เคล็ดลับลงทุนหุ้น

เซียนหุ้นเกือบทุกคนน่าจะต้องมี “เคล็ดลับ” ในการลงทุนที่ทำให้ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งก็จะต้องเป็นเวลาอย่างน้อยก็หลายปี บางทีก็เป็น 10 ปี ซึ่งก็ทำให้คนรับรู้และยอมรับว่าเป็น “เซียน”

และสิ่งที่คนทั่วไปสนใจก็คือ พวกเขามี “เคล็ดลับ” อะไรในการลงทุนที่คนไม่รู้และอยากจะรู้เพื่อที่จะได้ไปทำตามบ้าง เพราะนั่นอาจจะทำให้รวยได้

“เซียน” ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าอะไรคือ “เคล็ดลับ” ของตนเอง และมักจะมีความซับซ้อนน่าทึ่งแต่ก็เป็นสิ่งที่น่าจะทำได้ถ้าฝึกฝนให้ดี ทุ่มเทกับมัน ให้เวลากับมัน มีวินัยสูง แล้วคุณก็จะ ทำได้ “ผมรวยและประสบความสำเร็จอย่างสูงได้ คุณก็ทำได้”

แต่หลายสิ่งหลายอย่างที่ “เซียน” ทำและอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่เซียนประสบความสำเร็จอย่างสูงกว่าคนอื่นนั้น เซียนก็อาจจะไม่ได้บอกหมด ตัวอย่างเช่น การใช้ข้อมูลภายในที่ได้รับรู้มาจากคนในบริษัท หรือการ “ปั่นหุ้น” โดยการปล่อยข่าวหรือการสร้างเรื่องที่ไม่จริงหรือไม่ถูกต้องให้กับคนที่มีความรู้และความเข้าใจน้อยให้เข้ามาลงทุนซื้อหุ้นที่ถูก “ลากขึ้นไป” โชว์ เป็นต้น และนั่นก็เป็น “เคล็ดลับจริง” ที่บอกไม่ได้

หน้าที่ของคนที่พยายามหา “เคล็ดลับ” ของ “เซียน” จึงต้องวิเคราะห์ให้ดีว่า เซียนคนไหนใช้เคล็ดลับอะไรที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ เป็นเคล็ดลับที่เขาใช้จริงหรือไม่ และเขาบอกหมดหรือเปล่า

จากประสบการณ์ของผม “เซียนตัวจริง” ที่เน้นลงทุนระยะยาวและอยู่ในตลาดมานานมากอย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น ดูเหมือนว่าจะ “ไม่มีเคล็ดลับ” หรือถ้ามีเขาก็บอกมานานหลายสิบปีแล้วและเป็นสิ่งที่ไม่มีความซับซ้อนอะไรนั่นคือ

1) มองหุ้นว่าเป็นบริษัท อย่าเลือกหุ้น (ซึ่งราคาจะผันผวนไปมาในระยะสั้น)

2) เลือกกิจการที่มีอนาคตที่ดีในระยะยาว อย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป

3) มีผู้บริหารที่ซื่อสัตย์และดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น

4) มีราคาหุ้นที่สมเหตุผล

5) ซื้อแล้วก็ถือหุ้นไว้ตลอดไปตราบที่เหตุผล 4 ข้อยังเป็นความจริง

และวิธีที่จะเลือกบริษัทที่มีอนาคตที่ดีในระยะยาวก็คือ การหากิจการที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน

และนั่นก็คือ “เคล็ดลับ” ของบัฟเฟตต์ ที่ง่ายและธรรมดาจนนักลงทุนแทบไม่สนใจที่จะทำตาม อาจจะเพราะมันอาจจะต้องรอเป็น 10 ปี ถึงจะรู้ว่าใช้ได้ผลกับตนเองหรือไม่

