จับตา 'สมรภูมิใหญ่' เขย่าภูมิรัฐศาสตร์โลก คลัง - สศช.เตือนปัจจัยเสี่ยงปี 67

Key points: 

  • ปี 2567 ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกเป็นความเสี่ยงลำดับต้นๆที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วโลกติดตามใกล้ชิด
  • หน่วยงานความมั่นคงรายงานสถานการณ์ในต่างประเทศให้นายกรัฐมนตรีรับทราบเป็นระยะ
  • พื้นที่ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษคือ ทะเลจีนใต้ และยุโรป
  • หน่วยงานเศรษฐกิจทั้งกระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ได้เสนอแนะรัฐบาลให้คำนึงถึงความเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่จะกระทบกับเศรษฐกิจไทย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าเร็วๆนี้หน่วยงานความมั่นคงได้รายงานสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก (world geopolitics) ในภาพรวมของปี 2567 ให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีรับทราบเป็นระยะถึงความขัดแย้งและความตึงเครียดที่มากขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งอาจะส่งผลกระทบทั่วโลกรวมถึงไทย 

โดยพื้นที่ความขัดแย้งและสถานการณ์ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษหลังจากมีความตรึงเครียดเพิ่มมากขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้

1.พื้นที่ทะเลจีนใต้ ที่มีความอ่อนไหวมากขึ้นหลังจากที่การเลือกตั้งในไต้หวันได้รัฐบาลที่มีความแข็งกร้าวกับรัฐบาลจีน ประกอบกับต้นปีได้มีการตั้งกลุ่มไตรภาคีอินโด-แปซิฟิก (Trilateral United States-Japan-Republic of Korea Indo-Pacific Dialogue) ที่มีสหรัฐและพันธมิตร ได้แก่ เกาหลีใต้ และได้ออกแถลงการณ์ร่วมในประเด็นอ่อนไหวอย่างไต้หวัน และทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจและทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้อาจบานปลายได้

2.พื้นที่ในภูมิภาคยุโรป ที่นอกจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 2 ปี และยังไม่มีท่าทีจะยุติ โดยมีการเตรียมพร้อมทำสงครามขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งประกาศการซ้อมรบของกำลังพลเกือบ 1 แสนนาย ถือว่าเป็นการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น และจะใช้เวลาซ้อมรบนานหลายเดือน ซึ่งมีความหมายว่ามีความเสี่ยงจะเกิดสงครามใหญ่ในยุโรปได้ 

 

คลัง-สภาพัฒน์เตือนความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้หน่วยงานเศรษฐกิจของไทยได้เสนอผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ต่อรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังระบุระหว่างการแถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566-2567 

กระทรวงการคลังให้ความเห็นว่าในปี 2567 ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะถัดไป ดังนี้ 

1.การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐ 

2.สถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น 

3.ความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเชียและยูเครน 

“การเตรียมพร้อมของหลายประเทศขณะนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่เป็นสถานการณ์การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สงคราม ซึ่งไทยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” แหล่งข่าวระบุ

ขณะที่สถานการณ์การเลือกตั้งผู้นำและสภานิติบัญญัติของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐ รัสเซีย อินเดีย ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของไทยเช่นกัน

ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุไว้ในรายงานการแถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2566 และแนวโน้มปี 2566-2567 ว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคปี 2567 รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการขยายตัวของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก และความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลก 

รวมทั้งควรให้ความสำคัญต่อมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจกระทบเศรษฐกิจทั้งด้านแรงงาน ความผันผวนของราคาพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนภาคเกษตร 

ขณะเดียวกันต้องดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสมสอดคล้องเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ช่วงฟื้นตัว ท่ามกลางความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์สูงและแรงกดดันทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมาก โดยควรให้ควำมสำคัญต่อการเพิ่มพื้นที่การดำเนินนโยบาย (Policy space) ให้เพียงพอเพื่อรองรับ “ความเสี่ยง” ที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป

 

