เจาะลึกดีลซื้อ ‘ปีศาจแดง’ แมนยู ของแรตคลิฟฟ์ หุ้น-อำนาจ-เงื่อนไขเทคโอเวอร์

Key Points

• จำนวนหุ้นที่แรตคลิฟฟ์ถือในปัจจุบันจะอยู่ที่ 29 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่แค่ 25 เปอร์เซ็นต์ตามรายงานข่าว ขณะที่ตระกูลเกลเซอร์นั้นทั้ง 6 พี่น้องจะเหลือหุ้นอยู่ที่ 49 เปอร์เซ็นต์

• มีข้อตกลงกันในการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ว่าหากตระกูลเกลเซอร์ตัดสินใจที่จะขายหุ้นสโมสรทั้งหมด (Full sale) ภายในระยะเวลา 18 เดือนนับจากนี้ พวกเขามีสิทธิ์จะบังคับให้แรตคลิฟฟ์ขายหุ้นคืนให้ในราคาหุ้นละ 33 ดอลลาร์

• ตระกูลเกลเซอร์จะได้รับเงินจากการขายหุ้นครั้งนี้จำนวน 1.3 พันล้านปอนด์ หรือราว 5.6 หมื่นล้านบาท


หลังการเจรจามายาวนานกว่า 13 เดือนในที่สุดตระกูลเกลเซอร์ผู้เป็นเจ้าของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้ตกลงที่จะขายหุ้นจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ให้แก่เซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทพลังงาน INEOS ผู้ร่ำรวยที่สุดของอังกฤษ

แต่การซื้อขายหุ้นครั้งนี้ไม่ได้เป็นการซื้อขายธรรมดา เพราะมีความสลับซับซ้อนในเงื่อนไขอยู่มากพอสมควรชนิดที่ต้อง “อ่าน” เงื่อนไขกันอย่างละเอียด

เริ่มต้นจากจำนวนหุ้นของสโมสรที่ตามรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศระบุว่ามีการซื้อขายกันที่ 25 เปอร์เซ็นต์นั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วจำนวนหุ้นที่แรตคลิฟฟ์ได้ในมือก็ไม่ใช่ 25 เปอร์เซ็นต์แต่อย่างใด และหุ้นของเกลเซอร์ก็ไม่ได้เหลือ 75 เปอร์เซ็นต์ด้วย
 

จำนวนหุ้นที่แรตคลิฟฟ์ได้มาครอง?

เนื่องจากแมนฯ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรฟุตบอลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค (MANU) หุ้นของสโมสรจึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน

ส่วนแรก Class A คือหุ้นส่วนที่มีการเปิดให้ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ อีกส่วนคือ Class B ซึ่งเป็นหุ้นที่ครอบครัวเกลเซอร์ถือครองเป็นหลักและมีอำนาจในการโหวตสูงกว่าหุ้น Class A ถึง 10 เท่า



การเข้าซื้อหุ้นของแรตคลิฟฟ์นั้นเป็นการซื้อหุ้นทั้ง Class A และ Class B จาก 6 พี่น้องตระกูลเกลเซอร์ที่จำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ (ตามรายงานข่าว) ด้วยราคา 1.03 พันล้านปอนด์ หรือราว 4.4 หมื่นล้านบาท

แต่มหาเศรษฐีผู้เป็นแฟนบอลปีศาจแดงมาตั้งแต่เด็กได้ซื้อหุ้นในส่วน Class A ด้วยอีก 4 เปอร์เซ็นต์ผ่านการลงทุนในการปรับปรุงสโมสรอีก 300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแบ่งเป็นการจ่ายเงินตอนนี้เลย 200 ล้านดอลลาร์ และจ่ายภายในปี 2024 อีก 100 ล้านดอลลาร์

นั่นหมายความว่าจำนวนหุ้นที่แรตคลิฟฟ์ถือในปัจจุบันจะอยู่ที่ 29 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่แค่ 25 เปอร์เซ็นต์ตามรายงานข่าว

ขณะที่ตระกูลเกลเซอร์นั้นทั้ง 6 พี่น้องจะเหลือหุ้นอยู่ที่ 49 เปอร์เซ็นต์ และหุ้นส่วนที่เหลือในตลาดหลักทรัพย์อีก 22 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดีคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 6-8 สัปดาห์กว่าที่กระบวนการตรวจสอบทุกอย่างจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์

มีกิมมิกเล็กๆอีกอย่างคือแรตคลิฟฟ์ ตั้งบริษัทที่ชื่อว่า “Thrawler Party” ซึ่งมาจากคำพูดของเอริค คันโตนา อดีตตำนานราชาแห่งแมนฯ ยูไนเต็ด มาจัดการเรื่องการซื้อขายหุ้นทั้งหมด 
 

อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่แรตคลิฟฟ์?

