‘บิ๊กคอร์ป’ เกาะติดภูมิรัฐศาสตร์โลก OR-SCG' รับมือผลกระทบธุรกิจ

Key Points

  • บริษัททั่วโลกและบริษัทไทยกำลังติดตามสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์อย่างใกล้ชิด ถึงกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
  • OR ยอมรับคาดการณ์ได้ลำบาก พร้อมติดตามดีมานด์และซัพพลายพลังงานโลกเพื่อประเมินราคาพลังงาน
  • SCG ห่วงสถานการณ์สงครามส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นและกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรม
  • ส.อ.ท.ประเมินสถานการณ์ในทะเลแดงหากวิกฤติต่อเนื่องจะกระทบการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากยุโรป

ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ยังมีความผันผวนจากทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และสงครามที่เกิดขึ้น รวมถึงสถานการณ์การเมืองโลก โดยเฉพาะการเลือกตั้งในประเทศสำคัญที่จะจัดขึ้นในปีนี้ อีกทั้งสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่ยังยืดเยื้อและอาจรุนแรงขึ้น

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กลายเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เพราะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยมีความขัดแย้งหลายส่วนที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่นำไปสู่การโจมตีเรือสินค้าในบริเวณคลองสุเอซและทะเลแดง ซึ่งทำให้ค่าระวางเรือมีความผันผวนและกดดันต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ต่างประเทศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งตะวันออกกลาง จีน และไต้หวัน ซึ่งถือเป็นการคาดเดาได้ยากที่จะพูดได้ในตอนนี้ 

ส่วนจะมีผลต่อราคาพลังงานตลาดโลกอย่างไรนั้น จะขึ้นอยู่กับปริมาณดีมานด์กับซัพพลาย ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกยังอยู่ในระดับปกติ ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

“ยอมรับว่าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ไม่สามารถพูดได้ แต่ในเรื่องของทรัพยากรโดยเฉพาะเชื้อเพลิงด้านพลังงานก็ยังเพียงพอ ราคายังไม่ได้ขยับตัวในช่วงนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่ได้กลายเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น อาจจะต้องรอดูสถานการณ์ในระยะยาว”

ทั้งนี้ OR จะทรานส์ฟอร์มธุรกิจจากสมัยก่อนที่ลูกค้าขับรถมาเติมน้ำมัน เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มองค์กรให้เข้มแข็ง และตอบแทนชุมชน สังคมนั้น ๆ ให้ได้รับโอกาส รวมทั้งดูแลชุมชนสังคมสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเทรนด์ด้านพลังงานสะอาดทั้งระบบ

สำหรับแผนดำเนินธุรกิจ 5 ปีนั้น OR ได้เตรียมแผนงบลงทุนที่ 1.1 แสนล้านบาท โดยโออาร์ตั้งงบลงทุนปี 2566 ที่ผ่านมาราว 31,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจ Seamless Mobility ที่ 22%, กลุ่มธุรกิจ All Lifestyles ที่ 45% , กลุ่มธุรกิจ Global Market ที่ 16% และ กลุ่ม OR Innovation ที่ 17% เป็นต้น

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจปี 2566 ถือว่าเป็นปีที่เหนื่อย โดยภาคธุรกิจเจอในเรื่องของวิกฤติต่างๆ อาทิ สงครามระหว่างประเทศที่ดันราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว อย่างจีนที่ไม่ฟื้นตัวอย่างที่คิด และยังรวมถึงประเทศรอบบ้านของไทย อย่างเวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งเวียดนามยังมีปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ จึงยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ส่วนกัมพูชานั้นเศรษฐกิจถือว่าผูกกับจีน

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทยน่าจะขยับตัวดีขึ้น มาจากนโยบายภาครัฐที่มีการอนุมัติงบประมาณลงทุน นักท่องเที่ยวจะกลับมามากขึ้น การลงทุนที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเชิญมาลงทุนจากต่างประเทศจะเริ่มเข้ามา ส่วนดอกเบี้ยยังคงจับตาดูว่าจะลดลงหรือไม่ ซึ่งต่างประเทศเริ่มลดลงแล้ว

สำหรับผลประกอบการ เอสซีจี ปี 2566 ยังมั่นคง แม้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก จีน และอาเซียนชะลอตัว ตลาดปิโตรเคมียังอ่อนตัว ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลง มีรายได้ 499,646 ล้านบาท ลดลง 12% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง และการไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์เป็นความท้าทายเหล่านี้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด 

โดยเฉพาะวิกฤติการณ์ในทะเลแดง จากกรณีกลุ่มฮูตีในเยเมนโจมตีเรือขนส่งสินค้าพาณิชย์ที่แล่นผ่านทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าสำคัญระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป ส่งผลให้อัตราค่าระวางเรือและค่าเบี้ยประกันความเสี่ยงปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3-5 พันดอลลาร์ รวมถึงระยะเวลาในการเดินทางที่ล่าช้าออกไปอย่างน้อย 14 วัน”

ทั้งนี้ สินค้าไทยที่ส่งออกไปยุโรป อาทิ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ อัญมนี จักรยานยนต์ ไก่แปรรูป และเครื่องจักรกลเกษตร และสินค้านำเข้าจากยุโรป อาทิ ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ แผงวงจร เครื่องมือวิทยาศาสตร์และการแพทย์ สัตว์และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกัยสัตว์ เครื่องบิน เหล่านี้ทั้งหมดเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากค่าโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น

นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในตอนนี้ผู้ผลิตไทยที่นำเข้าวัตถุดิบจากยุโรปยังไม่ได้รับผลกระทบกับซัพพลายเชนมากนัก เนื่องจากยังมีสินค้าคงคลังอยู่บ้าง แต่จะเกิดผลกระทบในรอบการผลิตช่วงไตรมาสที่ 2 โดยทุกอุตสาหกรรมที่นำเข้าวัตถุดิบจากยุโรปจะต้องเร่งวางแผนปรับการสั่งออเดอร์สินค้าเพื่อไม่ให้การผลิตสะดุด 

อย่างไรก็ตามต้นทุนการขนส่งได้ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ยังไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ ดังนั้นกำไรในปีนี้จะลดลง

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...