ที่ปรึกษานายกฯแนะจับตา4 พื้นที่ความขัดแย้ง

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ไทยต้องเฝ้าระวังเพราะสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์เพราะมีความไม่แน่นอนมาก ซึ่งแม้ไม่กระทบไทยโดยตรงแต่อาจกระทบทางอ้อม ขณะเดียวกันหากไทยเตรียมความพร้อมจะมีโอกาสที่ดีเกิดขึ้นกับไทยได้ โดยสถานการณ์ความขัดแย้งที่ต้องติดตามผลกระทบกับไทยมีดังนี้ 

1.สถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังไม่ยุติและมีแนวโน้มจะยืดเยื้อออกไป 

2.สถานการณ์ระหว่างจีนและไต้หวัน ภายหลังการเลือกตั้งของไต้หวัน 

3.สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ระหว่างเกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือ ที่มีความตึงเครียดมากขึ้นตามลำดับ

4.สถานการณ์การสู้รบในเมียนมา ระหว่างทหารรัฐบาลกลางและกองกำลังชาติพันธุ์ ที่ปัจจุบันรัฐบาลกลางเพลี่ยงพล้ำหลายสมรภูมิรบ ซึ่งทำให้อำนาจของมิน ออง ล่าย ลดทอนลง และเหตุการณ์ในเมียนมาต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านไทยที่มีธุรกิจและการค้าชายแดน และที่สำคัญมีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ส่งมายังประเทศไทยเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าด้วยบางส่วน

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศตอนนี้มีหลายพื้นที่ในโลกที่ต้องติดตามว่าจะเกิดผลกระทบกับไทย และเศรษฐกิจไทยอย่างไร แต่ตอนนี้ผลกระทบยังจำกัด ยกเว้นจะเกิดสงครามขนาดใหญ่และลามจนเป็นสงครามโลก แบบนั้นจะกระทบวงกว้างทุกประเทศ”

ชี้ไทยมีโอกาสทางเศรษฐกิจเพิ่ม

นายพิชัย ระบุว่า เมื่อไม่นานได้หารือผู้นำต่างประเทศถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งผู้นำต่างชาติมองว่าไทยเป็นพื้นที่เหมาะสมรองรับการลงทุนเพราะเป็นมิตรกับทุกประเทศและไม่ขัดแย้งใคร 

รวมทั้งขณะนี้มีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ที่จะย้ายฐานการลงทุนออกจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิดสงคราม ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายรองรับการลงทุน แต่ไทยยังขาดความพร้อมบุคลากรและแรงงานที่จะรองรับอุตสาหกรรมนี้ จึงเตรียมเสนอการพัฒนาบุคลากรสาขานี้ให้รัฐบาล และประสานกระทรวงแรงงานให้พัฒนาฝีมือแรงงานสาขานี้มากขึ้นเพื่อให้พร้อมรองรับการลงทุนมากขึ้น

หอการค้าเชียงรายชี้จีนเร่งโครงสร้างขนส่งทางบก

นางสาวผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า จากสถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดมากขึ้นในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญทางทะเลของจีนทั้งการนำเข้าสินค้าและการส่งออกสินค้าทำให้จีนเร่งขยายการลงทุน และพัฒนาเส้นทางการขนส่งทางบกมากขึ้น โดยเฉพาะด่านชายแดนที่เชื่อมต่อกับ สปป.ลาว และเมียนมา ลงมายังประเทศไทย

รวมทั้งมีเส้นทางที่เชื่อมต่อทางถนนไปถึงทางตอนใต้ของจีน โดยขณะนี้มีการเร่งก่อสร้าง ถนน สะพาน และปรับปรุงเส้นทางที่เชื่อมมาถึงด่านชายแดน 3 แห่งของไทย ที่ จ.เชียงราย ได้แก่ ด่าน แม่สาย ด่านเชียงแสน และด่านเชียงของ

นอกจากนี้ยังมีการหารือความร่วมมือกับหอการค้าไทยในการร่วมกันปรับปรุงกฎระเบียบ และข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าข้ามแดนให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งเส้นทางจากจังหวัดเชียงราย ที่เชื่อมโยงผ่านประเทศเพื่อนบ้านไปยังตอนใต้ของประเทศจีนจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหากในอนาคตเส้นทางการขนส่งทางทะเลมีปัญหาไม่สามารถขนส่งได้ หรือมีต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้นกรณีที่มีการสู้รบเกิดขึ้นจริง

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...