120 วัน รัฐบาล ‘เศรษฐา’ ขัดแย้ง ธปท. 2 ปมร้อน ‘เงินดิจิทัล-ดอกเบี้ย’

ข่าวการปลดนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาเป็นระยะนับตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วง 120 วัน ที่ผ่านมา และบางครั้งนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันว่ารัฐบาลไม่มีความขัดแย้งในการทำงานร่วมกัน

“เป็นเรื่องที่ตลกมาก ผมไม่เคยมีความคิดและคราวนี้ไม่แน่ใจว่ามีข่าวได้อย่างไร เคยเจอผู้ว่า ธปท.ก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่พรรคเพื่อไทยเพื่อหารือ Digital Wallet ได้ให้ข้อเสนอแนะ ผมน้อมรับมา และได้เจอกันที่กระทรวงการคลังวันที่มอบนโยบาย คือทุกคนไปพูดว่านายกรัฐมนตรีไม่มีสิทธิที่จะไปไล่ผู้ว่า ธปท.” นายเศรษฐา กล่าวเมื่อวันที่ 21 ก.ย.2566

ถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะออกมายืนยันอย่างชัดเจนไปแล้วแต่หลังจากนั้นยังคงมีข่าวการปลดผู้ว่า ธปท.ออกมาเป็นระยะถึงปัจจุบัน

นอกจากข่าวการปลดผู้ว่า ธปท.แล้วในช่วงที่ผ่านมาระหว่างรัฐบาลและ ธปท.มีความเห็นไม่ตรงกันใน 2 ประเด็น คือ

1.การแจกเงินดิจิทัล โดย ธปท.เห็นว่าไม่ควรแจกเป็นการทั่วไป ในขณะที่ช่วงแรกรัฐบาลมีนโยบายแจกให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน จะใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท

2.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยมีทิศทางลดลงมาตั้งแต่ช่วงครึ่งปลังของปี 2566 ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% รวมเป็น 2.50% เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2566 และในการประชุม กนง.วันที่ 29 พ.ย.2566 ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

การเห็นต่างระหว่างรัฐบาลและ ธปท.นำมาสู่แนวปฏิบัติของนายเศรษฐา ในการเชิญผู้ว่า ธปท.มาหารืออย่างไม่เป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีตั้งใจที่จะหารือลักษณะนี้เดือนละ 1 ครั้ง และหารือครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2566

การหารือครั้งดังกล่าว นายกรัฐมนตรีให้คำนิยามว่า “เป็นการหารือของผู้ใหญ่ 2 คนคุยกัน” โดยเป็นการหารือในฐานะที่ ธปท.เป็นผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ รวมทั้งยืนยันว่า ไม่ใช่การจัดฉากและไม่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและ ธปท.

“การหารือมีทั้งเรื่องที่ผมเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราก็ต่างเป็นผู้ใหญ่กัน จะเห็นตรงกันทุกเรื่องคงเป็นไปไม่ได้ แต่ก็พูดคุยกันด้วยเหตุและผล” นายเศรษฐา กล่าวเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2566

ในขณะที่นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงการหารือดังกล่าวว่า มีบางเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน เพราะสวมหมวกคนละใบ แต่มีการแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ฝ่าย โดย ธปท.มีกรอบการทำงานในการดำเนินนโยบายการเงินที่มี กนง.และคณะกรรมการหลายชุด รวมทั้งมีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง

ล่าสุดเมื่อวันที่  8 ม.ค.2567 นายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่านแอพลิเคชัน X ระบุถึง แบงก์ชาติ ใช้นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ย กระทบเศรษฐกิจและมีผลต่อประชาชน สวนทางกับเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงกระทบเศรษฐกิจ และคาดหวังแบงก์ชาติจะดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางเงินเฟ้อ 

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า ระหว่างรัฐบาลและ ธปท.หารือกันต่อเนื่องเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ถือเป็นอำนาจของ ธปท.

สถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การที่นายกรัฐมนตรีเชิญผู้ว่า ธปท.มาหารืออย่างไม่เป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งที่ 2 เพื่อหารือเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและปัญหาหุ้นกู้ผิดนัดชำระ

"จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ ธปท.ในหลายๆ เรื่อง ร่วมถึงกรณีหุ้นกู้เอกชนด้วย เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญ และเอาข้อมูลมาหยิบยกคุยกัน" นายเศรษฐา กล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...