"วิโรจน์" ซัดรัฐบาล เมินวิกฤติการศึกษาไทย-โรงเรียนขนาดเล็ก พร้อมแนะทางแก้

"วิโรจน์" อภิปรายจัดหนักวิกฤติการศึกษาไทย-โรงเรียนขนาดเล็ก พร้อมแนะทางแก้ ตัดงบในส่วนที่ไม่จำเป็นไปทำประโยชน์อื่นได้อีก 15,000 ล้าน ช่วยเด็กยากจนได้ทั้งประเทศไม่หลุดจากระบบการศึกษา

เมื่อเวลา 13.34 น. วันที่ 5 มกราคม 2567 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในวาระร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เกี่ยวกับวิกฤติการศึกษาไทยที่ตกต่ำถดถอย ว่า แนวโน้มคะแนน PISA ของประเทศไทย ลดต่ำลงเรื่อยๆ อีกทั้งคนระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มองว่าไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นสไตล์ คงคาดหวังการเปลี่ยนแปลงลำบาก และการศึกษาไทยกำลังเดินหลงทาง หลักสูตรก็ไม่ถูกแก้มาหลายสิบปีแล้ว และนับวันความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีแต่จะมากขึ้น นักเรียนไทยเรียนเยอะ การบ้านแยะ แล้วยังต้องมาร่วมกิจกรรมต่างๆ กับผู้บริหารสถานศึกษา เสียเวลาเรียน

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า เด็กไทยเรียนเยอะมาก 56 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ผลสัมฤทธิ์ต่ำ แทนที่โรงเรียนจะเอาเวลามาสร้างการเรียนรู้ กลับเอามาทำกิจกรรมที่เป็นภาระ ทุกคนคงรู้จัก 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่ใช่แค่สวัสดิการรักษาพยายบาล แต่เป็นการปฏิรูประบบสุขภาพ งบดำเนินการอยู่ในกรอบภารกิจ เพื่อไม่ให้มีโครงการดึงเอาเวลาของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ไปทำอย่างอื่น โดยเชื่อว่ามีงบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่นที่ซ่อนอยู่ของกระทรวงศึกษาธิการอีกมาก หากเอาโครงการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น โครงการสร้างภาระครูผู้สอน โครงการเด็กไปทำกิจกรรมต่างๆ ออกไปจะลดงบประมาณได้กว่า 2,100 ล้านบาท หลายๆ โครงการไม่จำเป็นต้องแยกออกมาเพื่อถลุงงบประมาณ แต่หากใครเสนอตัดงบก็จะถูกต่อว่า ทั้งที่โครงการต่างๆ ล้วนมีหน่วยงานอื่นทำอยู่แล้ว หลายโครงการไม่เกี่ยวกับการศึกษา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าบางโครงการอาจเป็นโครงการที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เอามาฝากเลี้ยงไว้

...

ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็ก เป็นอีกวิกฤติที่สำคัญของไทย และยังมีโรงเรียนที่กำลังจะเล็กในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากอัตราการเกิดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อคิดงบเป็นรายหัว อย่างไรเสียโรงเรียนขนาดเล็กก็ไม่มีงบประมาณเพียงพอ นักเรียนน้อย ครูก็น้อยตาม ยากต่อการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ครูไม่สามารถเชื่อมจิตได้ เด็กในไทยกว่า 36% ที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ปีงบประมาณ 2567 กระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังไม่แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจัง การควบรวมก็ไม่ประสบผลเท่าที่ควร และน้อยลงเรื่อยๆ งบบริหารจัดการต้องมากกว่าหลักร้อยล้าน จึงมองว่ารัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้ให้ความสำคัญเลยก็ว่าได้ 

ขณะที่เงินชดเชยค่าพาหนะในการเดินทางไปโรงเรียนที่ถูกควบรวมก็น้อยมาก กระทรวงศึกษาธิการรู้อยู่แก่ใจว่าควรจะจัดรถโรงเรียนให้เด็กเหล่านี้ เพื่อลดภาระพ่อแม่ผู้ปกครอง ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาน้อยลง โดยต้องจัดสรรงบอุดหนุนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นำไปจัดสรรรถโรงเรียน แต่ถ้ายังควบรวมตามยถากรรม ต้องใช้เวลา 91 ปีเป็นอย่างน้อยกว่าจะแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้ และต้องถูกผลการทดสอบ PISA ประจานประเทศไปในเวทีโลกอีกอย่างน้อย 30 ครั้ง ถ้าเราไม่กล้าหาญที่จะบอกปัญหาตรงๆ และแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจัง ไม่มีวันที่เราจะยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยได้เลย แม้แต่ TDRI ก็ยืนยัน เหตุที่ PISA เราตกต่ำ มาจากโรงเรียนขนาดเล็ก

