“วัชระ” ลุ้น “พีระพันธุ์” กล้าแตะพิสูจน์ ปม “ทักษิณ” ไม่ได้จำคุกจริง

“วัชระ” ลุ้น “พีระพันธุ์” รองนายกฯ กล้าแตะปม “ทักษิณ” หรือไม่ จี้ 10 ข้อ ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน กรณี “ทักษิณ” ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี แต่ไม่ได้จำคุกจริงหรือไม่ บี้ เร่งแจง 3 ปม สังคมแคลงใจ ป่วยกับอยู่ รพ.ตำรวจหรือไม่ 

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2567 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า หลังจากตนยื่นเรื่องร้องเรียนขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณี น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี แต่ไม่ได้จำคุกจริงในเรือนจำแม้แต่วันเดียว จริงหรือไม่ และมีอาการป่วยเป็นเท็จหรือไม่ รวมถึงได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลาหรือไม่ ต่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม (ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ) และรมว.พลังงาน เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2567

ล่าสุด นางนสินี มหาขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน ปฏิบัติราชการแทน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือตอบรับแจ้งกลับมายังตนแล้ว ซึ่งข้าราชการผู้รับหนังสือจากตนได้ส่งเรื่องให้นายพีระพันธุ์ รับทราบและประสานส่งไปยังกระทรวงยุติธรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ตนได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเคลือบแคลงสงสัยว่า น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 3 คดี รวมกำหนดโทษจำคุก 8 ปี และประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 มีการประกาศให้โทษจำคุกเหลือ 1 ปี และข่าว น.ช. ทักษิณฯ ถูกส่งตัวจากเรือนจำเข้าโรงพยาบาลคืนวันที่ 23สิงหาคม 2566 แต่ไม่ได้มีการจำคุกจริงตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 (ไม่เท่าเทียมนักโทษทั่วไป)

“ต่อมาผมได้มีหนังสือร้องเรียนกรณีดังกล่าวถึง พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เนื่องจากมีการเอื้อประโยชน์เพื่อช่วยเหลือ น.ช.ทักษิณ ซึ่งเป็นบิดาของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลในรัฐบาลนี้ ในการนี้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงผม แจ้งว่า ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังและกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเพื่อพิจารณา ซึ่งหมายถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังละเว้นไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามที่ตนได้ร้องเรียนตามหนังสือลงวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ณ เวลานั้น ผมขอให้นายพีระพันธุ์ รองนายกฯ ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกระทรวงยุติธรรม ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน 10 ข้อ กรณี น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี แต่ไม่ได้จำคุกจริงในเรือนจำแม้แต่วันเดียวจริงหรือไม่ ดังนี้

...

นายวัชระ กล่าวและว่า 1.ปรากฏข้อเท็จจริงว่า วันที่ 22 สิงหาคม 2566 กรมราชทัณฑ์มีการดำเนินการตามขั้นตอนเมื่อรับ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือไม่ มีการกรอกทะเบียนประวัตินักโทษ (ร.ท.101) ครบทุกข้อจำนวน 4 หน้าหรือไม่ ถ่ายรูปในชุดนักโทษและตัดผมทรงนักโทษหรือไม่ เข้าห้องขังหรือไม่ มีข้าราชการการเมืองสั่งการให้ข้าราชการกรมราชทัณฑ์กระทำการขัดต่อระเบียบ กฎ กฎหมายของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ และขอให้ท่านมีข้อสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ส่งคลิปกล้องวงจรปิดของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันที่ 22-23 สิงหาคม 2566ในจุดที่ น.ช.ทักษิณ เดินเข้าและออกจากเรือนจำ แก่ คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร และให้เปิดเผยต่อสาธารณชนด้วย

2.กรณีแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ส่งตัว น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจมีอาการเจ็บป่วยจริงหรือไม่ ออกใบรับรองเท็จหรือไม่ และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแพทย์และพยาบาลทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้กันข้าราชการที่ให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยานด้วย

3.น.ช.ทักษิณ ชินวัตร อยู่พักรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลาหรือไม่ ป่วยจริงหรือไม่ มีแพทย์และพยาบาลดำเนินการรักษาจริงทุกวันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบันหรือไม่ มีเวชระเบียนการรักษาทุกวันหรือไม่ ขอให้เปิดเผยรายชื่อเจ้าพนักงานเรือนจำที่ควบคุม น.ช.ทักษิณไปโรงพยาบาลตำรวจทุกนาย และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าพนักงานเรือนจำที่ควบคุม น.ช.ทักษิณ ทุกนายและผู้ตรวจเวรที่ไปเฝ้า น.ช.ทักษิณทุกวันว่าได้พบ น.ช.ทักษิณหรือไม่ มีการบันทึกภาพหรือไม่ และมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่ โดยขอให้กันข้าราชการที่ให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยานด้วย

4.การออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ลงวันที่ ๖ ธันวาคม 2566 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เร่งรัดบังคับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการออกระเบียบให้ทันบังคับใช้ในปี 2566 หรือไม่ ขอให้ท่านมีข้อสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ส่งสำเนาการประชุมการร่างออกระเบียบดังกล่าวทุกครั้ง แก่คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร และส่งสำเนาให้ตนด้วยจำนวน 1ชุด

