‘หุ้นกู้‘ ระทึกรัฐจ่อตั้งกองทุนพยุง จับตา ‘ไฮยีลด์‘ ครบดีลอื้อ

Key Points :

  • “หุ้นกู้ครบกำหนด” ซึ่งปีนี้จะมีสูงถึง 1 ล้านล้าน อาจมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน “กลุ่มไฮยีลด์” ที่จะครบกำหนดราว 5 หมื่นล้าน
  • ในไตรมาสแรกของปี 67 จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดรวมเกือบ 1.9 แสนล้าน ในจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้ระดับที่ลงทุนได้หรือ Investment Grade ราว 148,824 ล้าน
  • ระดับ Non-Investment Grade อีกประมาณ 20,404 ล้าน และหุ้นกู้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับเรทติ้ง หรือ Non-Rated อีกประมาณ 17,662 ล้าน
  • ปัญหาหุ้นกู้เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาจัดตั้งกองทุนรับซื้อหุ้นกู้ที่มีปัญหา จะมีลักษณะคล้ายกองทุน BSF ทำหน้าที่รักษาสภาพคล่องของระดับทุนตลาดตราสารหนี้

 

 

หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความเป็นห่วงในประเด็น “หุ้นกู้ครบกำหนด” ซึ่งปีนี้จะมีสูงถึง 1 ล้านล้านบาท อาจมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน “กลุ่มไฮยีลด์” ที่จะครบกำหนดราว 5 หมื่นล้านบาท 

เนื่องจากธุรกิจที่มีการออกหุ้นกู้ไฮยีลด์ มีความสามารถในการชำระหนี้หุ้นกู้ครบกำหนดลดลงตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ครบกำหนดได้ และความเสี่ยงต่ออายุหุ้นกู้ (Roll-over risk) เพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การผิดนัดชำระหุ้นกู้เพิ่มขึ้น 

จากการรวบรวมข้อมูลของทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ พบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2567 จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดรวมเกือบ 1.9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้ระดับที่ลงทุนได้หรือ Investment Grade ราว 148,824 ล้านบาท ระดับ Non-Investment Grade อีกประมาณ 20,404 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับเรทติ้ง หรือ Non-Rated อีกประมาณ 17,662 ล้านบาท 

เท่ากับว่าในไตรมาสแรกปี 2567 มีหุ้นกู้ “ไฮยีลด์ บอนด์” (High Yield) ซึ่งก็คือกลุ่ม Non-Investment Grade กับ Non-Rated รวมกันประมาณ 38,066 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ในกลุ่มของภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก

ทั้งนี้ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวเกิดขึ้นมากมายบนโลกโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับหุ้นกู้ของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD โดยระบุว่า ITD เตรียมจะขอพักจ่ายเงินต้นหุ้นกู้ ITD ทุกรุ่นไปอีก 2 ปี โดยที่ระหว่างทางจะยังจ่ายดอกเบี้ยอยู่ ซึ่งหุ้นกู้ ITD มีทั้งหมด 5 รุ่น รวมมูลค่า 14,455 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ 3 รุ่น ได้แก่ 

* รุ่น ITD242A ครบกำหมด 15 ก.พ.2567 มูลค่า 2,000 ล้านบาท

* รุ่น ITD242DA ครบกำหนด 4 ธ.ค.2567 มูลค่า 2,455 ล้านบาท

* รุ่น ITD24DB ครบกำหนด 4 ธ.ค.2567 มูลค่า 1,215 ล้านบาท

ส่วนที่เหลืออีก 2 รุ่น ครบกำหนดในปี 2568 และ 2569 ตามลำดับ ได้แก่ รุ่น ITD254A ครบกำหนด 29 เม.ย.2568 มูลค่า 6,000 ล้านบาท และ รุ่น ITD266A ครบกำหนด 2 มิ.ย.2568 มูลค่า 2,785 ล้านบาท

แหล่งข่าวสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า จากกระแสข่าว ITD ขอพักจ่าย หุ้นกู้ ทุกรุ่น 2 ปี เป็นการพักจ่ายเงินต้นแต่ยังคงจ่ายดอกเบี้ยนั้น ถือเป็นเงื่อนไขที่ไม่ปกติ ซึ่งทาง ITD จำเป็นต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ขออนุมัติเงื่อนไขดังกล่าวก่อน โดยผู้ถือหุ้นกู้ ITD ต้องพิจารณาว่าจะให้ยืดอายุ หรือจะ call default แบบไหนดีกว่ากัน

       ขณะเดียวกันรายงานข่าวจากบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จะมีการส่งหนังสือแจ้งรายละเอียดการเลื่อนชำระให้กับผู้ถือหุ้นกู้ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2567 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้จะรับทราบรายละเอียด โดยเฉพาะรุ่นที่กำลังจะครบกำหนดในวันที่ 15 ก.พ.2567