ทั้งนี้ หากแก้ปัญหาได้จะประหยัดงบประมาณ 12,985 ล้านบาทต่อปี และเมื่อนำมารวมกับการปรับลดงบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่นอีก 2,117 ล้านบาทต่อปี รวมกันแล้วรัฐบาลจะมีเงินจัดสรรใหม่ได้อีก 15,102 ล้านบาทต่อปี สามารถเอางบนี้ไปอุดหนุนเฉพาะกิจ 4,000 ล้านบาท ให้ อบจ.ทั่วประเทศ ทำรถโรงเรียนภายในจังหวัดให้เด็กทุกคนเดินทางร่วมกันได้ ส่วนอีก 6,600 ล้านบาท นำไปจัดสรรงบให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ช่วยเด็กยากจนพิเศษ 1.3 ล้านคน ได้รับทุนเพิ่มขึ้นเป็น 4,200 บาทต่อคนต่อปีทันที ส่วนเด็กยากจน 1.2 ล้านคนที่ตกหล่น ทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือ โดยไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาแม้แต่คนเดียว และยังเหลืองบประมาณอีก 4,500 ล้านบาทต่อปี ที่สามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาอื่นๆ ได้อีก

"ที่ผ่านมารัฐบาลนี้บอกกับประชาชนอยู่ตลอดเวลาว่า ประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งในมิติการศึกษาผมก็เห็นว่ามันวิกฤติจริงๆ แต่ไหงจัดงบออกมาแบบนี้ งบแบบนี้เหมือนกำลังบอกให้พ่อแม่ทุกคนยอมให้ลูกหลานของตัวเองเรียนหนังสือแบบเดิมๆ ในระบบการศึกษาที่สิ้นหวัง ยอมจำนนให้กับอำนาจนิยมและการกดขี่ ยอมให้หลักสูตรที่ไม่ได้ปรับปรุงเป็นหลักสูตรล้างสมอง ขโมยเวลาชีวิตไปอย่างสูญเปล่า จนสุดท้ายเด็กๆ ต้องเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองไม่กล้าคิด ไม่กล้าฝัน ไม่กล้าแม้แต่จะคิดตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ เป็นได้แค่บ่าวไพร่ที่คอยทำงานตามคำสั่งของผู้เป็นนาย แล้วก็ค่อยๆ แก่ตัว แล้วก็ตายจากไปในประเทศที่ต้องสาปแห่งนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลทั้งหมด และผมอยากอภิปรายในเรื่องการศึกษาเป็นครั้งสุดท้ายในสภาแห่งนี้ และนี่คือเหตุผลที่ผม วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ตายกลายเป็นเถ้าถ่านยังไงก็เป็นวิโรจน์ ไม่สามารถเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ฉบับนี้ได้" และจบการอภิปรายในเวลา 14.05 น.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

อเมริกันดราม่า! กองเชียร์จี้ไบเดนลาออก เปิดทาง ‘ประธานาธิบดีแฮร์ริส’ สู่ทำเนียบขาว

เว็บไซต์ Times Now รายงานว่า แม้แฮร์ริสจะยอมรับความพ่ายแพ้ไปแล้วและขอให้ผู้สนับสนุน “สู้ต่อไป” แต่บร...

อีลอน มัสก์ หนุนทรัมป์แทรกแซง 'เฟด' ชูประเด็น #EndtheFed ให้ปธน.คุมแบงก์ชาติ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์ และเป็นเจ้าของแ...

การกลับมาของวัฒนธรรม Gothic ทางเลือกของ Gen Z ท่ามกลางป๊อปคัลเจอร์

วัฒนธรรมกอธิค หรือโกธิคที่มีรากฐานมาจาก Dark Romantic ความเข้มข้นทางอารมณ์ และการแสดงออกถึงตัวตนที่แ...

คาด 'วันคนโสดจีน' 11.11 ปีนี้ ยอดขายดีขึ้น แต่แบรนด์เนมหรูยังฟื้นยาก

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เทศกาลวันคนโสด 11.11 ซึ่งเป็นเทศกาลชอปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดในรอบปีของจีน แล...