ทิศทาง 'ธุรกิจค้าปลีกและบริการ' ปี 2567

  • ภาคการค้าปลีกค้าส่งและบริการ ปี 2567 แนวโน้มฟื้นตัวช้าๆ อย่างไม่สมดุล ภายใต้ความไม่แน่นอนรอบด้าน จาก "แรงลมต้าน" อย่างน้อย 4 ลูก
  • จับตา "แรงลมหนุน" ที่ประจักษ์ชัดและพอคาดการณ์ได้มีราว 4 ลูกเช่นกัน
  • ค้าปลีกค้าส่งทุกภูมิภาคทยอย “ฟื้นตัว” ยกเว้น อีสาน “ซึมยาว”
  • ทิศทางธุรกิจค้าปลีกค้าส่งปี 2567 ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ

จากผลการสำรวจดัชนี RSI ภาคธุรกิจค้าปลีกและบริการตลอดปี 2566 พบว่า ไม่สดใส ดัชนีลดลงต่ำกว่า 50 จุด ต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ผ่านการเลือกตั้งเดือน พ.ค. เป็นต้นมา และการฟื้นตัวเป็นไปอย่างไม่สมดุลทั้งประเภทร้านค้าปลีกและประเภทของภูมิภาค

คาดการณ์ภาพรวม ธุรกิจค้าปลีกและบริการ ปี 2567 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านบาท เติบโตราว 3-7 % (ขึ้นอยู่กับประเภทของร้านค้าปลีก) เมื่อเทียบกับ GDP 2567 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.2-3.8% คาดว่า กลุ่ม Store-base retailing จะกลับมามีมูลค่าเท่าก่อนช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ส่วน Non-store retailing ยังคงเติบโตต่อเนื่อง 

โดยสรุป ภาคการค้าปลีกค้าส่งและบริการ ปี 2567 จะค่อยๆ ฟื้นตัวช้าๆ อย่างไม่สมดุล ภายใต้ความไม่แน่นอนรอบด้าน จาก “แรงลมต้าน” อย่างน้อย 4 ลูก กระแสลมต้านทั้ง 4 ลูกนี้ คาดว่าจะยังคงอยู่กับประเทศไทยไปตลอดปี ซึ่งประกอบด้วย

1.เงินเฟ้อไม่ลด ดอกเบี้ยก็จะยังมีโอกาสเพิ่มสูง ซึ่งมีแนวโน้มจะยังคงสูงต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี ปัญหาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาจมีการปรับราคาสูงขึ้นอีก นอกเหนือจากสินค้าราคาแพง สินค้าบางชนิดก็อาจจะขาดแคลนอีกด้วย

2.การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่ำจากรายได้ฟื้นตัวช้าและภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล โดยข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 89.3% เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ระดับ 79.8% นอกจากนี้ ยังพบว่าครัวเรือนไทยออมน้อย เป็นหนี้สูง และเป็นหนี้นาน

3.ต้นทุนการทำธุรกิจยังมีแนวโน้มปรับขึ้นสูงต่อไป ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล จะส่งผลให้ต้องขึ้นค่า Ft ทำให้ค่าไฟพุ่งทะลุไปถึง 5 บาทปลายๆ/หน่วย ซึ่งจะส่งผลกระทบหนักต่อต้นทุนราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และการขนส่ง รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และค่าสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นความท้าทายต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจค้าปลีกคาดการณ์ว่าอาจต้องมีปรับราคาสินค้าขึ้น 9-12% เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น ก็จะซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแออยู่แล้วให้ทรุดลงไปอีก

4.คนขาดงาน-งานขาดคน สังคมไทยปีหน้าและปีต่อๆ ไปจะเจอกับปัญหาทั้ง คนขาดงาน (คนตกงานและคนว่างงาน) และงานขาดคน (งานมีแต่หาคนมาทำไม่ได้) พร้อมกันนี้ การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสำหรับคนทำงานและเงินเดือนสำหรับผู้จบปริญญาตรีที่มีการนำเสนอให้สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด อาจนำไปสู่ “ความคาดหวัง” ที่เกินเลยความเป็นจริง ส่งผลให้งานขาดคน แรงงานขาดหายไปจากระบบการจ้างงานเดิม คนขาดงาน (คนตกงานและคนว่างงาน) จะเป็นตัวจำกัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth) เพราะธุรกิจขาดแรงงาน ขาด talent ขณะเดียวกัน งานขาดคน (งานมีแต่หาคนมาทำไม่ได้) จะเป็นตัวที่อาจทำให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น (Inequality) เพราะช่องว่างทางทักษะ (Skill Gap) งานที่ว่างอยู่ไม่เจอคนที่มีทักษะที่ใช่

