ไทย ‘เซฟโซน’ รับย้ายฐานลงทุน เป็นกลางบนสมรภูมิ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’

Key Points

  • ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้เกิดกระแสย้ายฐานการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ
  • ไทยมีความพร้อมที่จะรองรับการย้ายฐาน โดยมีจุดเด่นที่เป็นพื้นที่เซฟโซนให้กับนักลงทุนต่างชาติ
  • BOI มีแผนที่จะเร่งดึงการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าเซมิคอนดักเตอร์
  • วิกฤติทะเลแดงทำให้ผู้ส่งออกต้องรับมือกับค่าระวางเรือที่สูงขึ้น เช่น การลดต้นทุน การหาตลาดใหม่ 

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนา “Geopolitics 2024: จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย” เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 โดยในการเสวนาช่วง “รัฐปรับตัว ธุรกิจปรับแผน พลิกวิกฤติสู่โอกาส”  ได้มีผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมประเทศผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์    โดยเฉพาะผลกระทบที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนเข้ามาในอาเซียน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอซเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า ปี 2567 จะเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกับไทย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจต้องจับตาการเลือกตั้งสหรัฐที่คาดการณ์ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ อาจกลับมาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งอาจส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐมากขึ้น 

“ความตรึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐไม่ได้หมดไป แม้แต่ในช่วงนายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ความตรึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ 2 ประเทศก็ไม่ลดลง”

ทั้งนี้แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตเข้ามาไทยเป็นเทรนด์ที่เกิดต่อเนื่องมา 1-2 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจีนย้ายฐานเข้ามาเร็วมากและซื้อที่ดินเพื่อลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวนมาก ซึ่งมีทั้งนักลงทุนจากจีนและไต้หวันที่นอกจากมาลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังมีอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีซัพพลายเชนมาลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ WHA ทำรายได้สูงสุดต่อเนื่อง 2 ปี และมั่นใจว่าปี 2567 จะมีรายได้สูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

“การย้ายฐานการลงทุนและการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยเป็นแทรนด์ที่ชัดเจนมากและจะมีต่อเนื่องอีกหลายปี รวมทั้งยังมีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการย้ายการลงทุนมาไทยสะท้อนถึงความต้องการลงทุนและสร้างซัพพลายเชนใน Safe Zone ที่ปลอดภัยและเป็นกลางที่ถือเป็นจุดแข็งของไทย”

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นโครงการสำคัญที่ควรเกิดขึ้น เพื่อทำให้ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งขนาดใหญ่ที่สร้างข้อได้เปรียบเพิ่มขึ้น ซึ่งแลนด์บริดจ์ไม่ควรมองแค่โครงการโลจิสติกส์ แต่เป็นการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเพื่อใช้เป็นเส้นทางการขนส่งทางเรือและพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อมโยงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor :SEC) ที่รัฐบาลต้องชี้ให้เห็นภาพรวมการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้

ทั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์นั้นมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ เพราะเป็นเส้นทางเชื่อมการขนส่งที่เชื่อมเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (BRI) ของจีน ซึ่งแบ่งเบาความแออัดของช่องแคบมะละกา และเป็นเส้นทางที่จีนให้ความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์

“ประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจได้เร็วจะมีท่าเรือเป็นทางออกทางทะเล เหมือนสิงคโปร์และเวียดนาม ซึ่งมีท่าเรือเป็นทางออกทะเลจำนวนมาก ซึ่งขึ้นกับการวางตำแหน่ง หากสิงคโปร์คิดว่าจะเก็บเกาะไว้เป็นธรรมชาติที่สวยงามก็จะเป็นบาหลีหรือฮาวาย แต่ถ้าคิดว่าจะทำให้ประเทศเป็นเกาะที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจจึงสร้างท่าเรือและมีอุตสาหกรรมทำให้พัฒนาเศรษฐกิจเร็วและไทยต้องมองโอกาสนี้ด้วย”

ส.อ.ท.ชี้หนุนสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ช่วงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนทำให้ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 20-25% เกิดการแบ่งค่ายของซัพพลายเชนและเทคโนโลยี โดยสหรัฐและจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1-2 ของไทย ซึ่งไทยได้ดุลการค้าสหรัฐปีละ 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ที่ไทยส่งออกวัตถุดิบส่งไปจีนเพื่อผลิตสินค้าส่งออก

ทั้งนี้ ในช่วงสงครามการค้าพบว่าสมาชิก ส.อ.ท.ทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบคำสั่งซื้อลดลง โดยเฉพาะสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่หรือวัตถุดิบ แต่ในวิกฤตินี้บางกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นโอกาส โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก รองจากจีนและมีคำสั่งซื้อจนผลิตแทบไม่ทัน

ทุกวิกฤติก็มีโอกาส ก่อนหน้านี้เราต้องคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงาน หรือความมั่นคงทางอาหารแต่ปัจจุบันเราต้องพูดความมั่นคงทางด้านซัพพลายเชน” 

ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมเราต้องปรับเปลี่ยนการผลิตของเราจากเดิมที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิต โดย 30 % เรานำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นประเด็นที่เรามาศึกษาทำอย่างไรในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตให้เพิ่มขึ้น เพราะผลกระทบจากปัญหาจีโอโพลิติกส์ โดยทางสภาอุตสาหกรรม ตั้งเป้า ไว้ว่าจากนี้ 3-5 ปี จะมีการผลิตทดแทนการนำเข้าให้ได้ 10 % และอีก 20 % ภายใน 10 ปี โดยทางสภาฯต้องการให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรมด้านซัพพลายเชน

เร่งปรับตัวสู่อุตสาหกรรมใหม่

"ต้องดูผลการเลือกตั้งสหรัฐจะเป็นอย่างไร นโยบายเศรษฐกิจเป็นอย่างไร แต่วิกฤตินี้เป็นโอกาสของไทยในการย้ายฐานการผลิต ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยแต่ยังมีเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และที่ต้องจับตาในอนาคต คือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งต้องดูปัจจัยสนับสนุนของแต่ละประเทศ แต่ไทยมีความพร้อมหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยนักลงทุนจีนเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส.อ.ท.เริ่มปรับตัวเข้ากับอุตสาหกรรมใหม่ โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้าอัจฉะริยะกำลังวางแผนปรับโครงสร้างที่สอดคล้องกับการการย้ายฐานของไต้หวัน ซึ่งไทยต้องเตรียมความพร้อมดึงนักลงทุน โดยเฉพาะการลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบและกฎหมายที่ล้าสมัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและดึงเงินลงทุนต่างประเทศ 

“ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์แม้จะเป็นวิกฤติแต่ก็เป็นโอกาสสำหรับไทยที่จะนำวิกฤตินี้เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมดั้งเดิมไทยเข้าสูอุตสาหกรรมใหม่”

สรท.ชี้ผู้ส่งออกรับมือทะเลแดง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กระทบทั่วโลก แต่ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสที่โจทย์การทำธุรกิจยากขึ้น โดยช่วงปลายปี 2566 เกิดวิกฤติทะเลแดงทำให้เรือสินค้าผ่านทะเลแดงไม่ได้ และบางสายเรือต้องเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป 

“ปกติมีเรือขนส่งสินค้า 100-150 ลำก็ลดลงเหลือ 50-60 ลำ กระทบค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น 4-5 เท่า ค่า Surcharge เพิ่มเป็น 800-1,000 ดอลลาร์ และระยะเวลาส่งมอบสินค้าเพิ่มเป็น 15-20 วัน ทำต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น และเกิดความล่าช้าในการชำระเงินที่อาจส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินผู้ส่งออก ซึ่งผู้ส่งออกต้องวางกลยุทธ์และทำงานร่วมกับภาครัฐ”

นายชัยชาญ กล่าวว่า ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์กระทบการค้าระหว่างประเทศและซัพพลายเชน แต่เราต้องมีแนวทางรับมือกับพายุเศรษฐกิจในปี 2567 และปรับตัวรุกเพื่อพลิกวิกฤตสู่โอกาส โดยต้องมีกลยุทธ์เชิงรุกและเชิงรับการส่งออก ทั้งการรักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดแอฟริกาและอินเดีย รวมถึงเร่งขยายตลาดที่มีข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)

“บีโอไอ”เร่งดึงลงทุนจากต่างประเทศ

นายวิรัตน์ อัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เกิดการย้ายฐานของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนไทยเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากจีนเข้ามาเพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วน 20-30% ซึ่งแนวโน้มปี 2567 ยังมีการลงทุนจากจีนและไต้หวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้นักลงทุนประเทศอื่นยังไม่ลดลงการลงทุน เช่น ญี่ปุ่น ขณะที่อุตสาหกรรมที่เติบโตมาก เช่น EV อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมีนักลงทุนจากจีนขอส่งเสริมการลงทุนมากกว่าทำให้สัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนจีนและไต้หวันเพิ่มขึ้น

“2 ปีที่ผ่านมาการลงทุนของจีนคิดเป็น 20-30% ของนักลงทุนต่างประเทศในไทย ซึ่งปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต”

นอกจากนี้ แม้ว่าไทยจะมีข้อได้เปรียบลดลงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เพราะเวียดนามมีแรงงานที่มีค่าแรงต่ำกว่า แต่ไทยมีข้อได้เปรียบหลายด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน แรงงานที่มีทักษะเฉพาะ และพลังงานสะอาดทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดึงการลงทุนสาขาที่ต้องใช้พลังงานสะอาด

รวมทั้งบีโอไอมีกิจกรรมดึงการลงทุนต่อเนื่องมาหลายปีในการพาผู้ประกอบการไทยไปดูลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งในเวียดนาม เมียนมา และอินโดนิเซีย ซึ่งนักลงทุนสามารถติดต่อขอข้อมูลการลงทุนจากสำนักงานบีโอไอได้

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...