เที่ยวปีใหม่ ‘คนไทย’ แน่นญี่ปุ่น! แนวโน้มปี 67 มาแรงแตะ 1.5 ล้านคน

ยกเว้นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อการชอปปิงสินค้าแบรนด์เนมบ้าง ทำให้คนไทยปรับตัวเน้นชอปปิงสินค้าอุปโภคบริโภคเชิงไลฟ์สไตล์แทน

เจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จุดหมายปลายทางที่โดดเด่นในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 คนไทยเลือกไปเที่ยวมากเป็นอันดับ 1 คือ “ญี่ปุ่น” ทั้งตลาดกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) และกรุ๊ปทัวร์ เนื่องจากไม่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบเลย! รองลงมาคือ “จีน” ที่หลังจากเปิดประเทศ ก็เริ่มโปรโมตเมืองท่องเที่ยวต่างๆ มากขึ้น ตามมาด้วยเวียดนาม และ สปป.ลาว ส่วนจุดหมายในยุโรป พบว่าต้องการนักท่องเที่ยวไปใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการอนุมัติวีซ่าแก่คนไทยให้ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น

“ญี่ปุ่นเป็นจุดหมายปลายทางที่คนไทยเลือกไปเที่ยวแบบไม่แผ่วเลย แม้จะเคยไปกันแล้ว แต่ก็ยังเลือกเดินทางซ้ำต่อเนื่อง เพื่อสัมผัสประสบการณ์ในอีกหลายๆ เมือง หรือเมืองหลักเช่นเดิม แต่เพิ่มเติมคือเก็บรายละเอียดในย่านการท่องเที่ยวที่น่าสนใจแบบลึกซึ้งขึ้นไปอีก ส่งผลให้ตลอดปี 2566 สมาคมฯ คาดว่าจะมีคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นทะลุ 1 ล้านคน”

ขณะที่ปี 2567 คาดจะมีจำนวนคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มเป็น 1.2-1.5 ล้านคน ใกล้เคียงหรือดีกว่าสถิติ 1.3 ล้านคนเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดด้วยซ้ำ!

เนื่องจากสถานการณ์ “ราคาตั๋วเครื่องบิน” เริ่มปรับตัวลดลง หลังมีสายการบินเข้ามาเปิดเส้นทางใหม่มากขึ้น ทำให้ซัพพลายที่นั่งโดยสารในตลาดเพิ่มขึ้น บวกกับญี่ปุ่นเป็นจุดหมายที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมนักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT ได้ดีอยู่แล้ว หรือแม้แต่ตลาดกรุ๊ปทัวร์เองก็ยังมีลูกค้าเดินทางอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือปัจจัย “เงินเยนอ่อนค่า” ช่วยสนับสนุนกำลังซื้อคนไทยในการชอปปิง

“สมาคมฯ มองด้วยว่าในปี 2567 ยังไม่เห็นประเทศหรือจุดหมายที่จะมาเป็นคู่ต่อสู้กับญี่ปุ่นได้แบบสูสี”

อย่าง “ไต้หวัน” ที่ล่าสุดเห็นทำการตลาดอย่างหนัก แม้จำนวนคนไทยจะเติบโตบ้าง แต่ก็ไม่หวือหวา เพราะลักษณะสินค้าท่องเที่ยวใกล้เคียงกับญี่ปุ่น ทำให้คนไทยบางส่วนยอมจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้เที่ยวญี่ปุ่นเลย

ขณะที่ “เกาหลีใต้” ยังคงได้รับผลกระทบจากประเด็นดราม่า “แบนเที่ยวเกาหลี” ทำให้คนไทยรู้สึกว่ามีความไม่แน่นอนในการเดินทางจากปัญหาการกรอกข้อมูลลงระบบและการอนุมัติการเข้าเมืองของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เกาหลีใต้ จึงประเมินว่าตลาดคนไทยเที่ยวเกาหลีใต้น่าจะทรงตัวในปี 2567

ทั้งนี้ สมาคมฯ ประเมินภาพรวมว่าตลอดปี 2567 จะมีจำนวนคนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น 5-10% จากฐานที่คาดว่าจะได้ 8-10 ล้านคนในปี 2566 โดยจะยังไม่กลับไปเท่ากับภาวะปกติเมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาด เนื่องจากยังต้องจับตาปัจจัย “เศรษฐกิจโลก” ว่า “อัตราดอกเบี้ย” ในภาพรวมจะปรับลดลงมากน้อยแค่ไหน ถ้าลดลง ก็จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อกำลังซื้อด้านการท่องเที่ยวของคนไทยให้มีมากขึ้น

รายงานข่าวจาก “องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น” (JNTO) รายงานสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 2566 ระบุถึงตลาด “นักท่องเที่ยวไทย” ว่ามีจำนวนเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นสะสม 869,800 คน ฟื้นตัว 75.4% เมื่อเทียบกับจำนวน 1,154,041 คนของช่วงเดียวกันเมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาด มากเป็นอันดับ 6 รองจากเกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน ฮ่องกง และสหรัฐตามลำดับ เฉพาะเดือน พ.ย. พบว่ามีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปญี่ปุ่น 114,100 คน ฟื้นตัว 81.3% เมื่อเทียบกับจำนวน 140,265 คนของเดือน พ.ย. 2562

ก่อนหน้านี้ ผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลก ฉบับล่าสุดประจำปี 2566 ของ “วีซ่า” (Visa Global Travel Intentions Study 2023) รายงานว่า ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวไทยสนใจจะไปเยือนมากที่สุดในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี 2566

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า 10 จุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยในปี 2566 ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร ไต้หวัน สปป.ลาว และฝรั่งเศส

สำหรับปัจจัย 5 อันดับแรกที่เป็นแรงจูงใจให้ออกเดินทางในอีก 12 เดือนข้างหน้าคือ เพื่อการผ่อนคลาย 67% การชอปปิง 41% การเปิดประสบการณ์และเรียนรู้สิ่งใหม่ 37% การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลให้แก่ตนเอง 26% และความต้องการออกไปผจญภัย 25%

ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า นักเดินทางใช้บัตรแทนเงินสดอย่างแพร่หลายสำหรับการเตรียมตัวก่อนออกเดินทาง โดยเฉพาะการใช้จ่ายรายการหลักในการเดินทาง เช่น การสำรองที่พักล่วงหน้า 78% และตั๋วเครื่องบิน 62% ขณะที่เมื่ออยู่ที่สถานที่ท่องเที่ยวในต่างแดน นักท่องเที่ยวเลือกที่จะใช้จ่ายผ่านบัตรไปกับการชอปปิง 44% ออกไปรับประทานอาหาร 41% และทำกิจกรรมต่างๆ 40%

จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันนักเดินทางชาวไทยส่วนมาก 78% แสดงให้เห็นว่าพวกเขาใส่ใจในเรื่องความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไป ทั้งยังทราบด้วยว่าค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ตามเกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม 43% บอกว่าพวกเขาไม่น่าจะปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางใดๆ และ 95% ของผู้ทำแบบสอบถามยังคงวางแผนเดินทางท่องเที่ยวต่อไป

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...