***ห่วงกลุ่มอสังหาฯ จับตากลางม.ค. นี้

ด้านแหล่งข่าววงการตลาดทุน กล่าวว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นกลุ่มที่ออกหุ้นกู้จำนวนมาก มีอสังหาริมทรัพย์บางรายที่ต้นสัปดาห์หน้าจะครบกำหนดจ่ายเงินต้นหุ้นกู้ล๊อตใหญ่หลักพันล้านบาท ซึ่งบางบริษัทได้เตรียมเงินรองรับการไถ่ถอนไว้เรียบร้อยแล้ว แต่บางบริษัทยังต้องดูว่าจะหาเงินมาสำรองจ่ายได้ทันหรือไม่ เพราะแม้สินทรัพย์หมุนเวียนจะสูงกว่าหนี้สินหมุนเวียน แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสินค้าคงเหลือที่ระบุว่าเป็นต้นทุนจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะแปลงกลับมาเป็นเงินสด ช่วงกลางเดือนม.ค.เป็นอีกช่วงเวลาอันตรายของตลาดหุ้นกู้

แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า ปัญหาหุ้นกู้เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาจัดตั้งกองทุนรับซื้อหุ้นกู้ที่มีปัญหา จะมีลักษณะคล้ายกับกองทุน BSF ทำหน้าที่รักษาสภาพคล่องของการระดับทุนในตลาดตราสารหนี้ โดยถูกจัดตั้งขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเรื่องดังกล่าว

**ก.ล.ต. ย้ำไม่ใช่ทุกตัวเสี่ยงเบี้ยวหนี้

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า หุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปี 2567 ไม่ใช่ทุกตัวที่จะสุ่มเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด แต่ถือว่าเป็นหนึ่งในประเด็นความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นกู้ไฮยีลด์เพราะอาจยังมีบางกลุ่มธุรกิจที่ยังมีความเปราะบางได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจภาพรวมชะลอตัวในปีนี้ และดอกเบี้ยยังอยู่ระดับสูงนาน ทำให้ความสามารถชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอ่อนแอลงไปบ้าง

อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าหากในปีนี้ภาวะเศรษฐกิจภาพรวม มีการฟื้นตัวดีขึ้น ความเสี่ยงเหล่านี้จะค่อยๆ คลี่คลายลงตามลำดับ และบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นกู้ของนักลงทุนจะดีขึ้นด้วย แต่ต้องไม่มีประเด็นการทุจริตของบริษัทเกิดขึ้นมาอีกเหมือนกับปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน ก.ล.ต. และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยติดตามสถานการณ์ในตลาดหุ้นกู้อย่างใกล้ชิดยังไม่พบสัญญาณความเสี่ยงดัง

ส่วนการปรับเพิ่มหลักเกณฑ์กำกับดูและออกหุ้นกู้ไฮยีลด์ให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อคุ้มครองนักลงทุนยังอยู่ระหว่างการรอนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต. พิจารณาจากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปีนี้ 

“ตอนนี้เรามีการติดตามสถานการณ์เข้มงวดมากขึ้น ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับในตลาดหุ้นกู้ อย่างความร่วมมือกับไทยบีเอ็มเอในการให้ข้อมูลธุรกิจ งบการเงิน โดยมีระบบการตรวจสอบความอ่อนแอทางด้านการเงิน เพื่อนำข้อมูลมาเปิดเผย ให้กับนักลงทุนมากขึ้น รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปติดตามดูแลว่า ธุรกิจดังกล่าวมีการเตรียมความพร้อมทางการเงินไว้รองรับอย่างไรบ้าง และหุ้นกู้ไฮยีลด์ จะเพิ่มมาตรฐานที่ให้คุ้มครองนักลงทุนมากขึ้น” 

อย่างไรก็ตามในปีนี้มีหุ้นกู้ครบกำหนดจำนวนมากถึง 1 ล้านล้านบาท และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ นอกเหนือจากความเสี่ยงของการต่ออายุหุ้นกู้ (Roll-over risk) ที่จะมีเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกของปี 2567 และเซนต์

ทริเมนต์นักลงทุนที่แย่ลง ทางออกของปัญหาเหล่านี้ จะพบว่าธุรกิจที่ระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ได้ไม่ครบตามเป้ามีแนวโน้มหันมาพึ่งพาเงินกู้จากสถาบันการเงินแทน  