เซียนตัวจริงอีกคนหนึ่งก็คือ คู่หูของ บัฟเฟตต์ ชาลี มังเกอร์ ที่เพิ่งเสียชีวิตไป เขาบอกว่า “เคล็ดลับเดียวของการลงทุนคือการหาที่ ๆ ปลอดภัยและฉลาดสำหรับการลงทุน โดยไม่ต้องกระจายความเสี่ยงใด ๆ”

นี่ก็เป็น “เคล็ดลับ” อีกข้อหนึ่งที่จะทำให้รวยได้เพราะทำให้พอร์ตลงทุนนั้นเป็นแนว “Focus” หรือเน้นหนักในหุ้นจำนวนน้อยตัวมาก ๆ เช่น 5-6 ตัวใหญ่ที่สุดก็เท่ากับ 75% ไปแล้ว

“เคล็ดลับ” ทั้งของบัฟเฟตต์กับมังเกอร์ดูเหมือนว่าจะถูกนำมาใช้ในเบิร์กไชร์อย่างต่อเนื่องยาวนาน เห็นได้จากการที่เบิร์กไชร์ถือแต่หุ้นของบริษัทที่ยอดเยี่ยม มีความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่งในระยะยาวอย่างชัดเจน อย่างเช่นหุ้นแอปเปิลหรือโค๊ก มีผู้บริหารที่ซื่อสัตย์ ทั้งหมดซื้อมาในราคาที่สมเหตุผลไม่แพง ซื้อแล้วถือไว้ตลอดไม่ขาย และหุ้นใหญ่ที่สุดไม่กี่ตัวก็เกิน 50-70% ของพอร์ต

เคล็ดลับของเซียนที่เป็นแนว “นักเก็งกำไร” ระดับโลกนั้น ที่เด่นที่สุดน่าจะเป็นจอร์จ โซรอส ซึ่งก็แน่นอนว่าเน้นการทำกำไรอย่างรวดเร็วในระยะสั้น เคล็ดลับของโซรอสนั้น เขาคงไม่ได้เปิดเผยเอง แต่จากการวิเคราะห์ทางด้านความคิดและการกระทำหรือการลงทุนของเขาก็อาจจะบอกได้ว่า เขาน่าจะเชื่อในทฤษฎี “Reflexivity” ที่เขาเขียนในหนังสือชื่อ “Alchemy of Finance” ตั้งแต่ปี 1987 ซึ่งผมอ่านตั้งแต่เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยแล้วก็ยังงงอยู่ทุกวันนี้

เคล็ดลับของโซรอสก็คือ เขาเชื่อว่าในตลาดหลักทรัพย์นั้น จิตวิทยาของคนสะท้อนกลับไปมาหรือเป็น “Reflexive” เช่น ถ้าหลักทรัพย์วิ่งขึ้นไปแรงก็จะไปดึงดูดคนซื้อ ซึ่งก็ทำให้หลักทรัพย์นั้นวิ่งแรงขึ้นไปอีกเป็นวงจรจนถึงจุดที่มันสูงจนอยู่ต่อไปไม่ได้ หลังจากนั้นมันก็จะลง และเมื่อหลักทรัพย์ลง คนที่ถือก็จะขายและกระบวนการทั้งหมดก็กลับข้าง ในที่สุดหลักทรัพย์นั้นก็จะตกลงมาอย่างหายนะ

ประเด็นก็คือ โซรอสก็จะคอยหาว่าหุ้นหรือค่าเงินหรือตราสารอะไรก็แล้วแต่ที่อาจจะมีความอ่อนแอหรือราคาถูกหรือแพงเกินไปหรือแพงกว่าพื้นฐาน เสร็จแล้วเขาก็เข้าไป “โจมตี” โดยที่จะต้องใช้เงิน “ก้อนโต” เพื่อที่จะทำให้ราคา “เปลี่ยน” อย่างแรง ซึ่งนั่นก็จะนำให้คนเล่นรายอื่นตกใจและเปลี่ยนใจขายหรือซื้อตราสารนั้นตาม ซึ่งก็จะทำให้ราคาตกหรือขึ้นแรงไปอีกจนถึงจุดสูงจนอยู่ไม่ได้ และนั่นก็เป็นเวลาที่เขาจะกำไรมหาศาล

