน 5
  • ลดระยะเวลาการต่อเครื่อง MCT (Minimum connecting time) 45 นาที

โดยการขับเคลื่อนโครงการมุ่งสู่ Aviation Hub อุตสาหกรรมการบินจะต้องเพิ่มขีดความสามารถของห้วงอากาศผ่านการคำนวณเส้นทางบินที่เหมาะสม ลดเวลาทำการบิน ลดการใช้เชื้อเพลิง และลดจุดตัดทางการบิน นอกจากนี้ต้องเดินหน้าขยายการลงทุนท่าอากาศยานหลัก และภูมิภาคให้รองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินได้มากขึ้น

อีกทั้งส่วนสำคัญต้องบริหารจัดการตารางการบิน (Slot) อย่างมีประสิทธิภาพ ขยายขีดความสามารถของทางวิ่งเพื่อรองรับการจัดสรรเวลา (Slot) เพิ่มเติม ตลอดจนปรับปรุงกระบวนการเชื่อมต่อระบบขนส่งผู้โดยสารและสัมภาระระหว่างอาคารเพื่อลดระยะเวลาในการเปลี่ยนเที่ยวบิน และการเพิ่มขีดความสามารถในด้านบริการผู้โดยสารด้วยระบบเทคโนโลยี การจัดหาและติดตั้งระบบกล้อง CCTV อัจฉริยะ สำหรับหอควบคุมจราจรทางอากาศเพื่อให้การจัดการการบินมีประสิทธิภาพสูงสุด

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...