ส่วน “แรงลมหนุน” ที่ประจักษ์ชัดและพอคาดการณ์ได้ก็มีราว 4 ลูก ประกอบด้วย

1.มาตรการผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวจะเป็นกุญแจดอกแรกในการสร้างรายได้ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นและสร้างงานให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ การให้ วีซ่าฟรี หรือ การขยายเวลาพำนักนักท่องเที่ยวรัสเซียในไทยจาก 30 เป็น 90 วัน การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนถึงการทำให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น

2.โอกาสอัดฉีดงบประมาณต่อเนื่อง 2 ปี จากรัฐบาลชุดนี้ วางกรอบใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งกว่าจะผ่านการพิจารณารัฐสภาก็ราวเดือน พ.ค.2567 และกรอบการใช้จ่ายงบประมาณปี 2568 ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือน ต.ค.2567 ซึ่งเป็นงบประมาณ 2 ปีต่อเนื่อง น่าจะเอื้อให้มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐทยอยออกมาเป็นชุดๆ อย่างเต็มที่และต่อเนื่องครึ่งปีหลังเป็นต้นไป

3.มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะเงินดิจิทัล เป็นผลบวกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

4.แรงหนุนจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 และฟุตบอลยูโร 2024 ที่ธุรกิจค้าปลีกและบริการน่าจะอาศัยจังหวะเวลาดังกล่าวทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อสร้างบรรยากาศและกระตุ้นยอดขายค้าปลีก

ภาคค้าปลีกและบริการปี 2566 ฟื้นตัวแบบไม่สมดุล

การฟื้นตัวจึงเป็นแบบกราฟรูปตัว K หรือที่เรียกว่า “K-Shaped” ซึ่งเป็นรูปแบบการฟื้นตัวที่ไม่สมดุล คือมีส่วนที่ฟื้นตัวชัดเจนและอีกส่วนหนึ่งยังไม่ฟื้นตัว หรือ ทรงตัว โดยมีข้อสรุปดังนี้

- กลุ่มค้าปลีก ประเภท ห้างสรรพสินค้า แฟชั่นความงาม ไลฟ์สไตล์ และร้านสะดวกซื้อ ขยายตัวได้ดี เมื่อเทียบกับค้าปลีกกลุ่มอื่นๆ

- ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเฉพาะสาขาที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ยังคงขยายตัวได้ดีเช่นกัน

- กลุ่มค้าปลีกที่คาดว่ายังคงเผชิญความยากลำบาก ได้แก่ กลุ่มค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) และกลุ่มค้าส่งค้าปลีกภูธร (Local Modern Store) เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคเป็นกลุ่มฐานกลางลงล่าง กำลังซื้อยังอ่อนแอ หนี้ครัวเรือนก็ยังอยู่ในระดับสูง และยังคงต้องพึ่งมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก

- กลุ่มค้าปลีกค้าจำหน่ายสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ตกแต่ง ซ่อมบำรุง สมาร์ตโฟน และ ไอที ทรงตัว

- กลุ่มค้าปลีกและบริการ ร้านอาหาร-ภัตตาคารและเครื่องดื่ม โดยภาพรวมทรงตัว แต่จะมีการขยายตัวในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว

ค้าปลีกค้าส่งทุกภูมิภาคทยอย “ฟื้นตัว” ยกเว้น อีสาน “ซึมยาว”

จากผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีกที่จัดทำเป็นประจำเดือนตลอดปี 2565 พบว่า เศรษฐกิจภูมิภาคโดยรวม ทยอยฟื้นตัวแต่ไม่ต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ และการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อการใช้จ่าย ขณะที่การฟื้นตัวจะกระจุกในจังหวัดท่องเที่ยวภาคใต้และภาคเหนือเป็นหลัก

- กรุงเทพฯ ปริมณฑล ยังคงเป็นภูมิภาคหลักในการขยายตัวหลักของภาคการค้าและบริการ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 43% ของมูลค่าการค้าปลีกและบริการ น่าจะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนครึ่งปีหลัง

- ภาคกลาง โดยรวมการขยายตัวแบบทรงตัว รายได้หลักของภาคกลาง ประกอบด้วย 3 ส่วน 1.ส่วนการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวคนไทยนิยมเที่ยวระยะสั้นๆ ค่อนข้างดี 2.สินค้าเกษตร ผลไม้ตามฤดูกาล ปีนี้ได้ผลดีแต่ราคาก็ชะลอลง 3.ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต กำลังผลิตที่ลดลงเหลือเพียง 60% ค่าแรงโอทีไม่มี กำลังซื้อจากผู้บริโภคแรงงานภาคอุตสาหกรรมหดหาย ภาคเกษตรกรรม (ผลไม้ตามฤดูกาล) เริ่มฟื้นตัว เล็กน้อย แต่ราคามีแนวโน้มทรงตัว

