ทำไมเรายอมจ่ายให้ ‘Starbucks’ ทั้งที่มีกาแฟ ‘อร่อย’ และ ‘ถูกกว่า’ ?

Key Points:

  • การประกาศขึ้นราคาของ “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมาย หนึ่งในนั้น คือประเด็นเรื่อง “รสชาติ” และ “ราคาที่เหมาะสม” รวมถึงความแตกต่างของแบรนด์ที่โดดเด่นเรื่องการขายบรรยากาศ และ “ความพรีเมียม” 
  • “สตาร์บัคส์” เชื่อว่า หากพนักงานได้รับการดูแลเป็นอย่างดี พวกเขาจะส่งต่อความสุขให้ลูกค้าต่อไปได้ ต้นทุนส่วนนี้สะท้อนว่า ร้านให้ความสำคัญกับคนทำงาน ทั้งยังช่วยยกระดับภาพลักษณ์แบรนด์ไปในตัวด้วย
  • ราคาที่ต้องจ่ายของกาแฟที่ “สตาร์บัคส์” จึงเป็นการซื้อบรรยากาศ ความพรีเมียม และประสบการณ์ ที่แตกต่างจากร้านอื่นทั่วไป


การปรับขึ้นราคาเครื่องดื่มของยักษ์กาแฟระดับโลกอย่าง “สตาร์บัคส์” (Starbucks) ในไทยเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา สร้างแรงกระเพื่อมในตลาดกาแฟบ้านเราไม่น้อย เพราะ “กาแฟเงือกเขียว” แห่งนี้ เป็น “Third place” ของใครหลายคน ไม่ใช่แค่ร้านกาแฟที่มาพร้อมวัตถุดิบพรีเมียม แต่ยังมีจุดขายที่การบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน จนทำให้ร้านกาแฟแก้วละร้อยแห่งนี้ได้รับความนิยมต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบัน “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” กระจายสาขาไปทั่วประเทศแล้วกว่า 465 สาขา (ตัวเลข ณ ปี 2566)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังแถลงการณ์ประกาศขึ้นราคาสินค้าก็เกิดข้อถกเถียงตามมามากมาย บ้างก็ว่า “สตาร์บัคส์” ไม่ใช่ร้านกาแฟเพียงเจ้าเดียวในไทย บ้างก็ว่า “สตาร์บัคส์” ไม่ใช่แบรนด์ที่ชงกาแฟอร่อยที่สุด ยังมีร้านอื่นในท้องตลาดที่ราคาใกล้เคียงกันแถมรสชาติดีกว่า ทว่า ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ทำให้เครื่องหมายการค้าสตาร์บัคส์โดดเด่น-แตกต่างในท้องตลาดกลับไม่ใช่การสู้กันด้วย “รสชาติ” เพียงอย่างเดียว

จริงอยู่ที่ธุรกิจ “F&B” มีรสชาติเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ แต่มากไปกว่านั้นคือ การวางจุดยืนบน “ความพรีเมียม” ทำให้ลูกค้ายินดีที่จะจ่ายเพื่อ “ซื้อคุณค่า” ที่แบรนด์มอบให้ แม้จะมีคู่แข่งเกิดใหม่นับสิบ นับร้อยราย แต่ก็ไม่สามารถโค่น “สตาร์บัคส์” ลงจากหอคอยเชนกาแฟที่มีสาขา และจำนวนยอดขายมากที่สุดในโลกได้

  • สารตั้งต้นความพรีเมียมคือ เมล็ดกาแฟ และบาริสต้ามือดี 

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการกำหนดราคาสินค้าที่สตาร์บัคส์คือ ส่วนผสมคุณภาพสูงอย่างเมล็ดกาแฟระดับพรีเมียม ที่มีการคัดแยกแบ่งตามขนาด สี และความหนาแน่น ข้อมูลจากเว็บไซต์ “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” ระบุว่า เมล็ดกาแฟพันธุ์ “อาราบิก้า” ที่ร้านได้รับการปลูกบนพื้นที่สูง มีอากาศหนาวเย็นในเวลากลางคืน และอบอุ่นในเวลากลางวัน จะทำให้ได้กาแฟที่มีคุณภาพ รสชาติกลมกล่อม และลุ่มลึก นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ช่วยเหลือชาวไร่กระจายอยู่ 4 ทวีปทั่วโลก มีนักปฐพีวิทยาคอยทำการทดสอบดิน ตรวจสอบตัวอย่างเมล็ด และให้คำแนะนำแก่ชาวสวนผู้ปลูกกาแฟด้วย

ขณะเดียวกัน “สตาร์บัคส์” ยังให้ความสำคัญกับ “บาริสต้า” เป็นอันดับต้นๆ โดยอดีตพนักงานสตาร์บัคส์ท่านหนึ่งให้ข้อมูลกับสำนักข่าว “บิซิเนส อินไซเดอร์” (Business Insider) ว่า จำนวนเมนูในร้านค้าทั้งเมนูหลักและเมนูที่สามารถ “Customized” ตามความต้องการของลูกค้ามีอยู่ราวๆ 87,000 รายการ และบาริสต้าในร้านก็สามารถเนรมิตเมนูทั้งหมดออกมาได้โดยไม่เกิดความชะงักงันใดๆ โดยทุกคนต้องผ่านกระบวนการฝึกอบรมกว่า 30 ชั่วโมง ตั้งแต่องค์ความรู้เรื่องต้นกำเนิดเมล็ดพันธุ์ไปจนถึงเทคนิคการทำเมนูเลื่องชื่ออย่าง “แฟรปปูชิโน” (Frappuccino)