ในเรื่องอำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารสโมสรนั้น ในจำนวนหุ้นที่แรตคลิฟฟ์ได้จะทำให้พวกเขามีอำนาจในการโหวตทั้งหมด 24 เปอร์เซ็นต์ (จากหุ้นทั้ง Class A และ B) 

แต่กระนั้นทั้งสองฝ่ายได้มีการทำข้อตกลงในการส่งมอบอำนาจในการบริหารให้แก่ INEOS Sport เข้ามาดูแลในส่วนของการบริหารด้านฟุตบอล (Football operations) โดยจะดูแล 3 แผนกด้วยกัน ได้แก่

1. ทีมฟุตบอลชาย
2. ทีมฟุตบอลหญิง
3. ทีมฟุตบอลเยาวชน

ในการนี้ทำให้จะมีผู้บริหารระดับสูงที่ใกล้ชิดกับแรตคลิฟฟ์ อาทิ เซอร์เดฟ เบรลส์ฟอร์ด และฌอง-โคลด บลองก์ เข้ามานั่งในตำแหน่งบอร์ดบริหารของสโมสรด้วย

โดยเบรลส์ฟอร์ด คือมือขวาของแรตคลิฟฟ์ที่เป็นดัง “มันสมอง” จะมาดูแลในส่วนของการกำหนดกลยุทธ์และได้เป็นตัวแทนมานั่งชมเกมสุดมันที่แมนฯ ยูไนเต็ดพลิกชนะแอสตัน วิลลาได้ 3-2 ในเกม “บ๊อกซิ่งเดย์” ด้วย

ส่วนบลองก์ที่เคยผ่านการบริหารงานสโมสรระดับชั้นนำอย่างยูเวนตุส และปารีส แซงต์-แชร์กแมง คาดว่าจะได้รับตำแหน่งซีอีโอต่อจากริชาร์ด อาร์โนลด์ที่เตรียมอำลาตำแหน่งในช่วงสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ INEOS ที่เป็นเจ้าของทีมกีฬามากมายรวมถึงสโมสรฟุตบอลอย่าง นีซ ในลีกเอิง ฝรั่งเศส เตรียมที่จะหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาให้แมนฯ ยูไนเต็ดทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงการหาผู้อำนวยการสโมสรฝ่ายกีฬา (Sporting director) เข้ามาแทนที่จอห์น เมอร์เทอห์ ผู้อำนวยการคนปัจจุบันที่ผลงานเลวร้ายและถูกสื่ออย่าง The Athletic เปิดโปงความไร้ฝีมือในการบริหารจนยับเยิน

ในช่วงที่ผ่านมามีกระแสข่าวเชื่อมโยงระหว่างแมนฯ ยูไนเต็ดกับคนเก่งในวงการหลายคน อาทิ พอล มิตเชลล์ (โมนาโก) , แดน แอชเวิร์ธ (นิวคาสเซิล) และจูเลียน วอร์ด (อดีตผอ.ลิเวอร์พูล)

อีกเงื่อนไขหนึ่งที่น่าสนใจคือในระหว่างที่กระบวนการซื้อขายหุ้นกันถูกตรวจสอบจากพรีเมียร์ลีก แมนฯยูไนเต็ดมี “หน้าที่” จะต้องแจ้งทุกเรื่องให้กับฝ่ายของ INEOS ทราบและได้รับการอนุมัติก่อน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาซื้อ/ขายผู้เล่น การต่อสัญญา/การยกเลิกสัญญา ผู้เล่น ผู้จัดการทีม รวมถึงผู้อำนวยการสโมสร
 

Drag-along rights แต้มต่อของเกลเซอร์?

