“ชัยธวัช” ยัน พรรคก้าวไกลหนุนกฎหมายนิรโทษกรรม หวังเป็นประตูบานแรกสร้างการเมืองแห่งความรัก ลดความขัดแย้งตลอดเกือบ 20 ปี ขอทุกคนถอดหัวโขนทางการเมืองออก หันหน้าพูดคุยกัน ล่าสุด สภามีมติเห็นชอบตั้ง กมธ.วิสามัญ 35 คน
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเวลาประมาณ 15.50 น. นายชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ร่วมอภิปรายญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งค้างมาจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567
นายชัยธวัช อภิปรายว่า ประเทศไทยเคยมีการนิรโทษกรรมมาแล้วหลายครั้ง และเท่าที่ตนเองรวบรวมไว้ เราเคยมีการนิรโทษกรรมมาแล้ว ทั้งผ่านกฎหมาย คือระดับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาไม่น้อยกว่า 21 ครั้ง และผ่านรัฐธรรมนูญอีก 2 ครั้ง รวมแล้วไม่น้อยกว่า 23 ครั้ง และแทบทั้งหมดเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจ ซึ่งในจำนวนนี้ 17 ครั้ง เป็นการนิรโทษกรรมให้กับการรัฐประหาร หรือการกบฏ ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ อีก 3 ครั้งเป็นการนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปราบปรามพี่น้องประชาชน เพื่อให้ไม่ต้องรับผิด แม้จะมีการใช้อาวุธต่อประชาชนจนบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือสูญหายจำนวนมาก ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535
ทั้งนี้ มีบ้างเล็กน้อยที่เป็นการนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่มีความขัดแย้งครั้งสำคัญในประเทศ คือ 1 ครั้ง การนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในระดับที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จับอาวุธขึ้นสู้ทำสงครามกลางเมือง จนทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเสียชีวตจำนวนมากเหมือนกัน ขณะที่อีก 1 ครั้ง เคยนิรโทษกรรมให้นักศึกษาประชาชนที่ถูกกล่าวหาในข้อหาความมั่นคงร้ายแรง รวมถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุการณ์ 6 ตุลา
...
สำหรับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ที่หวังว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน มีความสำคัญและมีความหมายอย่างไรนั้น นายชัยธวัช ระบุว่า เห็นด้วยกับเพื่อสมาชิกที่มองเป้าหมายตรงกันว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้ต้องมีเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง สร้างความสมานฉันท์ให้สังคมไทย ซึ่งเราอยู่ในวังวนนี้มาเกือบ 2 ทศวรรษ (เกือบ 20 ปี) แต่ก็ต้องเน้นย้ำว่า นิรโทษกรรมไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย และไม่ใช่กระบวนการเดียวในการยุติหรือคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมไทย
นายชัยธวัช ระบุต่อ ตนและพรรคก้าวไกลยืนยันว่า นิรโทษกรรมเป็นประตูบานแรกที่สำคัญมาก ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขในการนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง และแสวงหาฉันทามติครั้งใหม่ พร้อมระบุว่า ประเทศไทยไม่มีคดีการเมือง ทุกคดีที่เกิดขึ้น เกิดจากการไม่เคารพกฎหมาย ดังนั้นการนิรโทษกรรมจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิด เพราะจะทำให้อนาคตจะไม่มีใครเกรงกลัวกฎหมายอีกต่อไป อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีการเมืองที่เราเรียกกัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง มีแรงจูงใจทางการเมือง เราไม่ควรจะมองคดีเหล่านี้เป็นอาชญากรรม
“หลายคนถูกดำเนินคดีเพราะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เพราะเชื่อจริงๆ ว่าตนเองกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง กำลังผลักดันความคิด ความฝัน ในสิ่งที่เชื่อว่ามันดีต่ออนาคตของประเทศของเรา ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหน หลายคนถูกดำเนินคดีเพราะแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ เพื่อต่อต้านความอยุติธรรม เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร หรือเพื่อปกป้องประชาธิปไตย หลายคนถูกดำเนินคดีเพียงเพราะมีความคิดที่รัฐหรือหน่วยความมั่นคงไม่อนุญาตให้คิด หรือหลายคนเรียกว่านักโทษทางความคิด”
ดังนั้น หลายคดีก็เป็นการเกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายโดยไม่ชอบธรรมของรัฐ คดีทางการเมืองที่เราพูดถึงจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชน และการนิรโทษกรรมที่พวกเรากำลังจะพูดคุยกับผ่านกรรมาธิการวิสามัญ จึงมีทั้งมิติ การให้อภัยต่อกัน และการคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนจากความขัดแย้งทางการเมืองเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ภาพรวมเราจะเห็นตรงกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่มีความคิดเห็นแตกต่าง หรือยังเห็นไม่ตรงกัน หรือยังเข้าใจไม่ตรงกันเสียทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการนิรโทษกรรม ขอบเขตและข้อจำกัดที่เหมาะสมที่จะนิรโทษกรรมในครั้งนี้ ทั้งกระบวนการก่อนและหลังการนิรโทษกรรม เป็นต้น
ในช่วงท้าย นายชัยธวัช กล่าวว่า เห็นด้วยและสนับสนุนที่จะให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีการเมือง อีกทั้งเพื่อนสมาชิกย้ำหลายครั้งถึงประเด็นว่า ต้องไม่สร้างความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่ ตนเองก็เห็นด้วย แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเรายึดเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ก็ต้องระมัดระวังเช่นกันว่าอย่าทำให้การนิรโทษกรรมที่จะเกิดขึ้นกลายเป็นการนิรโทษกรรมที่จะสอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมือง ไม่สามารถนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง การสร้างความสมานฉันท์ การถอดสลักระเบิดของสังคมไทยได้ในอนาคต
จนถึงเวลานี้เราต้องยอมรับว่าบ้านเมืองของเรายังไม่ปกติ เพื่อที่ในระบบรัฐสภาของเรา พื้นที่ของสภาผู้แทนราษฎรของเรา ดูเหมือนจะจำกัดลงเรื่อยๆ สูญเสียโอกาสในการที่จะกลายเป็นพื้นที่ที่เราจะมาแสวงหาข้อยุติความคิดเห็นแตกต่างกัน สูญเสียโอกาสที่จะกลายเป็นกลไกทางประชาธิปไตยที่จะหาข้อยุติความขัดแย้ง หาทางออกความขัดแย้งอย่างมีวุฒิภาวะ แต่มันยังมีโอกาสอยู่
“ผมหวังว่าท่ามกลางพื้นที่ที่จำกัดลงเรื่อยๆ พวกเราจะร่วมมือกัน ถอดหัวโขนทางการเมืองออก หันหน้ามาพูดคุยกัน เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้ พื้นที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่แต่งตั้งขึ้นมาโดยประชาชน ใช้โอกาสครั้งนี้พูดคุยกันในการแสวงหาทางออกเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง เพื่อเป็นประตูบานแรก ใช้โอกาสนี้ในการเปลี่ยนการเมืองของความเกลียดชัง เปลี่ยนการเมืองที่เกิดจากความเคียดแค้นชิงชัง ไม่เข้าใจกัน แล้วนิรโทษกรรมคู่ขัดแย้งทั้งหมด เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการเมืองแห่งความรัก การเมืองที่สร้างความเข้าอกเข้าใจต่อกัน สร้างความปรารถนาดีร่วมกัน เพื่อให้พวกเรามีระบบการเมือง มีระเบียบสังคมที่พวกเราอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าจะไม่มีทางที่จะเห็นด้วยตรงกันทุกเรื่องทั้งหมด สุดท้าย พรรคก้าวไกลยืนยันอีกครั้ง พวกเราสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม”
ในเวลาต่อมา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถามมติจากที่ประชุม หลังจาก นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้เสนอ ได้สรุปญัตติ ซึ่งที่ประชุมไม่มีผู้เห็นแย้ง จึงถือว่าเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จำนวน 35 คน และกำหนดเวลาในการพิจารณา 60 วัน.