5.ขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนกรณีกล้องวงจรปิดโรงพยาบาลตำรวจเสียทุกตัวทุกชั้นและขอให้ประสานงานสั่งการให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ภายใน 7 วัน เพราะ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร มีสภาพเป็นนักโทษเด็ดขาดอยู่ภายใต้กฎหมายของกรมราชทัณฑ์

6.ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2566 มีอำนาจเหนือคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำนวน 3 คดี หรือไม่ และมีอำนาจเหนือราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 1กันยายน 2566 หรือไม่ การเร่งรัดออกระเบียบฯ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ น.ช.ทักษิณเป็นการละเมิดพระราชอำนาจตามพระบรมราชโองการที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 1 กันยายน 2566 หรือไม่ จะดำเนินการอย่างไร

7.ขอให้บังคับโทษทางแพ่ง น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ชำระเงินให้แก่รัฐคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) จำนวนเงิน 189,125,644.45 บาท พร้อมดอกเบี้ย คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 4/2551 มีการบังคับคดีแล้วหรือยัง เมื่อไร ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ถ้ายังไม่ดำเนินการ จะสั่งการตามอำนาจหน้าที่อย่างไร

8.น.ช.ทักษิณ ชินวัตร พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 7 (3) ที่ต้องรายงานต่อรัฐมนตรีทราบนั้นขอให้เปิดเผยรายงานต่อพี่น้องประชาชนทั้งประเทศภายใน 7 วัน

9.ขอให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เดินทางไปโรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ภายใน 7วัน เพื่อตรวจสอบว่า น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ป่วยจริงหรือไม่ และอยู่โรงพยาบาลตลอดเวลาหรือไม่

10.มีข่าวว่า จะมีการทำบัญชีโยกย้ายข้าราชกรมราชทัณฑ์ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายการเมืองในกรณีนี้หลายตำแหน่ง จะให้ความยุติธรรมเบื้องต้นแก่ข้าราชการอย่างไร การกระทำของข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำตามข้อ 1-8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างกรรมต่างวาระ ผิดประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรงจึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายใน 7 วัน เพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐและนิติธรรม

นายวัชระ กล่าวต่อว่า ดังนั้น จึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทุกประเด็นในเรื่องนี้ เพื่อมาตรฐานความยุติธรรมที่เท่าเทียมกับนักโทษ 280,000 รายทั่วประเทศ รวมทั้งขอให้บังคับโทษทางอาญา น.ช.ทักษิณ อย่างเคร่งครัด หากไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่พี่น้องประชาชนร้องเรียนตนมานี้ภายใน 7 วัน ตนจำเป็นต้องยื่นร้องเรียนกล่าวโทษบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ลงมาเพื่อให้ ป.ป.ช.สอบสวนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกมาตราและสอบจริยธรรมร้ายแรงต่อไป และตนเชื่อมั่นว่า ท่านรักษาและปฏิบัติตามกฎหมาย ด้วยหลักนิติรัฐ นิติธรรม และจริยธรรมทางการเมืองอย่างเคร่งครัด จึงได้ส่งหนังสือร้องเรียนมา ทั้งนี้ ตนขอให้กันข้าราชการกรมราชทัณฑ์ แพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจที่ให้การตามความจริงและเป็นประโยชน์แก่ทางราชการทุกคนไว้เป็นพยานทุกราย และเอกสารทุกข้อ ที่จะขอตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ขอให้จัดส่งแก่ข้าพเจ้าภายใน 30 วัน พร้อมลงลายมือชื่อรับรองเอกสารทุกแผ่น

ซึ่งเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2567 นายพีระพันธุ์ ได้ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตอนหนึ่ง ว่า "คนอย่างผมไม่เคยเกรงใจใคร ถ้าหากทำไปแล้วพี่น้องประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์ ผมไม่เคยเกรงใจใคร"

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

คำเดียวสั้นๆ "แฟนสาวจาค็อบ" พูดต่อหน้า "รถถัง" หลังชวดแชมป์โลก

เผยคำพูด แฟนสาวของ จาค็อบ สมิธ ที่พูดต่อหน้า รถถัง จิตรเมืองนนท์ หลังฟาดปากกันในศึกมวยไทย รุ่นฟลายเว...

กรมวิชาการเกษตร ระดมแผนเตรียมพร้อม ส่งลำไยเจาะตลาดจีน

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรเร่งขับเคลื่อนนโยบายผัก ผลไ...

ผลบอล "บาเยิร์น มิวนิก" ไม่พลาด บุกเชือด "ซังต์ เพาลี" รั้งจ่าฝูงบุนเดสลีกา

"เสือใต้" บาเยิร์น มิวนิก ทำได้ตามเป้า บุกมาเอาชนะ ซังต์ เพาลี เก็บ 3 คะแนนสำคัญ รั้งจ่าฝูง บุนเดสลี...

ส่องขุมทรัพย์ที่ดิน 'รถไฟ' 9.6 หมื่นล้าน จ่อประมูลสร้างรายได้เชิงพาณิชย์

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นับเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีทรัพย์สินที่ดินทั่วประเทศจำนวนมาก และยังเป็น...