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเคล็ดลับของนักลงทุน 2 ด้านคือด้านของนักลงทุนระยะยาวกับนักลงทุนระยะสั้นระดับโลก ซึ่งผมคิดว่านักลงทุนทั้งในตลาดไทยและประเทศขนาดเล็กอื่น ๆ ก็คงจะมีแนวทางใกล้เคียงกัน

“เคล็ดลับ” ของนักลงทุน “VI” ของไทยนั้น ผมอยากจะแบ่งเป็นยุคแรกที่เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2543 หรือปี 2000 ขึ้นไปที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตต้มยำกุ้งอย่างเต็มที่แล้วจนถึงประมาณสิ้นปี 2008 หรือปี 2551 ที่เกิดวิกฤตซับไพร์ม กับช่วงตั้งแต่ปี 2552 จนถึงวันนี้ที่เป็นช่วงตลาดหุ้นคึกคักและมีการเก็งกำไรสูงของนักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมาก

เคล็ดลับของ “VI รุ่นแรก” ส่วนใหญ่เท่าที่ผมจำได้นั้นก็คือ เน้นลงทุนในหุ้น “VI” ซึ่งในช่วงนั้นก็คือหุ้นของบริษัท “รุ่นใหม่” ที่มีการบริหารงานแบบ “สมัยใหม่” มีการขยายงานอย่างรวดเร็วและในกรณีที่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคก็จะเป็นการขยายสาขาเป็นเครือข่ายไปทั่วประเทศ ระบบบัญชีและการบริหารงานจะมีระบบการควบคุมหรือบรรษัทภิบาลสูง ไม่เหมือนรุ่นก่อนที่ผู้บริหารหรือเจ้าของยังตักตวงผลประโยชน์จากบริษัทและไม่มีความโปร่งใส ตัวอย่างมีมากมาย รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เปลี่ยนจากการที่ผู้บริหารไป “จับที่” ก่อนขายให้บริษัท มาเป็นประกาศซื้อจากบริษัทโดยตรง เป็นต้น

ผมยังจำได้ว่าช่วงเวลานั้น เข้าไปซื้อหุ้นโดยเฉพาะ “ค้าปลีกสมัยใหม่” ที่กำลังบูมทุกส่วนตั้งแต่ร้านอุปกรณ์ปรับปรุงบ้าน ร้านหนังสือ ร้านสะดวกซื้อ ต่างก็ขึ้นหมด และก็มีการขายและซื้อเปลี่ยนตัวหุ้นไปเรื่อย ๆ และทุกครั้งที่เปลี่ยน ราคาหุ้นตัวใหม่ก็ขึ้น ดังนั้น จึงแทบไม่เคยมีเงินสดเหลือ นอกจากนั้น การลงทุนก็เป็นการ Focus ถือหุ้นเพียงไม่กี่ตัวในแต่ละช่วงเวลา และนั่นก็ทำกำไรหรือผลตอบแทนมหาศาล

เคล็ดลับ VI รุ่นหลังซับไพร์มนั้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญก็คือ คนรวยซึ่งมักจะมีฐานจากการเป็นนักธุรกิจหรือลูกเจ้าของธุรกิจที่มีเงินสะสมมากเริ่มเข้ามาลงทุน “แนว VI” เช่นเดียวกับนักลงทุน VI รุ่นก่อนที่ถึงวันนั้นก็มีเงินหรือความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งนั้นประกอบกับการที่สังคมไทยเริ่มโตเต็มที่จนใกล้จะอิ่มตัว คนชั้นกลางเริ่มเข้ามาอาศัยตลาดหุ้นลงทุนเพื่อการเกษียณประกอบกับรัฐก็ส่งเสริมตลาดทุนเต็มที่ ทำให้เม็ดเงินที่ต้องการลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นมหาศาลและเป็นเงินที่ต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ โดยที่ไม่ได้ต้องการเก็งกำไรรายวัน

