ตัวอย่างสนามกีฬา

สัมผัสจิตวิญญาณโอลิมปิกที่ สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่นใหม่ ผ่านรูปแบบและแนวคิดการก่อสร้าง “Unity in Diversity”

มาเยือนญี่ปุ่นทริปนี้ นอกจากประชุมความร่วมมือด้านการส่งเสริม Sports Tourism ในไทย ผมยังได้มีโอกาสมาสัมผัสความยิ่งใหญ่ของสนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่นใหม่ที่ก่อสร้างขึ้นรองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ด้วยครับ

สนามกีฬาแห่งชาติใหม่นี้ ถูกสร้างขึ้นทดแทนสนามกีฬาแห่งชาติเดิม ซึ่งเคยใช้จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ปี ค.ศ.1964 ซึ่งเป็นโอลิมปิกแรกที่จัดในทวีปเอเชีย แต่อาคารเดิมนั้น รองรับผู้ชมได้ไม่ถึง 60,000 ที่นั่ง และมีหลังคาบังแดดแค่ด้านเดียว จึงจำเป็นต้องสร้างสนามกีฬาใหม่ ขึ้นมาทดแทนสำหรับการแข่งขันในปี 2020 ครับ

สนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่นี้ ใช้งบประมาณก่อสร้างไป 47,500 ล้านบาท รองรับผู้ชมได้ 68,000 คน ออกแบบโดยสถาปนิกญี่ปุ่น เคนโก คุมะ (Kengo Kuma) ที่ชนะการประกวดด้วยโครงสร้างที่ถูกออกแบบมาด้วยแนวคิดหลักของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 นั่นคือ “Unity in Diversity (เอกภาพในความหลากหลาย)” ให้ “กลมกลืน” และ “อ่อนน้อม” ต่อชุมชนเมืองและสถานที่สำคัญโดยรอบ

สนามกีฬาแห่งนี้ จึงมีความสูงเพียง 47.4 เมตร มีขนาดย่อมกว่าสนามโอลิมปิกทั่วไปในประเทศอื่น มีหลังคาคลุมที่นั่งทั้งหมดรอบทิศ มีการปลูกต้นไม้ขนาดกลางและขนาดเล็กมากกว่า 47,000 ต้น ในบริเวณสนามกีฬา และมีการใช้ไม้จาก 47 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่นมาเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบ

โดยนำองค์ประกอบและรูปทรงของเจดีย์ญี่ปุ่นสมัยเอโดะ-เมจิ มาผสมผสานกับวัสดุสมัยใหม่ ออกแบบให้มี “ช่องระบายอากาศแนวนอน” โดยรอบอาคาร มาเชื่อมองค์ประกอบของอาคารให้เกิดความต่างระดับของความสูงในแต่ละชั้นของอัฒจันทร์

ทำให้อาคารสนามกีฬานี้เกิดการระบายอากาศ โดยรอบอาคาร โดยเฉพาะในส่วนของอัฒจันทร์ อากาศถ่ายเทได้ดี

โซนที่นั่งทั้ง 3 ชั้น มีแนวลาดเอียงขึ้นไปตามระดับของความสูง ทำให้ทุกที่นั่งมีมุมมองโดยรวมที่ชัดเจน ไม่ถูกบดบัง ตัวสนามกีฬารองรับผู้พิการและรถเข็นวีลแชร์ สามารถเข้าถึงตัวอาคารและชั้นที่นั่งได้อย่างสะดวกสบาย

ได้มาสัมผัสด้วยตาตัวเองแบบนี้ ประทับใจในรายละเอียดและคุณภาพความเป็นญี่ปุ่นมากๆครับ โดยในวันที่ผมไปเยี่ยมชม มีการจัดแข่งขันกีฬาเยาวชน ญี่ปุ่นพอดีด้วย ได้เห็นว่าเขาใช้สนามคุ้มค่าแค่ไหน ในการเปิดเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในชาติ

ยิ่งเห็นแล้วมีไฟและแรงบันดาลใจในการกลับไปทำงานเพื่อพัฒนาวงการท่องเที่ยวและกีฬาบ้านเรา อยากให้บ้านเรามีโอกาสได้ปรับปรุงและพัฒนาสนามกีฬาแห่งชาติให้มีคุณภาพสูงและเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน

โดยเฉพาะเยาวชนแบบนี้ด้วยเช่นกันครับ

@@@@@@

ข้อความข้างต้นแชร์มาจากเฟซบุ๊ก ณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช กิ๊ก ของ ณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ที่บอกเล่าประสบการณ์การไปดูงานสนามกีฬาโอลิมปิกของญี่ปุ่นมาให้เราได้ทราบกัน

แน่นอนว่าญี่ปุ่นเน้นรายละเอียดเหล่านี้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำมาปรับใช้ ไม่ว่าสนามที่มีอยู่ จะหากิจกรรมอะไรมาเสริมเพิ่ม ให้สิ่งที่มีอยู่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ที่สุด

หรือหากวันหน้าจะต้องสร้างใหม่ จะทำอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่า

อย่างที่ควรจะเป็น...

ฟ้าคำราม

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...