‘ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก 2.0’ การปฏิวัติเกมลูกหนังที่ยังทำไม่สำเร็จ

Key Points

•    A22 ได้เสนอแผนสำหรับการจัดตั้งซูเปอร์ลีก ในเวอร์ชั่นอัพเดตที่มีความแตกต่างจากแผนฉบับเดิมที่ออกมาเมื่อปี 2021 อย่างสิ้นเชิง โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ เช่น จำนวนทีมเพิ่มจาก 20 ทีม เป็น 64 ทีม และมี 3 ดิวิชั่น ได้แก่ Star (16 ทีม), Gold (16 ทีม) และ Blue (32 ทีม)

•    ข่าวร้ายสำหรับซูเปอร์ลีกคือการที่สโมสรดังในพรีเมียร์ลีกนำโดยแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (หนึ่งในตัวตั้งตัวตี), เชลซี, แมนเชสเตอร์ ซิตี, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, ลิเวอร์พูล (แสดงจุดยืนช้ากว่าเพื่อน) รวมถึงสโมสรในลีกอื่นๆอาทิ บาเยิร์น มิวนิค, แอตเลติโก มาดริด, โรมา ต่างทยอยกันออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่ขอเข้าร่วมด้วย

•    สิ่งที่เป็นปัญหาของซูเปอร์ลีกในเวลานี้คือการขาดความรู้สึกหรือเป้าหมายร่วมกันของโลกฟุตบอล ซูเปอร์ลีกถูกมองว่าเป็นหนทางดิ้นรนหนีตายของมหาอำนาจอย่างเรอัล มาดริดและบาร์เซโลนา

การอ่านคำพิพากษาของศาลยุติธรรมยุโรป (European of Justice) ในคดีการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายของบริษัทยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก และฟากของสถาบันทางเกมลูกหนังอย่างยูเอฟา (และฟีฟา) สร้างความตื่นตะลึงให้แก่คนในวงการฟุตบอลมากพอสมควร

นั่นเพราะศาลได้ตัดสินว่าการที่ยูเอฟาและฟีฟาได้กระทำการขัดขวางนักฟุตบอลและสโมสรฟุตบอลไม่ให้เข้าร่วมแข่งขันในรายการ “ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก” หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “ซูเปอร์ลีก” ที่มีเรื่องมีราวกันเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2021 ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายการแข่งขันของสหภาพยุโรป

ในความหมายของศาลไม่ต่างอะไรจากการกดไฟเขียวให้สามารถจัดตั้งรายการแข่งขันฟุตบอลใหม่ขึ้นมาได้ และถูกมองว่านี่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทำให้ฉากทัศน์ของโลกฟุตบอลเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลเหมือนเมื่อครั้งที่ศาลยุโรปตัดสินให้ฌอง มาร์ค-บอสแมน อดีตนักฟุตบอลเบลเยียมได้รับชัยชนะเหนือสโมสรเมื่อปี 1995 ที่กลายเป็นการปลดแอกระบบทาสของนักเตะ และทำให้นักฟุตบอลสามารถโยกย้ายทีมได้อย่างอิสระเสรี

แต่ที่สุดแล้วดูเหมือนคำตัดสินของศาลในเรื่องนี้ยังไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเกมลูกหนังขึ้นมาได้ตามที่คาด 

เรื่องนี้เกิดจากเหตุผลใด?


ซูเปอร์ลีกโฉมใหม่ที่ไฉไลขึ้น?
ทันทีที่ได้ฟังคำตัดสินของศาล ทางด้านบริษัท A22 ในฐานะบริษัทที่รับหน้าที่ดูแลซูเปอร์ลีกได้มีการประกาศชัยชนะเหนือองค์กรลูกหนังอย่างยูเอฟาทันที พร้อมย้ำว่า “สิ้นสุดยุคผูกขาดของยูเอฟาแล้ว” 

จากนั้นพวกเขาได้เสนอแผนสำหรับการจัดตั้งซูเปอร์ลีก ในเวอร์ชั่นอัพเดตที่มีความแตกต่างจากแผนฉบับเดิมที่ออกมาเมื่อปี 2021 อย่างสิ้นเชิง โดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