เคล็ดลับของนักลงทุนซึ่งอายุน้อยลงและกล้ารับความเสี่ยงมากขึ้นมาก เนื่องจากมีฐานเงินสะสมและมีความมั่งคั่งสูงทั้งจากครอบครัวและตนเอง “เซียน” รุ่นนี้จึงมีเคล็ดลับสำคัญก็คือการวิเคราะห์หาหุ้นที่มีโอกาสที่จะสร้างความตื่นเต้นให้กับนักลงทุนแบบเป็นหมู่หรือที่เรียกว่า “Hype” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมที่จะเติบโตเร็ว หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนอยากใช้ หรือเป็นหุ้นที่ “เซียน” แห่กันเข้าไปซื้อ เป็นต้น

เคล็ดลับข้อต่อมาก็คือ การโหมเข้าซื้อหุ้นแบบที่แทบจะกวาดหมดซึ่งจะทำให้เกิดสถานการณ์ “คอร์เนอร์หุ้น” ซึ่งจะดันให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปแรงมากและจะเกิด Reflexivity ตามทฤษฎีของโซรอสทำให้หุ้นวิ่งแรงขึ้นไปอีกซึ่งทำให้คนที่เข้าไปทำกำไรมหาศาล แต่ในกรณีแบบนี้ก็จะต้องมีเคล็ดลับเพิ่มอีกข้อหนึ่งก็คือ การใช้ Leverage หรือการกู้เงินมาซื้อหุ้นแบบมาร์จินหรือการเล่นบล็อกเทรดเพื่อเพิ่มพลังในการซื้อหุ้นด้วย

และนั่นก็ทำกำไรมหาศาลให้กับ “VI” และ/หรือ “เซียน” ที่ใช้เคล็ดลับนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยที่ตกลงมาต่อเนื่องและรุนแรงโดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นเก็งกำไรในช่วง 1-2 ปีมานี้ ซึ่งทำให้หุ้นที่ขึ้นไปแบบที่รักษาระดับราคาไว้ไม่ได้ตกลงมาเป็น “หายนะ” ก็ทำให้ “เซียน” จำนวนมากเจ็บตัวอย่างหนัก และเคล็ดลับก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป อาจจะคล้าย ๆ กับโซรอส ที่ความมั่งคั่งและชื่อชั้นแทบจะไม่เหลือในช่วงหลัง ๆ นี้

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

คำเดียวสั้นๆ "แฟนสาวจาค็อบ" พูดต่อหน้า "รถถัง" หลังชวดแชมป์โลก

เผยคำพูด แฟนสาวของ จาค็อบ สมิธ ที่พูดต่อหน้า รถถัง จิตรเมืองนนท์ หลังฟาดปากกันในศึกมวยไทย รุ่นฟลายเว...

กรมวิชาการเกษตร ระดมแผนเตรียมพร้อม ส่งลำไยเจาะตลาดจีน

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรเร่งขับเคลื่อนนโยบายผัก ผลไ...

ผลบอล "บาเยิร์น มิวนิก" ไม่พลาด บุกเชือด "ซังต์ เพาลี" รั้งจ่าฝูงบุนเดสลีกา

"เสือใต้" บาเยิร์น มิวนิก ทำได้ตามเป้า บุกมาเอาชนะ ซังต์ เพาลี เก็บ 3 คะแนนสำคัญ รั้งจ่าฝูง บุนเดสลี...

ส่องขุมทรัพย์ที่ดิน 'รถไฟ' 9.6 หมื่นล้าน จ่อประมูลสร้างรายได้เชิงพาณิชย์

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นับเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีทรัพย์สินที่ดินทั่วประเทศจำนวนมาก และยังเป็น...