**หุ้นกู้ครบดีลกระจุกตัวครึ่งปีแรก

จากการวิเคราะห์โดย SCB  EIC ระบุว่า หุ้นกู้ครบกำหนดปี 2567  มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.07 ล้านล้านบาท (รวมทั้งหุ้นกู้ระยะสั้นและหุ้นกู้ระยะยาว) แบ่งตามเครดิตเรตติ้ง ในกลุ่ม Investment Grade  มีมูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนด 900,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน  85% และกลุ่ม Non-Investment Grade มีมูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนด 160,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15%   

ทั้งนี้ มูลค่หุ้นกู้ที่ครบกำหนดใน 2567 จะกระจุกตัวอยู่ในไตรมาส 1 และ ไตรมาส   2 ปี 2567 ระดับ 300,000 ล้านบาทต่อไตรมาส หรือรวม 2 ไตรมาสแล้ว มีมูลค่าหุ้นกู้ที่ครบกำหนดราว 620,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นกลุ่ม Non-Investment Grade ราว 83,000 ล้านบาท  

หุ้นกู้กลุ่มธุรกิจที่จะครบกำหนดปี 2567 ใน 3 อันดับแรกนำทีมโดย ธุรกิจไฟแนนซ์ (นอนแบงก์) อยู่ที่ 196,588 ล้านบาท รองลงมาเป็น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อยู่ที่ 180,833 ล้านบาท และ กลุ่มพลังงาน อยู่ที่ 130,248 ล้านบาท โดยหากแยกเฉพาะกลุ่ม Non-Investment Grade ใน 3 อันดับแรก นำโดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 61,221 ล้านบาท สัดส่วน 33.9% รองลงมาเป็นนอนแบงก์ 50,928 ล้านบาท สัดส่วน 25.9% และพลังงาน 3,450 ล้านบาท สัดส่วน 2.6% และกลุ่มอื่นๆ อยู่ที่ 44,049 ล้านบาท สัดส่วน 7.8% 

ทั้งนี้ จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า นักลงทุนเลี่ยงหุ้นกู้กลุ่ม BBB และ High yield ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และนอนแบงก์   

**กลุ่มอสังหาฯ ความสามารถชำระน้อยลง

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ เป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามในปีนี้  เนื่องจากจะมีหุ้นกู้ครบกำหนดจำนวนมากเกือบ 1 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่กระจุกตัวค่อนข้างมากในช่วงครึ่งแรกของปี และส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ Non-Investment Grade ราว 50% ของหุ้นกู้ที่ครบกำหนดทั้งหมด 

ทั้งนี้ ในภาวะดอกเบี้ยยังอยู่ระดับสูงในปีนี้ ทำให้มีความเสี่ยงที่ธุรกิจไม่สามารถต่ออายุหุ้นกู้ได้ง่าย โดยเฉพาะธุรกิจที่ยังสุ่มเสี่ยงได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ และไฟแนนซ์ ซึ่งอาจมีความสามารถในการชำระหนี้หุ้นกู้ลดลง หากภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้าและยังมีการตั้งสำรองหนี้เสียค่อนข้างสูง 

นางสาวอริยา ติรณประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า การที่ทุกฝ่ายมีความกังวลปี 2567 ภาคธุรกิจความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้นตามมูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนดสูงขึ้นกว่าปีนี้ใกล้ระดับ 1 ล้านล้านบาท หรือตัวเลขของสมาคมฯ อยู่ที่ระดับ 8.9 แสนล้านบาทนั้น ถือว่าความกังวลดังกล่าวเป็นไปภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดี ทำให้โอกาสเกิดผิดนัดชำระหุ้นกู้สูงกว่าในภาวะเศรษฐกิจปกติ หรือปรับตัวดี ดังนั้น คงต้องติดตามความเสี่ยงดังกล่าวต่อไปในปีนี้ 

ขณะนี้เริ่มเห็นหลายบริษัทที่จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดในปี 67 พยายามหาแหล่งเงินสำรองจากที่อื่นๆ มาเสริมสภาพคล่องและเพื่อให้ทันรอบการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ได้ตามที่กำหนด เพราะไม่ต้องการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ทำให้เสียประวัติ หรือเรียกเปิดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขอมติยืดระยะเวลาชำระหนี้ครบกำหนดออกไป ปรับโครงสร้างดอกเบี้ยและเงื่อนไขต่างๆ จ่ายหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่ครบกำหนดให้ได้ 

ดังนั้น ความเสี่ยงการโรลโอเวอร์หุ้นกู้ดังกล่าวจะเหมารวมตลาดหุ้นกู้ทั้งระบบ หรือ แม้แต่หุ้นกู้ไฮยีลด์ทุกตัวเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ไปทั้งหมดคงไม่ได้ ต้องพิจารณาและวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาหุ้นกู้เป็นรายตัว โดยนักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ และคัดเลือกลงทุนหุ้นกู้คุณภาพระดับ Investment Grade ก็จะปลอดภัย

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...