- ภาคเหนือ โดยรวมเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ช่วงปิดเทอม และปลายปี โซนเหนือเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะภายในประเทศ ทำให้ภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่มีรายได้จากการเกษตรโดยรวมปริมาณการผลิตทรงตัว แต่ราคาราคาสินค้าที่ยังมีทิศทางลดลง

- ภาคอีสาน การฟื้นตัวเป็นไปในทิศทางซึมยาว...ซึมนาน เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น เมื่อหมดช่วงมาตรการกระตุ้นส่งเสริมการบริโภคจากภาครัฐ การขยายตัวก็แผ่วลงและซึมยาวนานกว่าภูมิภาคอื่นๆ เป็นภูมิภาคที่มีประชากรรวมกันมากกว่าหนึ่งในสามของประเทศ รายได้ส่วนใหญ่อยู่ภาคเกษตรกรรมและภาคการค้า ปัจจัยฉุดยังคงเป็นปัจจัยเดิมเดิมที่รอการเยียวยาแก้ไข นับตั้งแต่ กำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ หนี้ครัวเรือนก็ยังคงสูง

- ภาคใต้ โดยรวมเริ่มฟื้นตัวดีแต่ไม่เต็มสูบ รายได้หลักของภาคนี้ยังเป็นการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปีนี้ นักท่องเที่ยวฝั่งยุโรปและนักท่องเที่ยวจีนยังไม่มาตามเป้า รายได้จากภาคเกษตรอย่าง ยางพารา ปาล์ม ราคาก็ตกต่ำ กำลังซื้อท้องถิ่นอ่อนแอ พึ่งพิงแต่รายได้จากการท่องเที่ยว

ทิศทางธุรกิจค้าปลีกค้าส่งปี 2567 ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ

ปี 2566 เป็นปีที่น่าผิดหวังสำหรับธุรกิจการค้าปลีกค้าส่งและบริการที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ซึมลึก ซึมยาว ต่อเนื่องตลอดครึ่งปีหลัง ทั้งๆ ที่ ดัชนี RSI เริ่มต้นปีสวยงามด้วยความคาดหวังที่สูง เพราะมีปัจจัยสนับสนุนใหม่ ทั้งการท่องเที่ยว การเปิดประเทศของจีน และโดยเฉพาะการเลือกตั้ง แต่อย่างที่ทราบกัน แม้ท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี แต่เศรษฐกิจจีนอ่อนแอกว่าที่คิด และเราใช้เวลาถึง 4 เดือนในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและบริการไทยขยายตัวต่ำกว่าคาดมาก

ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกและบริการในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านบาท เติบโต 3-5 % เมื่อเทียบกับ GDP ปี 2567 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.5-4.4% โดยกลุ่ม Store-base retailing จะกลับมามีมูลค่าเท่าก่อนช่วงโรคระบาด ส่วน Non-store retailing ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

ผู้เขียนมีความเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและบริการจะกลับสู่ขาขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของ 2567 แต่ขึ้นอยู่กับ 3 เงื่อนไข ดังนี้

เงื่อนไขแรก รัฐบาลมีความได้เปรียบการบริหารงบประมาณต่อเนื่อง 2 ปี คือ 2567 และ 2568 ด้วยงบประมาณรวมกัน 2 ปี ราว 6 ล้านล้านบาท รัฐบาลต้องรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวในระดับ 3-4% ในปีหน้า และปีถัดๆ ไปให้ได้ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่างๆ จำเป็นต้องมี ต้องเกิด ด้วยการเพิ่มรายได้ของกลุ่มฐานราก และเพิ่มการใช้จ่ายของกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงอย่างต่อเนื่องทั้งปี

เงื่อนไขที่สอง เป็นโจทย์ที่ยากขึ้น คือ ต้องให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงานอย่างต่อเนื่อง ให้กับประชาชนได้เป็นจำนวนมาก ด้วยการจัดการกับปัญหาโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และเร่งดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ซึ่งจะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน

เงื่อนไขที่สาม การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และถ้าสามารถขับเคลื่อนจนเกิดผลลัพธ์ได้จริง เชื่อว่าจะช่วยให้อำนาจการซื้อการบริโภคฟื้นตัว เมื่อรวมกับการจ้างงานและการสร้างงานใหม่ๆ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคจะเร็วกว่าที่คาดหมาย

(บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด)

 

 

 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...