ทั้งนี้ “สตาร์บัคส์” ขึ้นชื่อว่า เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในการดูแลพนักงานมากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะเชื่อว่า จะให้บริการที่ดีกับลูกค้าได้ พนักงานหรือคนที่ให้การดูแลต้องมีความสุขเสียก่อน สตาร์บัคส์ใช้วิธีนี้ในการรักษาคนเก่ง และยังให้ข้อมูลเรื่องนี้กับสื่ออยู่บ่อยครั้ง นัยหนึ่งก็เพื่อเป็นการสะท้อนว่า ต้นทุน และราคาขายสินค้าเกิดจากการให้ความสำคัญเรื่องคนทำงาน นอกจากจะดีกับตัวพนักงานโดยตรงแล้ว ยังช่วยยกระดับภาพลักษณ์แบรนด์ในฐานะองค์กรที่มุ่งรักษาความยั่งยืนด้วยการปั้นพนักงานให้เติบโตไปพร้อมๆ กันด้วย

  • แพงแบบ “มีที่มาที่ไป” แพงด้วยประสบการณ์ที่ “หาซื้อที่อื่นไม่ได้”

เพลงบรรเลงคลอเคล้าละเมียดหู เก้าอี้หลากชนิด โต๊ะต่างระดับ ปลั๊กไฟที่มีแทบทุกจุดภายในร้าน และพนักงานที่มีท่าทีเป็นมิตรด้วยมาตรฐานเดียวกันทุกสาขาคือ สิ่งที่ทำให้สตาร์บัคส์ “แตกต่าง” 

“Your Dream Coffee” เว็บไซต์ที่นำเสนอบทความเกี่ยวกับกาแฟสัญชาติเนเธอร์แลนด์วิเคราะห์ถึง “ความหรูหรา” ที่ “สตาร์บัคส์” มอบให้ลูกค้าว่า เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อรถสปอร์ตมาขับ หรือแม้กระทั่งรับประทานอาหารในร้าน “มิชลิน” ทุกวัน ขณะที่ “กาแฟ” อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ว่าจะดื่มทุกวันหรือดื่มเป็นครั้งคราว “กาแฟ” ก็ทำหน้าที่เป็นประตูเชื่อมต่อระหว่างกันได้โดยง่าย

บางคนเข้าสตาร์บัคส์เพียงเพราะต้องการกาแฟดีๆ สักแก้ว บางคนต้องการอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่ผ่อนคลาย การเข้ามาภายในร้านที่เต็มไปด้วยบรรยากาศอบอุ่น มีพนักงานที่ปฏิบัติกับเราเป็นอย่างดี ทำให้การจ่ายเงินเพื่อซื้อความหรูหราเพียงชั่วครั้งชั่วคราวด้วยเงินหลัก “ร้อยบาท” ไม่ใช่ความฟุ่มเฟือยที่เกินเอื้อมนัก

อีกทั้งบรรยากาศเช่นนี้ยังหาได้ไม่ยาก เพราะสาขาของสตาร์บัคส์กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก ด้วยพนักงานที่ปฏิบัติกับลูกค้าภายใต้มาตรฐานเดียวกัน นอกจากความหรูหราแล้วสตาร์บัคส์ยังให้สัมผัสที่ “อบอุ่น” ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า จะได้รับความพึงพอใจ และความสม่ำเสมอเช่นเดิม ซึ่งหากสังเกตดูการตกแต่งภายในจะพบว่า “สตาร์บัคส์” ให้ความรู้สึกคล้ายกับการอยู่บ้านมากที่สุด ไม่ได้ต้องการให้ลูกค้ารีบร้อนเดินออกจากร้านทันทีที่ได้รับเครื่องดื่ม แต่ต้องการเป็นสถานที่ที่ให้ความอบอุ่นปลอดภัย เป็น “Third place” ที่ทุกคนต้องนึกถึง

-บรรยากาศภายในร้าน “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย”-

อย่างไรก็ตาม แบรนด์เองก็เคยพบเจอกับ “จุดเปลี่ยน” ที่ช่วยยกระดับความเป็น “Third place” ไปอีกขั้น ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ร้านได้ประกาศนโยบายใหม่ที่มีผลกับสาขาทั่วโลกคือ ทุกคนสามารถเข้ามานั่งภายในร้าน หรือใช้บริการได้ตามอัธยาศัย แม้จะไม่ได้ซื้อสินค้าเลยก็ตาม โดยที่มาของการประกาศครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังจากกรณีที่มีชายผิวดำสองคนขอเข้าห้องน้ำในร้าน “สตาร์บัคส์” เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา แต่ถูกพนักงานปฏิเสธเนื่องจากทั้งคู่ไม่ได้ซื้อสินค้าของทางร้าน

