‘โลกแบ่งขั้ว’ 'BRICS' รับสมาชิกเพิ่ม โจทย์ท้าทาย ‘ไทย’ สมัครเข้าร่วม

การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศบริกส์(BRICS) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค.2566 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นที่น่าจับตาในไทยเมื่อนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนประเทศไทย เดินทางไปร่วมในฐานะประเทศที่สนใจร่วมเข้าเป็นพันธมิตรกลุ่มBRICS Plus

ปัจจุบันBRICSมีสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ โดยกำลังจะพัฒนาเป็นBRICS Plus ซึ่งมีประเทศที่ยื่นสมัครเข้ามา 22 ประเทศ รวมถึงไทยด้วยและจะพัฒนาสกุลเงินBRICS เพื่อลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์

ล่าสุดประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ประกาศ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ “บริกส์” เตรียมรับ 6 สมาชิกใหม่ปี 2567ซาอุดีอาระเบีย, ยูเออี และอิหร่านร่วมด้วย

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานถ้อยแถลงของประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา แห่งแอฟริกาใต้ แจ้งต่อการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศBRICS ที่นครโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมว่า ตัดสินใจเชิญอาร์เจนตินา, อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย, และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เข้าเป็นสมาชิกเต็มตัว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์และวิชาการอิสระด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวถึงแนวคิดที่ประเทศไทยจะเข้าร่วม "กลุ่มBRICS" ซึ่งกำลังมีบทบาทในเศรษฐกิจโลกและเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นในปัจจุบันจากเดิมที่มีบทบาทเพียงแค่การรวมกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อถ่วงดุลกับกลุ่มประเทศที่เป็นขั้วมหาอำนาจเดิม (G7) ที่มีสหรัฐและหลายประเทศในสหภาพยุโรปเป็นแกนนำในปัจจุบัน

ทั้งนี้ แม้ว่ากลุ่ม BRICS จะมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น และมีฐานประชากรกว่า 40% ของประชากรโลก ซึ่งขณะนี้มีการพูดถึงการใช้สกุลเงินท้องถิ่นและลดการใช้ดอลลาร์ เพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจและกลไกทางการเงินที่กำหนดโดยสหรัฐ แต่ยังไม่สามารถลดบทบาทของเงินดอลลาร์ในระบบการเงินโลกได้มากนัก

จับตาบทบาท BRICS ถ่วงดุลอิทธิพลอเมริกา 

อย่างไรก็ตามการรวมตัวกันในปัจจุบันถูกจับตาว่ากำลังเป็นการเคลื่อนไหวของหลายประเทศที่ต้องการรวมตัวกัน เพื่อถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มนี้มีรัสเซียและจีนให้ประเทศที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ถูกจับตาเป็นพิเศษจากสหรัฐ และจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากสหรัฐด้วย ซึ่งหากดูจากรายชื่อประเทศที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกของ BRICS ล่าสุดล้วนเป็นประเทศที่มีสัมพันธ์ไม่ราบรื่นกับสหรัฐ เช่น คิวบาและอิหร่าน

รวมทั้งหากไทยเข้าร่วมกับกลุ่ม BRICS จะต้องระวัง คือ การดึงการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงจากสหรัฐที่อยากจะให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ เทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ ควอนตัมคอมพิวติ้งค์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งสหรัฐเป็นผู้นำในเทคโนโลยีดังกล่าว

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีความพยายามเคลื่อนย้ายเทคโนโลยีดังกล่าวที่ลงทุนในประเทศจีนออกไปลงทุนในประเทศอื่น หรือกลับไปลงทุนในสหรัฐ โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่รัฐบาลสหรัฐจับตาเป็นพิเศษเพราะเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนที่ยาวมากในสหรัฐฯ

สหรัฐฯจำกัดการลงทุนไฮเทคโนโลยีในบางประเทศ

โดยรัฐบาลสหรัฐได้กำหนดให้การลงทุนของเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไปลงทุนเฉพาะในประเทศที่สหรัฐไว้ใจเท่านั้น ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนก็จะมีประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่สหรัฐยินยอมให้เข้าไปลงทุน คือ เวียดนาม อินโดนิเซียและสิงคโปร์

ส่วนกรณีของไทยที่เราต้องการดึงการลงทุนในกลุ่มชิปและเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง จะต้องไม่เอาตัวเองไปอยู่เต็มตัวในกลุ่มความร่วมมือที่ประเทศสหรัฐเพ่งเล็งเพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการที่จะดึงธุรกิจที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงจากสหรัฐมาลงทุนในไทยได้

 

แนะไทยเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ยังไม่เข้าร่วมเต็มตัว

นายสมชาย กล่าวว่า การที่ไทยจะได้ประโยชน์จากกลุ่ม BRICS ในขณะนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ แต่สมัครเข้าไปร่วมในลักษณะของผู้สังเกตการณ์ (Observer) ก่อน เหมือนกับการเข้าไปดูว่าข้อดีข้อเสียของการเป็นสมาชิก BRICS และในเวทีความร่วมมือนี้มีลักษณะการทำงานและให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง และประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร

 ขณะที่ในส่วนของ BRICS ที่ไทยสามารถเข้าไปเป็นสมาชิกได้ก่อน คือในส่วนของการเป็นสมาชิกของสถาบันการเงินของกลุ่ม BRICS ซึ่งมีการตั้งธนาคารของกลุ่มที่ชื่อว่า The New Development Bank (NDB) ซึ่งเป็นธนาคารที่ตั้งขึ้นโดยกลุ่มและเปิดกว้างให้ประเทศต่างๆมาฝากเงิน หรือขอความช่วยเหลือทางวิชาการและทางการเงินได้ ซึ่งมองว่ารูปแบบนี้จะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากกว่า ในช่วงที่ BRIC ยังไม่ได้มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก

“การเข้าร่วม BRICS เป็นเหรียญ 2 ด้าน ที่ไทยจะทั้งได้และเสียประโยชน์ เช่น นโยบายของสหรัฐพยายามถอนการลงทุนจากจีน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่สหรัฐมีความเป็นผู้นำ ซึ่งบางบริษัทกลับไปลงทุนที่สหรัฐ แต่บางบริษัทออกไปลงทุนในประเทศอื่น"

ทั้งนี้ หากเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นชิประดับเล็กมากระดับ2 นาโนมิลลิเมตร ซึ่งจีนเองยังไม่มีเทคโนโลยีนี้ โดยสหรัฐจะให้ไปลงทุนเฉพาะในประเทศที่มีความไว้ใจว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับสหรัฐ ซึ่งหากไทยเข้าไปเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อาจกลายเป็นประเทศที่สหรัฐจับตาดูเพ่งเล็ง และไม่ยอมให้ลงทุนอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย

 

เข้าร่วมกลุ่ม BRICS โจทย์ท้าทายรัฐบาลใหม่

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในรายการ DEEP Talk กรุงเทพธุรกิจ ถึงกรณีที่ไทยได้ยื่นเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ว่า เป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายการตัดสินใจของรัฐบาลชุดใหม่เกี่ยวกับการบริหารเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพราะการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เท่ากับเป็นการลดความสัมพันธ์กับสหรัฐลงจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ไทยเกิดกรณีปัญหากับสหรัฐที่มีความสัมพันธ์กันมานาน

“การรวมตัวของ BRICS คือ การเพิ่มอำนาจในการต่อรองและเพิ่มอำนาจการค้า โดยไทยเองควรเข้าไปเลียบๆเคียงๆ ไม่ควรจะไปในลักษณะที่ทำให้สหรัฐวิตกว่า เราทิ้งน้ำหนักไปทางจีนมากขึ้น แต่ว่ากลุ่ม BRICS ที่มีอำนาจต่อรองสูงทั้งในแง่วัตถุดิบ สินค้าเกษตร ปุ๋ย แร่ธาตุ จึงมีความเหมาะสมที่ไทยจะไปใกล้ชิด แต่อำนาจต่อรองระยะยาวจะมีแค่ไหน มองว่าอาจเป็นวัฎจักรของโลกที่สหรัฐมหาอำนาจที่โตในขณะนี้จะถึงจุดพีค หากว่าจีนดำเนินนโยบายอย่างแยบยล จะเป็นการถ่ายโอนความเป็นมหาอำนาจอำนาจได้อย่างราบรื่น”

ทั้งนี้ หากประเทศขนาดใหญ่ เช่น ซาอุดิอาระเบีย จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS มองว่า จะทำให้ปัญหาการเลือกข้างจะรุนแรงขึ้น ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจโลกจะมากขึ้นทั้งจากกรณีเกิดฟองสบู่ในสหรัฐและการเกิดฟองสบู่ในประเทศจีนจากภาคอสังหาริมทรัพย์

จับตาฟองสบู่สหรัฐฯแตกไตรมาส4ปีนี้

นายธีระชัย ยังคาดการณ์ด้วยว่าฟองสบู่ในสหรัฐจะแตกราวไตรมาส 4 ปีนี้ ฉะนั้น ก็ต้องติดตามว่า ธนาคารกลางในยุโรปจะเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งเดาว่าธนาคารกลางจะแก้ไขปัญหาด้วยการพิมพ์เงินดอลลาร์จะมีน้ำหนักน้อยลง ซึ่งจะเป็นเหตุผลที่ทำให้คนตัดสินใจเข้ามาอยู่กลุ่ม BRICS มากขึ้น

สรท.หวังเป็นโอกาสเพิ่มตลาดส่งออก

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่ไทยจะเข้าร่วมกับกลุ่ม BRICS เพราะเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่เพราะมีทั้งประเทศในแถบเอเชีย เอเชียใต้ แอฟริกา ซึ่งถือเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกเพิ่มโดยเฉพาะจีน และอินเดีย เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ น่าจะเป็นโอกาสไทยในแง่ของการเปิดตลาดใหม่ ในช่วงที่ตลาดหลักของไทยมีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น สหรัฐ ยุโรป

ขณะที่รัสเซีย บราซิล แอฟริกาใต้ก็ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจที่จะทำให้ไทยขยายตลาดไปกลุ่มประเทศเหล่านี้อย่างไรก็ตามคงต้องพิจารณาในเรื่องของระยะทางโดยเฉพาะบราซิล และแอฟริกาใต้ ที่ค่าขนส่งอาจจะสูง สำหรับสินค้าชองไทยที่มีโอกาสก็น่าจะเป็นสินค้ากลุ่มอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์

“กลุ่ม BRICS ถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจของไทย เพราะบราซิล แอฟริการใต้ จะเป็นประตูสู่ประเทศกลุ่มแอฟริกาใต้ ขณะที่รัสเซีย ก็จะเป็นประตูสู่ประเทศกลุ่มCIS ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกของไทยให้เพิ่มขึ้นได้“ นายชัยชาญ กล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...