1. จำนวนทีมเพิ่มจาก 20 ทีม เป็น 64 ทีม
2. มีการเพิ่มจำนวนดิวิชั่นเป็น 3 ดิวิชั่น ได้แก่ Star (16 ทีม), Gold (16 ทีม) และ Blue (32 ทีม)
3. มีระบบการเลื่อนชั้น-ตกชั้น 
4. ไม่มีสมาชิกถาวรเหมือนในแผนเวอร์ชั่นแรก (ซึ่งเป็นจุดที่มีการต่อต้านอย่างหนัก)
5. มีซูเปอร์ลีกสำหรับฟุตบอลหญิงด้วย
6. การเลือกทีมที่จะเข้าร่วมจะดูจากด้านของเกมกีฬาเป็นหลัก

การปรับเปลี่ยนนี้มาจากความพยายามของ A22 ที่หารือร่วมกับสโมสรฟุตบอลในยุโรปอย่างเปิดใจมาเป็นระยะเวลานาน เพื่อไม่ให้ “พลาด” เหมือนในครั้งที่ผ่านมาซึ่งมีสโมสรที่จะได้รับประโยชน์จริงๆอยู่เพียงแค่ทีมสมาชิกร่วมก่อตั้ง 12 + 3 ทีม (ที่ยังไม่เปิดตัวในเวลานั้น) ที่จะเป็นสมาชิกถาวร

A22 ยืนยันว่าซูเปอร์ลีกเป็นรายการที่เปิดกว้างสำหรับทุกสโมสร และต้องการให้ทุกทีมได้มีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตใหม่ของวงการฟุตบอลยุโรปไปด้วยกัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้อำนาจของยูเอฟา องค์กรที่พวกเขามองว่าเป็น “มาเฟียลูกหนัง” ที่ไม่มีความโปร่งใสอีกต่อไป

ที่สำคัญคือนี่เป็นรายการแบบ fan-centric คิดทุกอย่างโดยมีแฟนบอลเป็นหัวใจ และจะเปิดให้แฟนบอลได้ชมเกมฟุตบอลดีๆแบบนี้ฟรีๆด้วย

ไม่มีเสียงตอบรับจากสโมสรที่ท่านเรียก
แต่ข่าวร้ายสำหรับซูเปอร์ลีกคือการที่เหมือนจะไม่มีใครเอาด้วยกับพวกเขาเลย

สโมสรดังในพรีเมียร์ลีกนำโดยแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (หนึ่งในตัวตั้งตัวตี), เชลซี, แมนเชสเตอร์ ซิตี, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, ลิเวอร์พูล (แสดงจุดยืนช้ากว่าเพื่อน) รวมถึงสโมสรในลีกอื่นๆอาทิ บาเยิร์น มิวนิค, แอตเลติโก มาดริด, โรมา ต่างทยอยกันออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่ขอเข้าร่วมด้วย

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจหรือเกินความคาดหมายนัก เพราะเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้หลายสโมสรไม่คิดว่าจะเข้าร่วมด้วยคือพลังจากแฟนฟุตบอลที่เป็นเหมือนภูเขาไฟที่ข้างในอัดแน่นไปด้วยลาวาและแม็กมามากมายมหาศาล

การล้อเล้นกับความรู้สึกของแฟนบอลทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ทั่วยุโรปมาแล้วเมื่อครั้งมีการประกาศก่อตั้งซูเปอร์ลีกครั้งแรกในเดือนเมษายน 2021 โดยเฉพาะสโมสรอย่างเชลซี, อาร์เซนอล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

อีกเหตุผลคือภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ต่างอะไรจากการก่อกบฎของสโมสรฟุตบอล ทางด้านยูเอฟาได้มีความพยายามที่จะกระชับอำนาจ ออกกฎต่างๆเพื่ออุดช่องโหว่ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันอีก รวมถึงความร่วมมือจากองค์กรฟุตบอลในประเทศ เช่น พรีเมียร์ลีก, บุนเดสลีกา, ลาลีกา ที่ขู่พร้อม “ตัด” ทีมที่จะเข้าร่วมออกจากกองมรดก

มีการแซวกันถึงขั้นว่าซูเปอร์ลีกจะมีแค่ 2 ทีมคือเรอัล มาดริด และบาร์เซโลนา สองสโมสรยักษ์ใหญ่ที่เป็นตัวตั้งตัวตีที่ยืนยันว่าโปรเจ็คต์นี้จะต้องเกิดขึ้นให้ได้เพราะมันเกี่ยวกับความมั่นคงของวงการฟุตบอลยุโรปในภาพรวม