เหตุการณ์ครั้งนั้นกระทบกับภาพลักษณ์แบรนด์ไม่น้อย ถูกตีความ และตั้งคำถามว่า อาจเข้าข่ายพฤติกรรม “เหยียดเชื้อชาติ” หรือไม่ กระทั่ง “โฮวาร์ด ชูลทส์” (Howard Schultz) ประกาศปิดร้านกว่า 8,000 แห่งในสหรัฐ เพื่อฝึกอบรมพนักงานเกือบ 175,000 คน โดยเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับ “อคติด้านเชื้อชาติ” เพราะก่อนหน้านี้สตาร์บัคส์ขาดนโยบายที่ชัดเจน และให้อิสระแต่ละสาขาในการตัดสินใจว่า ต้องทำอย่างไรหากเจอกับสถานการณ์ต่างๆ เนื่องจากสตาร์บัคส์ให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “Ownership” หรือความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของแก่พนักงาน การตัดสินใจสำคัญๆ หลายอย่างจึงไม่ได้เป็นนโยบายโดยตรงจากฝ่ายบริหาร ซึ่งหากมองในแง่หนึ่งก็อาจสร้างความคลาดเคลื่อนต่อคนทำงานได้โดยง่าย 

เมื่อเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับ “คน” การแก้ไขปัญหาของสตาร์บัคส์จึงเริ่มต้นจากการปรับทัศนคติของคนในองค์กรก่อน หลังจากนั้น “สตาร์บัคส์” จึงมีนโยบายใหม่โดยให้ถือว่า ทุกคนที่เข้ามานั่งในร้านเป็นลูกค้าแม้จะไม่ซื้ออะไรเลยก็ตาม โดย “เควิน จอห์นสัน” (Kevin Johnson) ผู้บริหารระดับสูงของ “สตาร์บัคส์” ประกาศย้ำชัดว่า ร้านต้องการสร้างวัฒนธรรมที่แสนอบอุ่น และเป็นสถานที่ ที่ยินดีต้อนรับทุกคนอย่างแท้จริง

  • “Brand Loyalty” เหนียวแน่น แม้เศรษฐกิจซบ ร้านก็ไม่สะเทือน

ปี 2565 เป็นต้นมา ทั่วโลกต้องเผชิญกับ “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” ที่ถูกทิ้งร่องรอยไว้หลังการแพร่ระบาดใหญ่จบลง แม้กระทั่งประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยไปได้ โดยเฉพาะ “อัตราเงินเฟ้อ” ตัวแปรสำคัญในการทำลายดัชนีการบริโภคภายในประเทศให้ซบเซาหนักขึ้นไปอีก พฤติกรรมการซื้อของผู้คนเริ่มเปลี่ยน หันจับจ่ายเพียง “สินค้าจำเป็น” มากขึ้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้กลับไม่สามารถทำอะไรกับยอดขายของ “สตาร์บัคส์” ได้

-“โฮวาร์ด ชูลทส์” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร “สตาร์บัคส์” เครดิตภาพจาก “Forbes”-

รายงานข่าวจากสำนักข่าว “บิซิเนส อินไซเดอร์” ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อ และราคาสินค้าในท้องตลาดที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ได้ทำให้ลูกค้าสตาร์บัคส์เลิกดื่ม “แฟรปปูชิโน่” ได้เลย โดย “โฮวาร์ด ชูลทส์” กล่าวกับนักลงทุนในการรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2565 ว่า ยังไม่มีหลักฐานการใช้จ่ายใดๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า ลูกค้าซื้อกาแฟน้อยลง เขาพบว่า “ดีมานด์” ของร้านยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มราคาขึ้นอีก 5% ในปี 2564 ก็ตาม 

“ชูลทส์” ระบุว่า ลูกค้าสตาร์บัคส์ไม่ได้หันไปใช้บริการแบรนด์ที่มีราคาถูกกว่าแต่อย่างใด ความนิยมในกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะบรรดา “Gen Z” ไม่ได้สร้างขึ้นมาง่ายๆ มองว่า ข้อได้เปรียบของ “สตาร์บัคส์” เมื่อเทียบกับคู่แข่งคือ การปรับแต่งเครื่องดื่ม หรือ “Customized” ได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะเมนูเครื่องดื่มเย็น 

แต่ถึงอย่างนั้นสตาร์บัคส์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มองว่า หากอนาคตเศรษฐกิจยังชะลอตัว ต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอีก และทางร้านจำเป็นต้อง “ปรับราคา” บริษัทก็จะเน้นไปที่การอัดโปรโมชันส่วนลด และเพิ่มความคุ้มค่าให้กับสมาชิกแทน รวมถึงการพัฒนาระบบงาน และปรับปรุงพื้นที่ครัวให้สะดวก ลดความซับซ้อน ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับพนักงาน และตอบสนองความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ในคราวเดียวกัน

 

อ้างอิง: Business Insider 1, Business Insider 2, CNN, Cross Lake Coffee, Starbucks Thailand, Startista, Washington Post, Your Dream Coffee

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...