‘ท่องเที่ยว’ แบกเป้าปั๊มรายได้นิวไฮ 3.5 ล้านล้าน ชูซอฟต์พาวเวอร์ ตลาดคุณภาพ

Key Points :

  • ภาคการท่องเที่ยวรับบทหนัก ในฐานะ "พระเอก" แบกเศรษฐกิจไทยปี 2567 ด้วยเป้าหมายเชิงท้าทาย
  • รัฐบาลและนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อยากเห็นการสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวจากทั้งตลาดในและต่างประเทศไปถึงนิวไฮ 3.5 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน
  • ขณะที่รายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2566 ทำได้ 2 ล้านล้านบาท พลาดจากเป้าหมาย 2.38 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าวืดไป 3.8 แสนล้านบาท
  • อย่างไรก็ตาม กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังคงยืนยันเป้าหมาย "นักท่องเที่ยวจีน" แตะ 8 ล้านคน เผย “กต.” เร่งจัดทำข้อตกลงยกเว้นวีซ่าถาวร ไทย-จีน รอประกาศทางการ คาดเริ่มไทม์ไลน์ 1 มี.ค. 2567

 

วานนี้ (17 ม.ค.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ประกาศแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงฯ ครอบคลุมการขับเคลื่อนตลาดการท่องเที่ยวของไทยทั้งภายในและต่างประเทศสู่การเป็นจุดหมายปลายทางคุณภาพ (Quality Destination) การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ให้เป็นพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2567 รวมถึงการยกระดับการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประกาศนโยบายสำคัญ มุ่งพลิกโฉมภาคการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทย ด้วยการตั้งเป้าหมายเชิงท้าทาย สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท สูงกว่ารายได้รวมเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ตามที่นายกฯ เศรษฐา และรัฐบาลอยากเห็นจากศักยภาพที่มี

โดยแบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 2.3 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน กลับไปเท่าสถิติเดิมของปี 2562 ซึ่งปิดที่จำนวน 39.9 ล้านคน ด้านรายได้จากตลาดในประเทศตั้งเป้าไว้ที่ 1.2 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย 200-220 ล้านคน-ครั้ง

ส่วนเป้าหมายการทำงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ คือการสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 100% เท่ากับรายได้รวมปี 2562 โดยแบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.92 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน และรายได้จากตลาดในประเทศ 1.08 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย 200 ล้านคน-ครั้ง

‘จีนเที่ยวไทย’ 8 ล้านคน ปั้นรายได้ 3.2 แสนล้าน

ทั้งนี้ในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะดึงนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าไทย สร้างรายได้กว่า 3.2 แสนล้านบาท จากจำนวน 8 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบ 130% จากจำนวน 3.5 ล้านคนเมื่อปี 2566 จากปัจจัยสนับสนุนเรื่องข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนที่จะยกเว้นวีซ่าระหว่างกันแบบถาวร

ขณะนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กำลังดำเนินการจัดทำข้อตกลงเพื่อรอประกาศอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นคาดเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป โดยบรรยากาศช่วงโกลเด้นวีคหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน (10-17 ก.พ.) น่าจะช่วยสร้างแรงส่งที่ดีต่อการเดินทางของชาวจีนเข้ามาในประเทศไทย

“กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ ททท. จะเน้นดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น อยู่นานขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางซ้ำ ด้วยการจัดงานอีเวนต์ใหญ่ตลอดปี จากการต่อยอดงานเทศกาลประเพณี รวมถึงการนำเสนอสิ่งใหม่ เน้นเมืองรอง ไม่ให้กระจุกแค่ในเมืองหลัก รวมไปถึงซอฟต์พาวเวอร์ 5F ได้แก่ อาหาร (Food) มวยไทย (Fighting) ภาพยนตร์และซีรีส์ (Film) แฟชัน (Fashion) และเฟสติวัล (Festival)”

หลังจากในปี 2566 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้นกว่า 28 ล้านคน เกินกว่าเป้าหมายซึ่งตั้งไว้ 25-28 ล้านคน ส่วนรายได้รวมการท่องเที่ยว ตั้งเป้าไว้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท แต่เมื่อสรุปตัวเลขเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีรายได้รวมการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท แม้จะเพิ่มขึ้น 100% จากปี 2565 แต่ถือว่าพลาดเป้าหมายดังกล่าวไปราว 3.8 แสนล้านบาท

 

‘สุดาวรรณ’ ชู 7 นโยบายพลิกโฉมท่องเที่ยว-กีฬา

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนโยบายที่กระทรวงฯ จะขับเคลื่อนในปี 2567 มี 7 นโยบายหลัก ได้แก่ นโยบายที่ 1 การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปี 2567 จากเชิงปริมาณเข้าสู่โหมดของคุณภาพ ทั้งมิติของในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งนายกฯ เศรษฐา ต้องการให้บรรยากาศการท่องเที่ยวของประเทศไทยคึกคักตลอดทั้งปี ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทย

“ประเทศไทยต้องมี High Season All Year Round Tourism Destination คือ เที่ยวได้ทั้งปี หรือเที่ยวได้ทั้ง 365 วัน จึงได้เตรียมจัดอีเวนต์ต่างๆ ตลอดปี เช่น เทศกาลตรุษจีน เทศกาลสงกรานต์ ที่จะจัดให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี เพราะยูเนสโก (UNESCO) เพิ่งประกาศขึ้นทะเบียนให้สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ จึงต้องยกระดับกิจกรรมอีเวนต์ต่างๆ ในระดับชุมชนให้เป็นอีเวนต์ระดับนานาชาติ เป็นการกระตุ้นการไปท่องเที่ยวเมืองรอง จะทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาตลาดเดิม และเจาะตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ๆ ได้ต่อเนื่อง”