แต่เอาเข้าจริงก็อาจจะไม่ได้มีแค่ 2 ทีม เพราะมีสโมสรที่ให้ความสนใจเช่นกัน โดยยังมี พีเอสวี ไอนด์โฮเฟน, ฟเยนอร์ด, เบซิคตัส, เรด สตาร์ เบลเกรด, นาโปลี, เอฟซี ปอร์โต, เบนฟิกา และยูเวนตุส ที่เคยเป็นหนึ่งในแกนหลักของซูเปอร์ลีกแม้ว่าจะโดนบีบให้ถอนตัวเมื่อปีกลายก็ตาม
    
ซูเปอร์ลีกจะเป็นความจริงได้ไหม?
ถึงดูแล้วโอกาสที่จะเกิดรายการซูเปอร์ลีกยังดูเป็นเรื่องยากในระดับใกล้เคียงกับคำว่าเป็นไปไม่ได้ (ที่ทำให้อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานยูเอฟาถึงกับหัวเราะเยาะ) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสที่รายการอย่างซูเปอร์ลีกจะเกิดขึ้นจริงในอนาคต

สิ่งที่เป็นปัญหาของซูเปอร์ลีกในเวลานี้คือการขาดความรู้สึกหรือเป้าหมายร่วมกันของโลกฟุตบอล

ซูเปอร์ลีกถูกมองว่าเป็นหนทางดิ้นรนหนีตายของมหาอำนาจอย่างเรอัล มาดริดและบาร์เซโลนาซึ่งประสบปัญหาทางการเงินอย่างแสนสาหัส (โดยเฉพาะทีมหลังที่มีโอกาสจะโดนแบนจากการเข้าแข่งแชมเปียนส์ ลีกในฤดูกาลหน้าเพราะทำผิดกฎทางการเงิน) 

แต่หากมองให้ลึกลงไป สิ่งที่ฟลอเรนติโน เปเรซ และโจน ลาปอร์ตา ประธานทีม “ราชันชุดขาว” กับ “เจ้าบุญทุ่ม” พยายามจะบอกคือขณะนี้โลกมีซูเปอร์ลีกมาสักพักแล้ว และนั่นคือพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ซึ่งมีอำนาจทางการเงินมากมายมหาศาลเพราะทำรายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทิ้งห่างลีกคู่แข่งไปหลายเท่าตัว

หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปสมดุลของการแข่งขันในยุโรปจะสูญไป สโมสรจากชาติอื่นจะขาดศักยภาพในการแข่งขัน และจะไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน

เพียงแต่เรื่องดังกล่าวดูเหมือนจะไกลตัวและไกลใจของแฟนบอลหลายคนในเวลานี้ 

ในโครงสร้างของซูเปอร์ลีกเองก็มีจุดที่เป็นปัญหาเช่นกัน
• ทีมในดิวิชันสูงสุดคือ Star จะการันตีสถานะ 3 ปีถึงจะเริ่มมีการปรับตกชั้น
• จำนวนทีมที่เพิ่มขึ้นหมายถึงมี “ตัวหาร” เงินรางวัลเพิ่มขึ้น และอาจจะได้น้อยกว่าที่คาด

ดังนั้นนี่เป็นโจทย์ที่ทาง A22 ต้องหาทางปรับแต่งให้รูปแบบการแข่งขันลงตัวกว่านี้ เพื่อดึงดูดทีมให้เข้าร่วมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เสียงมีน้ำหนักมากพอ หนักแน่นพอที่จะทำให้ทุกคนหันมามองซูเปอร์ลีกในมุมมองใหม่

แล้วรอจังหวะที่ดีที่สุดที่ประกาศการจัดตั้งใหม่ ไม่ฝืนดันทุรังต่อไป

จะว่าไปก็คล้ายกับเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลเหมือนกัน มันอาจจะต้องใช้ระยะเวลามากกว่านี้เพื่อประสานสิบทิศ รวมถึงทิศสำคัญที่สุดอย่างนักลงทุน (ซึ่งเดิมมี เจพี มอร์แกน เป็นแบ็คอัพด้วย) ซึ่งมันอาจจะกลายเป็นความพยายามที่สูญเปล่า

แต่อย่างน้อยนี่สุดนี่คือการเริ่มต้นก้าวแรก และก้าวแรกสำคัญเสมอ

อ้างอิง - reuters , espn , theguardian 1, theguardian 2 , theguardian 3 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...