เจาะลึกหนี้สาธารณะไทย 11 ล้านล้านบาท "การคลังไทย" ยังปลอดภัยหรือไม่?
วันที่ส่ง: 06/01/2024 - ผู้เขียน: กรุงเทพธุรกิจ
ตัวเลข "หนี้สาธารณะ" ต่อระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่ใช้วัดความยั่งยืนทางการคลัง แต่ละประเทศจะมีการกำหนดเพดานหนี้สาธารณะเพื่อไม่ให้รัฐบาลก่อหนี้มากเกินไป โดยในส่วนของประเทศไทยกำหนดเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไว้ที่ไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี
"กรุงเทพธุรกิจ" สำรวจรายงาน "แผนการคลังระยะปานกลางของประเทศไทย" (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าได้มีการให้ข้อมูลหนี้สาธารณะของประเทศไทยทั้งในปัจจุบัน และคาดการณ์ระดับหนี้สาธารณะต่อไปอีก 5 ปีข้างหน้า โดยยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ระดับหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยคาดการณ์หนี้สาธารณะ และระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปีต่างๆ ดังนี้
- ปี 2567 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 11.83 ล้านล้านบาท คิดเป็น 62.71% ต่อจีดีพี
- ปี 2568 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 12.66 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.73% ต่อจีดีพี
- ปี 2569 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 13.44 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.23% ต่อจีดีพี
- ปี 2570 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 14.12 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.07% ต่อจีดีพี
- ปี 2571 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 14.75 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.61% ต่อจีดีพี
โครงสร้างหนี้สาธารณะไทยเป็นอย่างไร?
ทั้งนี้หนี้สาธารณะของไทยในปี 2566 ณ เดือน ก.ย.2566 ตามที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634.20 ล้านบาท คิดเป็น 62.44% ของ GDP โดยมีองค์ประกอบของหนี้สาธารณะดังนี้
- หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 9,154,364.25 ล้านบาท
- หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund: FIDF) 625,422.50 ล้านบาท
- หนี้รัฐวิสาหกิจ 1,076,922.26 ล้านบาท
- หนี้รัฐวิสาหกิจ ที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 213,508.27 ล้านบาท
- หนี้หน่วยงานของรัฐ 61,416.92 ล้านบาท
หนี้สาธารณะไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศ
อย่างไรก็ตามโครงสร้างของหนี้สาธารณะของไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศ จาก หนี้สาธารณะคงค้าง จำนวน 11, 131,634.20 ล้านบาท แบ่งออกเป็น
- หนี้ในประเทศ 10,973,453.15 ล้านบาท 98.58% ของหนี้สาธารณะคงค้าง
- หนี้ต่างประเทศ 158,181.05 ล้านบาท 1.42% ของหนี้สาธารณะคงค้าง
หนี้สาธารณะไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว
หนี้สาธารณะคงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือแบ่งเป็น
- หนี้ระยะยาว 9,514,321.57 ล้านบาท 85.47% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
- หนี้ระยะสั้น 1,617,312.63 ล้านบาท 14.53% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
ความต้องการกู้เงินของรัฐบาลเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้รายงาน ครม.ถึงแนวทางการบริหารหนี้สาธารณะ ตามแผนการคลังระยะปานกลาง โดยแผนการคลังระยะปานกลาง กำหนดให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการกู้เงินในกรณีที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปี 2563 - 2564 ส่งผลให้รัฐบาลมีความจำเป็นในการระดมทุนเพิ่มขึ้น
โดยความต้องการกู้เงินระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 - 2571) มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 9,261,696 ล้านบาท ประกอบด้วย
- การกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 776,696 ล้านบาท)
- การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 3,485,000 ล้านบาท
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีภารกิจที่สำคัญในการกู้เงิน ให้ครบตามความต้องการในแต่ละปีเพื่อตอบสนองนโยบายการคลังดังกล่าว และกำกับติดตามให้หนี้สาธารณะมีความยั่งยืนภายใต้ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งได้กำหนดกรอบเพดานสัดส่วนตัวชี้วัดทางการคลัง ในการบริหารหนี้สาธารณะไว้ 5 ด้าน โดยสถานะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 ยังอยู่ภายใต้เพดานที่กำหนด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
กรอบความยั่งยืนทางการคลัง
1.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 62.44% โดยเพดานกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 70% เพื่อควบคุมให้การก่อหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจสอดคล้องกับระดับรายได้ของประเทศในแต่ละช่วงเวลา
2.สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ อยู่ที่ 26.39% โดยเพดานกำหนดไว้ที่ไม่เกิน35% เพื่อควบคุมให้ภาระหนี้ของรัฐบาลและหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาล รับภาระทั้งในส่วนของภาระดอกเบี้ยจ่ายและเงินต้นที่ครบกำหนดสอดคล้องกับประมาณการรายได้ของรัฐบาล
3.สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด อยู่ที่1.42% โดยเพดานกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 10% เพื่อควบคุมการก่อหนี้ต่างประเทศที่ถือเป็นหนี้สาธารณะไม่ให้ สูงเกินไปจนอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
4.สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ของประเทศ อยู่ที่ 0.05% โดยเพดานกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 5% เพื่อควบคุมการชำระหนี้สาธารณะที่เป็น เงินตราต่างประเทศให้สอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
5.สัดส่วนงบประมาณเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระการชำระหนี้ อยู่ที่ 3.14% โดยกำหนดกรอบวินัยในการชำระคืนต้นเงินกู้ของหนี้ที่ รัฐบาลรับภาระ ไม่น้อยกว่า 2.5% แต่ไม่เกิน 4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อไม่ให้เป็นการผลักภาระการชำระหนี้ที่ควรจะต้องชำระในแต่ละปีงบประมาณออกไปในอนาคต
ในขณะเดียวกันกระทรวงการคลังได้กำกับและติดตามต้นทุนการกู้เงินอันได้แก่ ภาระดอกเบี้ยจ่าย ของหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลรับภาระซึ่งเป็นภาระต่องบประมาณในส่วนงบรายจ่ายประจำไม่ให้ สูงเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการจัดสรรงบประมาณในหมวดอื่น ๆ เช่น งบลงทุนของรัฐบาลเพื่อสนับสนุน การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ สบน. ได้กำหนดเกณฑ์ภายในโดยกำหนดให้สัดส่วน
ภาระดอกเบี้ยจ่ายของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณไม่เกิน 10% ซึ่งอ้างอิง จากเกณฑ์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ที่เทียบเท่าระดับ A- (Upper Medium Investment Grade) โดยสถานะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 8.31% ซึ่งยังอยู่ภายใต้เกณฑ์ภายในที่กำหนด
ความเสี่ยงเรื่องหนี้สาธารณะของไทย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะและสัดส่วนหนี้เทียบต่อกรอบความยั่งยืนทางการคลังด้านต่างๆของไทยยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ แต่จากการวิเคราะห์ของสำนักงบประมาณของรัฐสภา (PBO) ระบุถึงความเสี่ยงในเรื่องหนี้สาธารณะของไทยไว้หลายข้อได้แก่
1.รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องจากการที่รายจ่ายภาครัฐ เพิ่มมากกว่าการจัดเก็บรายได้ โดยส่งผลต่อภาระงบประมาณในการชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยจาก การก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาระงบประมาณจากการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วยเช่นกัน ซึ่งควรลดภาระส่วนนี้ลง