 

ดัน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ขุมพลังเคลื่อนท่องเที่ยว

นโยบายที่ 2 กระทรวงฯ จะใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นพลังในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการกีฬาของประเทศไทยให้เป็น “Engine the New Power” และจากจุดเด่นของซอฟต์พาวเวอร์จะมีเรื่องกีฬาเข้ามาเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนด้วย สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทยในสายตาชาวโลก และเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนดีมานด์ของการท่องเที่ยวและการกีฬาได้เป็นอย่างดี

นโยบายที่ 3 ประเทศไทยให้ความสำคัญกับความปลอดภัย (Safety) และการต้อนรับ (Hospitality) โดยต้องทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นว่า “เมืองไทยปลอดภัย” มาแล้วได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ต้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายและปราบปรามการเอาเปรียบหลอกลวงนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยของเรา

นโยบายที่ 4 นำเรื่องความรับผิดชอบ (Responsibility) มาต่อยอดสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เรื่องนี้ เป็นนโยบายที่พูดกันมานานแล้ว แต่ในปี 2567 จะนำมาขับเคลื่อนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะการท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้ เมื่อท้องถิ่นมาร่วมขับเคลื่อนด้วยกัน

นโยบายที่ 5 จะใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสานต่อนโยบายของนายกฯ ที่ให้ความสำคัญกับการเดินทางเชื่อมโยงภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ปลายเดือน ม.ค.นี้ จะมีประเด็นพูดคุยที่สำคัญคือ “ASEAN Connect” ที่จะทำให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก

 

รุกเพิ่มส่วนแบ่งมูลค่า ‘กีฬาไทย’

นโยบายที่ 6 มีนโยบายขับเคลื่อนด้านกีฬาพื้นฐาน โดยวางระบบการพัฒนาทั่วประเทศเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริม พัฒนาการการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา ทุกคนสามารถออกกำลังกายเป็นวิถีชีวิต สามารถเข้าถึงกีฬาได้หมดทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งคนปกติ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งจะมีการส่งเสริมกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ กีฬาเพื่อการอาชีพที่จะต้องพัฒนากีฬาทุกระดับและบุคลากร รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาเพิ่มสมรรถนะให้กับนักกีฬาไทยให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อแข่งขันในระดับนานาชาติ หรือกีฬาอาชีพ และต้องผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติและระดับโลก สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ สุดท้ายคือ อี-สปอร์ต (E-Sport) ถือเป็นกิจกรรมกีฬาใหม่ที่ต้องส่งเสริม เพราะสามารถสร้างทักษะให้กับเยาวชนและสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก

นโยบายที่ 7 การเตรียมพร้อมสำหรับมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ ซึ่งในปี 2567 จะมีรายการแข่งขันระดับนานาชาติหลายรายการ ทั้งการส่งนักกีฬาไปร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 และการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ได้แก่ เอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ จักรยานยนต์โมโตจีพี เจ็ตสกีชิงแชมป์โลก ฮอนด้า แอลพีจี เอ ไทยแลนด์ 2024 รวมถึงการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ในปี 2568 ซึ่งมี 3 จังหวัดร่วมเป็นเจ้าภาพคือ กรุงเทพฯ ชลบุรี และสงขลา

“ด้านการกีฬา กระทรวงฯ ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งมูลค่ากีฬาไทยที่มีเพียง 0.58% ในขณะนี้ ให้เป็น 1% จากอุตสาหกรรมกีฬาโลกที่มีขนาด 45.58 ล้านล้านบาท คิดเป็นมูลค่า 455,800 ล้านบาทให้ได้” รมว.การท่องเที่ยวฯ กล่าว

 

‘ทีเส็บ’ กางแผนฟื้นตลาดไมซ์สู่ 1.4 แสนล้าน

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทิศทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE: การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) ของประเทศไทยในปี 2567 ทีเส็บได้กำหนดเป้าหมายผลักดันจำนวนนักเดินทางไมซ์รวมทั้งสิ้น 23.2 ล้านคน ฟื้นตัว 75% ของปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด สร้างรายได้ 1.4 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 9.6 แสนคน ทำรายได้ 6.3 หมื่นล้านบาท และตลาดในประเทศ 22.2 ล้านคน ทำรายได้ 7.3 หมื่นล้านบาท ส่วนในปี 2568 คาดว่าจำนวนนักเดินทางไมซ์จะกลับมา 100% เท่ากับปี 2562

สำหรับแนวทางการทำงานในปี 2567 ของตลาดต่างประเทศ จะร่วมงานไทยแลนด์โรดโชว์ เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ในการสร้างรายได้และผลักดันไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านไมซ์ระดับท็อป ส่วนตลาดในประเทศจะกระตุ้นการจัดงานภาครัฐ สัมมนาของภาคเอกชน และยกระดับงานแสดงสินค้ากับเทศกาลที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และเป้าหมายการพัฒนาในพื้นของแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่นำร่อง 10 เมืองรอง เพื่อผลักดันเมืองรองที่มีศักยภาพด้านเศษฐกิจให้ได้รับการพัฒนารองรับงานระดับสากล

ด้านสถิตินักเดินทางไมซ์ไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. - ธ.ค. 2566) มีนักเดินทางและรายได้ไมซ์สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีผู้เดินทางรวมทั้งสิ้นประมาณ 7.97 ล้านคน สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 15.56% ทำรายได้ประมาณ 39,399 ล้านบาท สูงกว่าที่คาดการณ์ 9.53%

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...