บรรทัดทอง-สามย่าน สุดปัง! สำนักทรัพย์สิน จุฬาฯ ถอดสูตรสำเร็จย่านร้านอร่อย

Key Points :

  • ปัจจุบันย่านบรรทัดทอง-สามย่าน กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่นักชิม เพราะเต็มไปด้วย "ร้านอร่อย" มากมายหลายสัญชาติ จนกลายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสตรีทฟู้ดเมืองไทย
  • "สตรีทฟู้ด" ของไทยจัดเป็นหนึ่งใน soft power ที่สร้างมูลค่าการตลาดนับแสนล้านบาทต่อปี ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาเปิดประสบการณ์ลิ้มลอง
  • รศ. ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬา ถอดสูตรความสำเร็จของการพัฒนา “ย่าน” ว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีหลายองค์ประกอบ ที่สำคัญคือผู้คนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่นั้น ๆ ทั้งผู้ค้าและผู้ขาย

"ที่นี่จะเป็นอีกย่านหนึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้สยามสแควร์ หรืออาจจะมากกว่าก็ได้"

รศ. ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ และผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) กล่าวถึงเป้าหมายที่จะพัฒนา "บรรทัดทอง-สามย่าน" ให้เป็นสวรรค์ของนักชิม รวมความอร่อยหลากหลาย ทั้งอร่อยระดับตำนาน ระดับมิชลินไกด์ และอร่อยตามกระแส

สำหรับอาหารริมทาง หรือ "สตรีทฟู้ด" ถ้าเป็นเมื่อก่อน คนก็อาจจะมองว่าไม่ถูกสุขอนามัย แถมรถเข็นและแผงลอยที่ตั้งระเกะระกะริมฟุตบาทก็กีดขวางการสัญจรของผู้คน สร้างความสกปรกและทำลายทัศนียภาพของเมือง

แต่นั่นเป็นภาพจำในอดีต เพราะปัจจุบัน สตรีทฟู้ดของไทยกำลังได้รับความนิยมในระดับสากล จัดเป็นหนึ่งใน soft power ที่สร้างมูลค่าการตลาดนับแสนล้านบาทต่อปี ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาเปิดประสบการณ์และลิ้มลองอาหารเลิศรสและหลากหลาย จนกรุงเทพได้ชื่อว่าเป็น “มหานครแห่ง Street Food” หรือ "เมืองหลวงแห่งร้านอาหารริมทาง"

รศ. ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ

“นอกจากนักชิมจะได้ลิ้มรสความอร่อยที่หลากหลายและถูกหลักอนามัยแล้ว ยังจะได้สัมผัสบรรยากาศ Thai Street Food แบบใหม่ ที่มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี ร้านอาหารเป็นระเบียบ ไม่กีดขวางทางสัญจร ปลอดภัย ลูกค้าเดินทางมาง่ายและมีจุดจอดรถสะดวก” รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าวเน้นจุดเด่นของย่านอาหารริมทางแนวใหม่

  • จุดกำเนิดวัฒนธรรม Thai Street Food

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ ย้อนเล่าความเป็นมาของวัฒนธรรม street food ของไทยว่า เกิดและเติบโตตามการเกิดขึ้นและตัดผ่านของถนน

“ในอดีตชาวสยามหรือคนไทยนิยมปลูกบ้านแบบมีอาณาบริเวณล้อมรอบ ตั้งเรือนอยู่ริมคลองและสัญจรทางน้ำเป็นหลัก การซื้อหาของกินของใช้ก็ซื้อจากเรือที่แล่นมาเทียบท่าน้ำหน้าเรือน จนสมัยรัชกาลที่ 5 อิทธิพลจากโลกตะวันตกที่เข้ามา ทำให้มีการสร้างถนน ถนนสายแรก ๆ ก็อย่างเช่น ถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร”

“เมื่อมีถนนก็มีการสร้างอาคารตึกแถวแบบตะวันตกตามแนวถนน เกิดเป็นย่านที่อยู่อาศัย และย่านการค้า ผู้คนก็เริ่มหันหน้าเข้าหาถนนและสัญจรทางบกมากขึ้น จึงเริ่มมี “หาบเร่และแผงลอยขายอาหาร” และเมื่อเมืองเจริญขึ้น ย่านที่อยู่อาศัยและการค้าขยายตัว มีถนนหลายสายมากขึ้น หาบเร่และแผงลอย หรืออาหารริมฟุตบาทก็ขยายตัวตามไปด้วย”

  • Street Food ตอบโจทย์วิถีคนเมือง

การตั้งร้านของหาบเร่แผงลอยริมถนนอาจทำลายทัศนียภาพของเมืองไปบ้าง แต่ก็ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองอย่างลงตัว รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าว

ประการแรก อาหารริมทางตอบโจทย์ "ความหลากหลาย" ของอาหาร การตั้งร้านหรือแผงลอยมีลักษณะคล้ายศูนย์อาหารที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง ผู้บริโภคสามารถเลือกอาหารที่ชอบได้หลายประเภท ทั้งอาหารคาว หวาน ทานเล่น เครื่องดื่ม

ประการที่สอง street food ตอบโจทย์เรื่อง "ราคา" ด้วยความที่ไม่มีค่าเช่าที่ หรือค่าเช่าราคาไม่แพง ทำให้แผงลอยหรือร้านอาหารริมทางเป็นที่พึ่งของกลุ่มคนจนเมืองและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

ในมุมเศรษฐกิจมหภาค อาหารริมฟุตบาท ร้านอาหารริมทาง เป็น "สีสันทางวัฒนธรรม" ที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจชาติด้วย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณไว้ว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจอาหารริมทางในปี 2566 จะสูงถึง 4.25 แสนล้านบาททีเดียว

