ผ่าทางตัน "ต้นทุน" วัตถุดิบอาหารสัตว์

เริ่มต้นปี 2567 สถานการณ์ด้านราคาหมูขุนมีชีวิตก็กระเตื้องขึ้นมากบ้างที่ 68 – 74 บาท/กก. โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงตรุษจีนที่ราคา 80 บาท/กก. ให้พอให้ผู้เลี้ยงสุกรที่เหลืออยู่น้อยนิดให้หายใจคล่องขึ้นมาบ้าง

หลังจากขาดทุนมาตลอดทั้งปี 2566 ระหว่างทางก็มีผู้เลี้ยงรายย่อยจำนวนมากตัดสินใจเลือกเลี้ยงหมูไปเป็นจำนวนมาก

แม้ว่าสถานการณ์ด้านราคาจะดีขึ้น แต่เมื่อกลับไปพิจารณาต้นทุนนับว่าน่าหนักใจสำหรับชาวหมู เนื่องจากต้นทุนธัญพืชอาหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก เนื่องจากปัจจัยรุมเร้าที่หนักหน่วง

ทั้งสถานการณ์ภัยแล้งจาก El Niño ที่ส่งผลให้ผลผลิตโดยรวมมีแนวโน้มลดลง และสถานการณ์สงครามที่ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาพืชอาหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ภาพที่ 1)

จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย พบว่า ปี 2566 ประเทศไทยมีสัดส่วนความต้องการใช้อาหารสัตว์ประมาณ 20 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 50% กากถั่วเหลือง 28% มันสำปะหลัง 9% ปลายข้าว 9% และปลาป่น 4% ตามลำดับ 

เมื่อเราพิจารณาธัญพืชอาหารสัตว์สำคัญที่ใช้ในสูตรอาหารสัตว์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1) กลุ่มให้พลังงาน ประกอบด้วย ข้าวโพด ปลายข้าว และมันสำปะหลัง ทั้งหมดสามารถผลิตได้ภายในประเทศ มีเพียงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตไม่เพียงพอต้องนำเข้า และ 2) กลุ่มโปรตีน คือ กากถั่วเหลือง ซึ่งต้องนำเข้า 

กากถั่วเหลือง จึงเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของต้นทุนอาหารสัตว์ในปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยสามารถผลิตถั่วเหลืองได้เพียง 20,000 ตัน/ปี ได้กากถั่วเหลืองเพียงน้อยนิด

สวนทางกับปริมาณความต้องการใช้ถั่วเหลืองในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ประมาณ 5.4 ล้านตัน เป็นกากถั่วเหลืองที่ได้จากการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองมาสกัดเป็นน้ำมันพืชในประเทศ 2.7 ล้านตัน ต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองอีก  2.9 ล้านตัน โดยนำเข้าจากบราซิลเป็นหลัก

 

ภาพที่  1 ราคาธัญพืชอาหารสัตว์ส่ง ณ โรงงาน เดือนมกราคมปี 2564 2565 และ 2566 ที่มา: สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย (2567)

 

ซึ่งปริมาณผลผลิตคาดการณ์ปี 2566/67 ไว้ 5.88 ล้านตัน แม้จะมีการขยายพื้นที่ปลูก แต่พื้นที่ผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง อันเป็นผลของปรากฏการณ์ El Niño [1] ผลผลิตของปีนี้จึงต้องลุ้นว่าจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่

แต่ก็พอสรุปได้ว่า ราคาถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองของปีนี้น่าจะคงตัวในระดับสูง และต้องไม่ลืมต้นทุนการผลิตของประเทศต้นทาง ค่าเดินเรือ และค่าประกันภัยในการขนส่งที่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลใช้เวลาเป็นแรมเดือนจะมาถึงไทย

นอกจากนี้ จากภาพที่ 1 เราจะเห็นความแตกต่างของราคากากถั่วเหลืองใน (เมล็ดนำเข้า) และกากถั่วเหลืองนำเข้าที่น่าสนใจคือ ราคากากถั่วเหลืองที่ได้จากอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันมีราคาแพงกว่าราคากากถั่วเหลืองนำเข้าอย่างเห็นได้ชัด

ด้วยโครงสร้างราคากากถั่วเหลืองเมล็ดนำเข้าที่ขายภายในประเทศตอนนี้ไม่ได้เป็นไปตามต้นทุนการผลิตที่แท้จริง เนื่องจากตั้งราคาจะอ้างอิงตลาดโลก บวกต้นทุนค่าขนส่ง และภาษีนำเข้า 2% ในราคาขาย เหตุใดต้องตั้งโครงสร้างราคาเช่นนี้ 

เดาว่าคงให้เหตุผลว่าช่วยผู้บริโภคน้ำมันถั่วเหลืองในประเทศ เพราะหากผู้ผลิตน้ำมันพืชถั่วเหลืองไม่สามารถเพิ่มราคาขายกากถั่วเหลืองได้ ก็คงขอปรับเพิ่มราคาน้ำมันพืชถั่วเหลืองแทน ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ต้องแบกรับภาระต้นทุนส่วนนี้ มันยุติธรรมแล้วหรือ? 