2.พื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) และพื้นที่การงบประมาณ (Budget Space) ของ รัฐบาลมีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะและสัดส่วนภาระดอกเบี้ย ปรับเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลขาดความยืดหยุ่นในการก่อหนี้ใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหากเกิดวิกฤติ ครั้งใหม่ และขาดศักยภาพในการจัดสรรงบประมาณไปสู่รายการสำคัญอื่นๆ
3.รัฐบาลควรดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation) เพิ่มประสิทธิภาพ การจัดเก็บรายได้จัดเก็บภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง แบบพุ่งเเป้า และเพิ่มสัดส่วนงบประมาณเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้หนี้สาธารณะและกิจกรรม กึ่งการคลังต่างๆ เพื่อเพิ่ม Fiscal Space และ Budget Space
4.ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลกและโรคระบาดใหม่ อาจส่งผลต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวม GDP ให้ชะลอตัว และเนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลมีการกู้เงินเป็น จำนวนมากและสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นสูง อาจจะท าให้รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลัง ไม่เพียงพอต่อการรองรับวิกฤติในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป
5.ภาระในการใช้หนี้ของรัฐบาลสูงขึ้น วงเงินที่ตั้งไว้เพื่อบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 346,380.1 ล้านบาท เมื่อหักส่วนช าระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 118,320 ล้านบาท จะเห็นว่าดอกเบี้ยที่ต้องชำระ และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินของรัฐบาล มีจำนวนถึง 228,060.1 ล้านบาท จึงเห็นว่างบประมาณในการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปเพื่อการช าระดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการก่อหนี้ใหม่ ขณะที่การชำระคืนต้นเงินกู้ในแต่ละปีเป็นส่วนน้อย ซึ่งอาจกระทบต่อสัดส่วน หนี้สาธารณะต่อ GDP และส่งผลต่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวได้
6.โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจจาก “โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล” จะทำให้เกิดภาระทางการคลังจากหนี้สาธารณะในการจ่ายคืนต้นเงินกู้ และภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะ ซึ่งส่งผล ต่อวงเงินงบประมาณที่จะใช้จัดทำนโยบายใหม่ในปีต่อไปลดลง ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องดำเนินการโครงการฯ ด้วย ความรอบคอบให้ประสบผลสำเร็จ เพื่อให้จัดเก็บรายได้ได้ตามประมาณการ เพียงพอต่อการจัดสรรงบประมาณ ปีต่อไปในการชำระคืนต้นเงินกู้ และภาระดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยไม่สร้างภาระทางการคลังในระยะยาว
7.หนี้สินระยะยาวและหนี้สินทั้งหมดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปการกู้เงินทั้งที่เป็นหนี้สาธารณะและ ไม่ใช่หนี้สาธารณะควรคำนึงถึงความคุ้มค่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้น ความสามารถในการชำระคืนเงินต้นเงินกู้ และภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ
คำเดียวสั้นๆ "แฟนสาวจาค็อบ" พูดต่อหน้า "รถถัง" หลังชวดแชมป์โลก
เผยคำพูด แฟนสาวของ จาค็อบ สมิธ ที่พูดต่อหน้า รถถัง จิตรเมืองนนท์ หลังฟาดปากกันในศึกมวยไทย รุ่นฟลายเว...
กรมวิชาการเกษตร ระดมแผนเตรียมพร้อม ส่งลำไยเจาะตลาดจีน
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรเร่งขับเคลื่อนนโยบายผัก ผลไ...
ผลบอล "บาเยิร์น มิวนิก" ไม่พลาด บุกเชือด "ซังต์ เพาลี" รั้งจ่าฝูงบุนเดสลีกา
"เสือใต้" บาเยิร์น มิวนิก ทำได้ตามเป้า บุกมาเอาชนะ ซังต์ เพาลี เก็บ 3 คะแนนสำคัญ รั้งจ่าฝูง บุนเดสลี...
ส่องขุมทรัพย์ที่ดิน 'รถไฟ' 9.6 หมื่นล้าน จ่อประมูลสร้างรายได้เชิงพาณิชย์
การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นับเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีทรัพย์สินที่ดินทั่วประเทศจำนวนมาก และยังเป็น...
ยอดวิว