TDRI ชี้ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ

“มังกรทอง” เป็นคำที่ถูกใช้เรียกแทนปี 2567  โดยคาดการณ์กันว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ปรากฎว่าสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานว่าสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น รวมไปถึงจีน ยังคงมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ ถึงแม้จะไม่สูงอย่างช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

ส่วนภาวะเงินเฟ้อของโลก IMF ประเมินว่าอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์กว่า ซึ่งราคาสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นแต่เป็นการเพิ่มในอัตราที่ช้าลงจากในช่วงปีก่อน อัตราเงินเฟ้อที่สูงได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยโลกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่กระนั้น “จุดสูงสุด” ของอัตราดอกเบี้ยโลกจะอยู่ถึงแค่ช่วงต้นปี 2567 นี้เท่านั้น ก่อนที่ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯจะลดลง แต่เป็นการลดในอัตราไม่มากนัก คาดว่าลดลงไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ในปลายปีนี้ 

 


แน่นอนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้มากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจไทยปี 2566  ขยายตัวที่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ แต่หากรัฐเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามากระตุ้นเพิ่มก็มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะโตเพิ่มขึ้นอีกครึ่งเปอร์เซ็นต์ ทำให้ภาพรวมการขยายตัวอยู่ที่ 3.5 – 3.8 เปอร์เซ็นต์  


ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย รายรับจากการท่องเที่ยว ที่จะสูงกว่าปีที่แล้ว โดยปีนี้ประมาณการว่านักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 35 ล้านคน จาก 28 ล้านคนในปี 2566  โดยเงินจากการท่องเที่ยวจะกระจายไปผู้ประกอบการในภูมิภาค และร้านค้าขนาดเล็ก  


อีกปัจจัยหนึ่งคือการส่งออก ในปีที่ผ่านมาการส่งออกของไทยหดตัวลงประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ แต่ปีนี้การส่งออกไปยังประเทศหลักๆอย่าง จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น จะสูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ 


การลงทุน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทิศทางในปีนี้จะมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศมากขึ้นจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) ทำให้นักลงทุนต้องการกระจายความเสี่ยง โดยย้ายฐานการผลิตบางส่วนมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งจะเห็นว่าทั้งบริษัทญี่ปุ่น บริษัทไต้หวัน หรือ แม้แต่บริษัทจีนเอง ได้ย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศจีน มาอยู่ในประเทศอาเซียนรวมถึงไทยด้วย เพราะการส่งออกจะไม่โดนกีดกันทางการค้าเท่ากับสินค้าที่ส่งออกจากจีน  


ขณะเดียวกันในช่วงเดือนพฤษภาคมหลังจากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 มีผลบังคับใช้ จะมีเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐลงมาในระบบจำนวนมาก ประมาณ 2-3 แสนล้านบาท และหากพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตผ่าน (ซึ่งคิดเป็นประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเศรษฐกิจไทย)  การจับจ่ายใช้สอยจากเงินก้อนนี้จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น แต่เมื่อหักอัตราเงินเฟ้อออกไปแล้ว คาดว่าจะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณครึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้น


นอกจากนี้ผลการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์หลายชิ้นพบว่า นโยบายในลักษณะนี้ ผู้ที่มีรายได้ปานกสางถึงสูงจะไม่นำเงินที่ได้รับไปใช้จ่ายเป็น “ส่วนเพิ่ม”  จากการจับจ่ายตามปกติ แต่จะเก็บเงินของตัวเองไว้และไปใช้จ่ายด้วยเงินของภาครัฐแทน รวมทั้งมีเงินบางส่วนไหลออกนอกประเทศจากกรณีการซื้อสินค้านำเข้า ซึ่งจากประสบการณ์ของญี่ปุ่น และไต้หวัน ที่เคยใช้วิธีการนี้ต่างพบว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่ากับเงินที่ลงไป และไม่ได้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเท่าที่ควร


ความเสี่ยงของมังกร
“ภูมิรัฐศาสตร์” เป็นความเสี่ยงสูงสุดของปีนี้ ทั้งภาวะสงครามในยูเครน หรือในตะวันออกกลาง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในสงครามเทคโนโลยี 


อัตราเงินเฟ้อในปีนึ้มีแนวโน้มที่จะขยับขึ้นจากปีที่แล้ว โดยธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการเอาไว้ว่าเงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ประมาณ 2.2 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 1.2 เปอร์เซ็นต์ในปีที่แล้ว ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศมาจากการขึ้นค่าแรง และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต เช่นพลังงานที่ไทยต้องนำเข้ามาจากตะวันออกกลาง โดยหากความไม่สงบในตะวันออกกลางขยายวงกว้างก็จะกระทบกับราคาน้ำมันที่อาจจะพุ่งสูงขึ้นไปเกิน 100 เหรียญต่อบาร์เรลเลยทีเดียว 
นอกจากนี้ยังราคาพืชผลทางการเกษตรที่สูงขึ้นจากปรากฎการณ์เอลนีโญและภัยแล้ง รวมไปถึงอัตราค่าขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์โจรสลัดโจมตีเรือพาณิชย์ในทะเลแดงด้วย
ขณะที่ความเสี่ยงในประเทศซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น นอกจากจะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ และ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยแล้ว ยังทำให้หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มมากขึ้น มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทยและต้นทุนทางการเงินของประเทศไทย เนื่องจากตัวเลขของหนี้สาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดอันดับเรตติ้งของประเทศไทย โดยขณะนี้ไทยถูกจัดเรตติ้งที่ BBB+ หากถูกจัดอันดับลดลงจะเป็น BBB  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดหุ้นและพันธบัตร ที่สำคัญหากจะมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศจะต้องแบกรับกับภาระที่สูงขึ้นเพราะเรตติ้งที่ลดลงทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น 
อยู่ให้รอดกับมังกร


แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ดูดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่มีความเสี่ยงที่จะต้องเฝ้าระวังอยู่หลายประการ อย่างไรก็ตามยังมีโอกาสในบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจสีเขียว ซึ่งจะเติบโตต่อไปตามเทรนด์ของโลก ส่วนในไทยธุรกิจค้าปลีกจะขยายตัวจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวในประเทศ และจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต  อย่างไรก็ตามด้วยความไม่แน่นอนทั้งในเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อไทย จึงควรมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการมีธุรกิจ หรือมีทักษะในการทำงานมากกว่าหนึ่งอย่าง เพื่อให้อยู่รอดในปีมังกร ที่ยังไม่รู้ว่าเป็น “มังกรทอง” ตามที่มีการเรียกขานหรือเป็น “มังกรไฟ”? 


บทความโดย ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก ทีดีอาร์ไอ
 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...