ขณะที่มาพิจารณากากถั่วเหลืองนำเข้า ผู้เขียนได้รับข้อมูลว่า ราคากากถั่วเหลืองนำเข้า ณ ท่าเรือ (C.I.F) ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 16.5 บาท/กก. แต่ราคารับซื้อกากถั่วเหลืองหน้าโรงงานอยู่ที่ 22.8 บาท/กก. (ราคา ณ 5 มกราคม 2567)

เหตุใดจึงมีส่วนต่างมากถึงเพียงนี้ แม้จะถูกจัดเก็บภาษีนำเข้าในโควต้า 2% บวกค่าขนส่งจากท่าเรือไปโรงงาน ก็ไม่ควรจะมีส่วนต่างเกิน 5 บาท/กก. อยากทราบเหลือเกินว่ามีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ต้นทุนกากถั่วเหลืองนำเข้าสูงถึงเพียงนี้ 

เราสรุปได้แน่นอนว่า โครงสร้างราคากากถั่วเหลืองทั้งสองแหล่งบิดเบี้ยว เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์ขึ้นง่าย ปรับลดยาก

ปัญหานี้ไม่เพียงเฉพาะไทย ผู้ใช้ถั่วเหลืองรายใหญ่ของโลกอย่างจีน ที่มีปริมาณความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไม่น้อยกว่า 70 ล้านตัน ก็ตระหนักถึงปัญหานี้เช่นกัน

แรงกดดันนี้ทำให้จีนอนุมัติให้มีการผลิตถั่วเหลือง GMO 14 สายพันธุ์ รวมถึงข้าวโพด GMO อีก 37 สายพันธุ์ แล้วในช่วงเดือนตุลาคม 2566 เพื่อลดการนำเข้า หลังจากได้มีการทดลองปลูกในแปลงขนาดใหญ่ (Large-scale trials) 20 แห่ง ใน 5 จังหวัด 

สำหรับประเทศไทยยังคงมีกฎหมายห้ามใช้พันธุ์ที่ตัดต่อพันธุกรรม แต่เรายังคงนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง GMO เข้ามาสกัดน้ำมัน และกากถั่วเหลืองที่เรานำเข้าก็คงสกัดจากเมล็ดถั่วเหลือง GMO

เข้าตำราเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินแกง ไม่อนุญาตให้ปลูก แต่ก็อนุญาตให้นำเข้า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องหันมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

ประเด็นถัดไปที่ต้องพิจารณาคือ ธัญพืชแหล่งพลังงาน ควรพิจารณายกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 โดยกำหนดปริมาณนำเข้าตามปริมาณความต้องการส่วนเกินของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตได้ในแต่ละปี ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกราย

และวิธีการคำนวณราคาและมาตรฐานรับซื้อที่คำนึงถึงความชื้นและน้ำหนักให้ชัดเจนเป็นมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ราคาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นธรรมต่อเกษตรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และผู้เลี้ยงปศุสัตว์

อีกทางหนึ่งที่ต้องกลับมาคิดกันใหม่คือ การปรับสูตรอาหารโปรตีนต่ำ (Low-protein diet) เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สัตว์ เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพที่ดี ลดอัตราการสูญเสียระหว่างทาง ใส่โพรไบโอติกในสูตรอาหารเพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึม

ปรับการใช้สูตรอาหารสัตว์แม่นยำ (Precision feed) ที่เหมาะสมกับพันธุ์และช่วงอายุของสัตว์ แนวทางนี้จะทำให้ต้นทุนการแปลงอาหารเป็นเนื้อสัตว์ (Feed Conversion per Gain: FCG) ต่ำลง

หากภาครัฐไม่แก้ไขปัญหาวิกฤตต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์อย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่ต้นทุนการผลิตหมู ปศุสัตว์ทุกชนิดทั้ง ไก่ โคเนื้อ โคนม ก็จะไปไม่รอด เกษตรกรรายย่อย รายเล็ก และรายกลางจำนวนมากตัดสินใจเลิกเลี้ยง

เพราะตระหนักแล้วว่า อาชีพเลี้ยงปศุสัตว์ทั้งหมู ไก่ โคเนื้อ โคนม จะไม่ใช่อาชีพของเกษตรกรตัวเล็ก ๆ อีกต่อไป

สุดท้ายไม่เพียงต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ยังต้องนำเข้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ผลท้ายสุดจะตกไปที่ผู้บริโภค ต้องบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง เมื่อนั้นประเทศไทยจะไร้ซึ่งความมั่นคงทางอาหารโปรตีนที่เราเคยมีอย่างอุดม.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...