เปิด 3 ปมขย่มแบงก์ชาติ ‘นายกฯ-ผู้ว่า’ นัดเคลียร์ หารือแบบผู้ใหญ่คุยกัน

Key Points

  • ความเห็นทางเศรษฐกิจที่แย้งกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำมาสู่การเชิญผู้ว่าฯ เข้ามาหารือที่ทำเนียบรัฐบาล
  • ที่ผ่านมามีความเห็นแย้งกันหลายประเด็น เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในทิศทางขาลง ถือเป็นต้นทุนของผู้มีเงินกู้
  • นายกนัฐมนตรีเชิญผู้ว่าฯ มาหารือเป็นครั้งที่ 2 เพื่อชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป และเห็นว่าไม่ควรมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ความเห็นแย้งทางเศรษฐกิจระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาเป็นระยะนับตั้งแต่นายเศรษฐาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีจะออกมายืนยันว่ารัฐบาลไม่มีความขัดแย้งในการทำงานร่วมกัน แต่ยังคงมีข่าวการปลดผู้ว่า ธปท.ออกมาเป็นระยะ หลังจากมีประเด็นที่รัฐบาลและ ธปท.มีความเห็นแย้งกันใน 3 ประเด็น คือ

1.การแจกเงินดิจิทัล โดย ธปท.เห็นว่าไม่ควรแจกเป็นการทั่วไป ในขณะที่ช่วงแรกรัฐบาลมีนโยบายแจกให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน จะใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท

2.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยมีทิศทางลดลงมาตั้งแต่ช่วงครึ่งปลังของปี 2566 ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% รวมเป็น 2.50% เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2566 และในการประชุม กนง.วันที่ 29 พ.ย.2566 ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

3.การลดเป้าหมาย GDP ในขณะที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดย กนง.มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 27 ก.ย.2566 มาอยู่ที่ 2.50% และในขณะที่ปรับลดประมาณการณ์ GDP เหลือ 2.8% ซึ่งรัฐบาลเห็นแย้งการขึ้นดอกเบี้ยสวนทางการลดเป้า

การเห็นต่างระหว่างรัฐบาลและ ธปท.นำมาสู่แนวปฏิบัติของนายเศรษฐา ในการเชิญผู้ว่า ธปท.มาหารืออย่างไม่เป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีตั้งใจที่จะหารือลักษณะนี้เดือนละ 1 ครั้ง และหารือครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2566การหารือครั้งดังกล่าว นายกรัฐมนตรีให้คำนิยามว่า “เป็นการหารือของผู้ใหญ่ 2 คนคุยกัน” โดยเป็นการหารือในฐานะที่ ธปท.เป็นผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ รวมทั้งยืนยันว่า ไม่ใช่การจัดฉากและไม่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและ ธปท.

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2567 นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุถึงใช้นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยกระทบเศรษฐกิจและมีผลต่อประชาชน

"ดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงกระทบเศรษฐกิจ และคาดหวังแบงก์ชาติจะดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางเงินเฟ้อ"

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า ระหว่างรัฐบาลและ ธปท.หารือกันต่อเนื่องเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ถือเป็นอำนาจของ ธปท.

สถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การที่นายกรัฐมนตรีเชิญผู้ว่า ธปท.มาหารืออย่างไม่เป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งที่ 2 เพื่อหารือเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและปัญหาหุ้นกู้ผิดนัดชำระ

นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2567 ว่า จะมีการหารือกับผู้ว่า ธปท.ในวันที่ 10 ม.ค.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล ในหลายประเด็นที่ให้ความสำคัญเพื่อนำข้อมูลมานำเสนอกัน รวมทั้งจะหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังด้วย

สำหรับประเด็นความเห็นต่างเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นายเศรษฐา กล่าวว่า คนอยู่บ้านเดียวกันเห็นไม่ตรงกันก็หลายอย่าง ซึ่งเชื่อว่าหลายฝ่ายมีจุดประสงค์เดียวกัน คือ ต้องการให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น แต่การปฏิบัติการหรือนโยบายมันมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างเป็นธรรมดาจึงต้องมีการพูดคุยกัน

“เดือน ธ.ค.ไม่ได้พูดคุยกัน แต่ยกหูโทรศัพท์คุยกัน ผมนัดไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา และผู้ว่า ธปท.ตอบรับโดยดี ไม่มีเรื่องอะไร เป็นเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน แน่นอนไม่ปฏิเสธว่าเห็นตรงกันทุกเรื่อง ผมเชื่อว่าผู้ว่าเห็นตรงกันกับผมบางเรื่อง ผมเห็นตรงกับผู้ว่าบางเรื่อง แต่บางเรื่องเห็นไม่ตรงกัน เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปเยอะ เป็นหน้าที่ผมที่ต้องโน้มน้าวความคิดเห็นของผู้ว่าถึงเหตุการณ์เปลี่ยนไป คนที่อยู่ร่วมกันธรรมดา เราก็ต้องพูดคุยกันเป็นธรรมดา“ นายกฯ กล่าว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในประเด็นดอกเบี้ยนโยบายคาดว่านายกรัฐมนตรีอาจใช้โอกาสในการประชุมร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เพื่อหารือสถานการณ์ดอกเบี้ย ซึ่งมีทั้งสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าร่วมประชุม

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...