  • พัฒนาย่าน..ไม่ง่าย! แต่ "บรรทัดทอง-สามย่าน" มีต้นทุนแข็งแรงมาแต่ต้น

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าวถึงความพยายามของหลายฝ่ายในอดีต ที่เคยจะปั้นถนนสีลมให้เป็นถนนคนเดิน มีการลงทุน ออกแบบ สร้างกติกา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ หรือที่คลองโอ่งอ่าง มีการสร้างกิจกรรมต่าง ๆ นำสื่อไปทำข่าว แต่ผลลัพธ์ก็ไม่เป็นดังที่ตั้งใจไว้นัก

“การพัฒนาพื้นที่ให้เป็น “ย่าน” ไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือผู้คนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่นั้น ๆ ทั้งผู้ค้าและผู้ขาย”

สำหรับจุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าวว่าเป็นย่านที่มีศักยภาพสูงด้วยหลายปัจจัยที่ลงตัว ประการแรก สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (PMCU) มีโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่อยู่แล้ว มีการจัดหมวดหมู่ร้านค้า (zoning) ให้มีเอกลักษณ์และความชัดเจน อย่างที่เลือกให้บรรทัดทอง-สามย่านเป็นแหล่งรวม Thai Street Food

“ย่านบรรทัดทอง-สามย่านมีต้นทุนที่ดีมากอยู่แล้ว คือ เป็นถนนที่มีร้านอาหารหลากหลาย ทั้งร้านดั้งเดิมและร้านอาหารที่ย้ายมาจากตลาดน้อยและเยาวราช”

จากต้นทุนที่ดีดังกล่าว PMCU ได้ยกระดับทั้งพื้นที่ให้เป็นย่าน street food ยุคใหม่ เน้นให้ร้านอาหารต่าง ๆ ปรุงอาหารตามสุขลักษณะและมีการจัดระเบียบพื้นที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ดูทันสมัย เข้าถึงง่าย สะดวกและปลอดภัย แตกต่างจากภาพลักษณ์อาหารริมทางแบบเดิม

นอกจากต้นทุนด้านผู้ประกอบการอาหารริมทางที่มีอยู่แล้ว สามย่าน-บรรทัดทอง ยังเป็นทำเลทองที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ทั้งนิสิต คนทำงานออฟฟิศ และนักท่องเที่ยว ที่มีความต้องการบริโภคอาหารตั้งแต่มื้อเช้าจรดมื้อค่ำ

“เมื่อคุณมาชิมอาหารที่บรรทัดทอง-สามย่าน คุณจะสัมผัสถึงบรรยากาศที่คึกคักและพลังของคนหนุ่มสาว และอาจหวนรำลึกถึงช่วงเวลาที่เป็นวัยรุ่น มีความสนุกสนานและมีชีวิตชีวาอีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัจจัยบวกหลายประการ รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าวว่าการเกิด “ย่าน” ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และการจะทำให้ย่านนี้เกิดความยั่งยืนก็ไม่ง่ายเช่นกัน “การจะทำให้ผู้เข้ามาใช้พื้นที่นี้เกิดความพึงพอใจนั้นไม่ง่าย สำนักงานจัดการทรัพย์สิน (PMCU) ไม่อาจทำสิ่งนี้ให้สำเร็จได้โดยลำพัง แต่ต้องอาศัยทีม รวมถึงการบริการจัดการในภาพใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน”

  • เสน่ห์ Thai Street Food จุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน

อาหารริมทางจุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย ที่ช่วยสร้างกระแสการรับรู้และความนิยมในกลุ่มผู้บริโภค ที่แวะเวียนมาตามอิทธิพลแบบปากต่อปากของทั้งเพื่อนและการรีวิวจากบล็อกเกอร์

“การรีวิวจากบล็อกเกอร์และผู้บริโภคที่มากินอาหารที่นี่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ย่านเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วจนคาดไม่ถึง คนมากินเยอะขึ้น ร้านอาหารก็มาเปิดเยอะมากขึ้นด้วย”

โดยหากให้สรุปถึงสีสันหรือจุดเด่นของย่าน "จุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน" รศ.ดร.จิตติศักดิ์ สรุปสีสันของ Thai Street Food ไว้ว่าประกอบด้วยหลายปัจจัย ทั้งการที่ร้านอาหารมีหลักแหล่งประจำที่ และถูกสุขลักษณะ สามารถเดินเท้าไปเลือกหาอาหารที่ชอบได้อย่างปลอดภัยบนฟุตบาท โดยลูกค้าสามารถเดินเลือกร้านอาหารได้สะดวก เพราะตลอดทั้งถนนบรรทัดทองมีร้านอาหารยาวต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเรื่องทำเลก็สำคัญ เพราะเดินทางสะดวกทั้งรถเมล์ และรถไฟฟ้าอย่าง MRT หรือ BTS ส่วนถ้าจะขับรถมาก็มีบริการลานจอดรถหลายจุด

ปัจจัยทั้งหมดข้างต้น ล้วนมีผลให้ย่านความอร่อยย่านนี้ติดลมบน และคึกคักอย่างมากโดยเฉพาะในเวลาเย็น-ค่ำ จะเห็นคนต่อคิวรอตามร้านอาหารต่าง ๆ จำนวนมาก ไม่แพ้กันกับไรเดอร์ที่จอดมอเตอร์ไซต์บนถนนเพื่อรอรับออเดอร์ให้ลูกค้าที่สั่งออนไลน์ด้วย ซึ่งก็เริ่มเป็นปัญหากีดขวางการจราจร ทั้งนี้ รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าวว่าสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ก็กำลังพยายามจัดระเบียบการใช้พื้นที่สาธารณะนี้ให้เหมาะสมสำหรับทุกฝ่าย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...