จับชีพจร ‘อิตาเลียนไทย’ วิกฤติรับเหมา งานรัฐค้างท่อ

เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2567 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ITD แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในฐานะ “นายทะเบียนหุ้นกู้” และ “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้”

โดย ITD  ในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ เห็นสมควรให้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 ซึ่งเป็นการประชุมหุ้นกู้ของบริษัททุกชุดร่วมกัน แต่แยกการนับองค์ประชุม และการลงมติ) ในวันพุธที่ 17 ม.ค.2567 เวลา 14.00 น. ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) ซึ่งมีการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนกรรมสิทธิ์วันที่ 3 ม.ค.2567 ทั้งนี้ วาระการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 มีดังนี้

วาระที่ 1 พิจารณาผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio)

ตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิ โดยให้มีผลตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของปี 2566 จนถึงวันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของปี 2568 และผ่อนผันให้ผู้ออกหุ้นกู้ดำเนินการเจรจา หรือเข้าทำสัญญาใดๆ กับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ

วาระที่ 2 พิจารณาอนุมัติการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ไปอีก 2 ปี

และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีกร้อยละ 0.25 ต่อปี (นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมจนถึงวันครบ 1 ปีจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม) และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีกร้อยละ 0.50 ต่อปี (นับแต่วันถัดจากวันครบ 1 ปีจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมจนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ใหม่) โดยจะชำระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดเพียงครั้งเดียว ในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ใหม่ (ที่ขยายออกไป)

อย่างไรก็ดี การแจ้ง “เลื่อน” จ่ายเงินต้นที่จะครบกำหนดในกลางเดือน ก.พ.นี้ ออกไปอีกอย่างน้อย 2 ปี สำหรับหุ้นกู้ทุกรุ่น ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงสถานการณ์ของ ITD เวลานี้ว่าอาจประสบปัญหาสภาพคล่องหรือไม่ อีกทั้ง หากย้อนกลับไปดูผลดำเนินงานของ ITD ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ในช่วงปี 2566 การรับงานรับเหมาก่อสร้างที่เป็นรายได้หลักของ ITD มีทิศทางลดลง

โดยปี 2566 รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เข้าลงนามในสัญญาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพียง 1 โครงการ คือ

1.สัญญาก่อสร้างกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธา สำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ในนามกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 วงเงิน 9,348 ล้านบาท

ขณะที่ปัจจุบัน ITD มีโครงการก่อสร้างในมือ อาทิ

- โครงการรถไฟสายใหม่ สายเด่นชัยเชียงราย-เชียงของ สัญญา 1 (ช่วงเด่นชัย-งาว) โดยโครงการนี้บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ มูลค่า 24,822 ล้านบาท

- โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 1 สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด มูลค่า 10,397 ล้านบาท

- โครงการทางยกระดับบนทางหลวง หมายเลข 35 ถนนพระราม 2 ตอนที่ 3 มูลค่า 2,328 ล้านบาท

- โครงการทางพิเศษพระราม 3 ดาวคะนองวงแหวนตะวันตก (สัญญา 3) ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการในนามกิจการร่วมค้าไอทีดี-วีซีบี ร่วมกับพันธมิตรคือ บจก. วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง มูลค่า 6,877 ล้านบาท

- โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอนที่ 7 มูลค่า 1,746 ล้านบาท

- โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)

  • สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า–สะพานพุทธ โดยบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ มูลค่า 14,120 ล้านบาท
  • สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง–ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้าและอาคารจอดแล้วจร มูลค่า 12,238 ล้านบาท
  • สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ มูลค่า 3,354 ล้านบาท

ทั้งนี้โครงการก่อสร้างในนาม ITD นั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการประมูลที่ได้ดำเนินการ 2 – 3 ปีก่อน ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและมีสถานะใกล้แล้วเสร็จ ขณะที่ในปี 2566 ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีการประมูลและลงนามสัญญางานโครงสร้างพื้นฐานเพียงโครงการเดียว ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัจจัยภาครัฐไม่มีการผลักดันโครงการลงทุน เนื่องจากเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

แหล่งข่าวจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ระบุว่า หากประเมินสถานการณ์ของธุรกิจรับเหมาในปี 2567 ต้องยอมรับว่าเอกชนที่ส่วนใหญ่ยังพึ่งพารายได้จากการประมูลงานภาครัฐที่คงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า และเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในปี 2568

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยการประมูลงานภาครัฐที่ลดลงนั้น มีส่วนทำให้มีเอกชนกลุ่มรับเหมาบางรายได้รับผลกระทบและต้องขาดสภาพคล่อง” แหล่งข่าว กล่าว

นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส ITD เคยระบุก่อนหน้านี้ว่า “ช่วงปลายปี 2564 จนถึงต้นปี 2565 บริษัทฯ ได้รับงานใหม่เข้ามามากกว่า 1.2 แสนล้านบาท ทำให้งานในมือ (Backlog) เพิ่มเป็นกว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะรองรับรายได้ในช่วง 5 ปีนี้”

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...