การขายหุ้นแค่บางส่วนแต่ยกอำนาจในการบริหารให้อีกฝ่ายที่มีความชำนาญจากการบริหารทีมกีฬารวมถึงสโมสรฟุตบอลไม่ได้แปลว่าตระกูลเกลเซอร์จะยกสโมสรให้แรตคลิฟฟ์ง่ายๆ

ในทางตรงกันข้ามเงื่อนไขสำคัญที่มีการตกลงกันคือเงื่อนไข “Drag-along rights” หรือการบังคับให้เข้าร่วมขายหุ้น

โดยมีข้อตกลงกันในการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ว่าหากตระกูลเกลเซอร์ตัดสินใจที่จะขายหุ้นสโมสรทั้งหมด (Full sale) ภายในระยะเวลา 18 เดือนนับจากนี้ พวกเขามีสิทธิ์จะบังคับให้แรตคลิฟฟ์ขายหุ้นคืนให้ในราคาหุ้นละ 33 ดอลลาร์

แต่ในทางกลับกันทางด้านแรตคลิฟฟ์ก็มีสิทธิ์ที่จะคัดค้านการขายหุ้น Class B ของเกลเซอร์ในช่วงระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้เช่นกัน หรือพูดง่ายๆคือหากเกลเซอร์คิดจะขายขึ้นมา แรตคลิฟฟ์มีสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นเป็นคนแรกนั่นเอง

ในประเด็นนี้ถูกจับตามองว่าเป็นการเปิดช่องสำหรับการเทคโอเวอร์สโมสรทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพียงแต่ ณ เข็มนาฬิกาเดินไปยังไม่มีสัญญาณว่าสมาชิกทั้ง 6 คนของตระกูลเกลเซอร์คิดจะปล่อยขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าที่พวกเขาได้มาครอบครองตั้งแต่ปี 2005 แต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอื่นๆอีก อาทิ

• ตระกูลเกลเซอร์จะได้รับเงินจากการขายหุ้นครั้งนี้จำนวน 1.3 พันล้านปอนด์ หรือราว 5.6 หมื่นล้านบาท 

• จำนวนเงินดังกล่าวมาจากการขายหุ้น Class B 715 ล้านปอนด์ และในหุ้น Class A 465 ล้านปอนด์ รวมถึงเงินปันผลอีก 150 ล้านปอนด์

• แต่ภายหลังจากนี้ตระกูลเกลเซอร์จะไม่ได้รับเงินปันผลจากสโมสรอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี

• จำนวนเงิน 300 ล้านดอลลาร์ (232 ล้านปอนด์) ที่แรตคลิฟฟ์อัดฉีดเข้ามาจะใช้สำหรับการปรับปรุงสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด และศูนย์ฝึกซ้อมที่แคร์ริงตัน 

• ตามแผนแล้วแรตคลิฟฟ์หวังจะปรับปรุงสนามใหม่ทั้งหมดและเพิ่มความจุให้เป็น 90,000 ที่นั่ง ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินอีก 800 ล้านปอนด์ 

• แต่ผู้รับเหมาเจ้าดังอย่าง Populous ที่มีผลงานสร้างสนามใหม่ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ สเตเดียมม ซึ่งเป็นสนามฟุตบอลในระดับโลกแนะนำว่าควรลงทุนสร้างสนามใหม่ในบริเวณที่ดินของสโมสรที่คาดว่าจะใช้งบ 2 พันล้านปอนด์ แล้วจึงค่อยทุบโอลด์ แทรฟฟอร์ดที่มีอายุปัจจุบัน 113 ปีทิ้ง

เรียกได้ว่าเป็นดีลการซื้อขายหุ้นสโมสรฟุตบอลที่มีความสลับซับซ้อนอยู่พอสมควร ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นสิ่งที่แฟนปีศาจแดงคาดหวังว่าเจ้าของสโมสรที่พวกเขามองว่าเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างตระกูลเกลเซอร์จะถูกขับไล่ออกไป แต่อย่างน้อยก็เหมือนการเริ่มต้นใหม่เล็กๆ

ที่เพียงแค่มีข่าวยืนยันการขายหุ้นทีมก็โชว์พลังฮึดพลิกชนะทีมแกร่งอย่างแอสตัน วิลลา โดยได้ประตูชัยจากกองหน้าที่ยิงในพรีเมียร์ลีกไม่ได้เลยอย่างราสมุส ฮอยลุนด์ได้เลยทีเดียว!

...

อ้างอิง - telegraph 1, telegraph 2 , telegraph 3 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...