เผยข้อมูลจากกรมอนามัย ถึงเหตุผลที่คนไทยไม่อยากมีลูก หรือมีลูกน้อยลง โดยทางรัฐบาลไทยเองได้มองถึงความสำคัญในเรื่องของประชากรของประเทศที่อาจส่งผลผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคต
ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งสภาพแวดล้อม สังคม เทคโนโลยีต่างๆ เศรษฐกิจ และอีกมากมาย มีผลอย่างมากต่อการที่ประชากรไทยและต่างประเทศ เริ่มมีความคิดที่จะมีลูก และครอบครัวน้อยลง รวมถึงคนยังเริ่มครองตัวเป็นโสดมากขึ้นในทุกๆ ปี
สิ่งนี้กลายเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทางรัฐบาลไทย เล็งเห็น และอยากแก้ไข เนื่องจากเรื่องประชากรในประเทศมีการส่งผลกระทบโดยตรงในด้านของเศรษฐกิจในประเทศไทย
ข้อมูลที่น่าสนใจที่รวบรวมโดยทาง ‘กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข’ ถึงเหตุผลที่เผยว่าทำไมคนไทยถึงไม่อยากมีลูก และมีเหตุผลใดบ้างที่ทำให้คนไทยอยากมีลูกน้อยลง โดยมี 4 หัวข้อที่น่าสนใจดังนี้
เหตุผลที่ทำให้คนไทยไม่มีลูก
- ความโสด
จากสถิติที่ได้เห็นกันว่าคนไทย และคนทั่วประเทศต่างอยากครองโสด และโสดแบบไม่ได้ตั้งใจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการใช้ชีวิตในสังคมยุคใหม่ที่รวดเร็ว สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รวมถึงโรคระบาดที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไปอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้มีคนที่ตั้งใจโสดพุ่งสูงขึ้น
รวมทั้งจากสถิติยังพบว่าเจอ “คนโสดแบบไม่ได้ตั้งใจกว่า 63.31%” คนที่อยากมีคู่แต่ยังไม่มี นี่เป็นอีกเหตุผล และคำตอบสำคัญ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะได้เจอคนที่ใช่ได้ง่ายๆ ส่วนบางคนอยู่ในช่วงกำลังเรียนรู้ หรือยังไม่ถึงอายุที่วางแผนมีลูก และมีครอบครัวได้
- ไม่อยากมีลูก จากเหตุผลส่วนตัว
อ้างอิงจากเหตุผลข้อข้างต้น และหลากหลายเหตุผลที่มารองรับ ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คู่รักหลายๆ คู่ยังไม่พร้อมกับการมีลูก เช่น เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ต้องการใช้ชีวิตแบบอิสระ ไม่มีข้อผูกมัด หน้าที่การงาน และกลุ่มท้องไม่พร้อม
...
ข้อสังเกตสำคัญ คือ มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มีปัญหาสุขภาพในด้านการตั้งครรภ์ แต่อีก 90% ที่เต็มไปด้วยปัญหาทางสังคม ตัวเลขเหล่านี้ล้วนบอกว่าในสังคนไทยในปัจจุบัน มีปัจจัยแปรเปลี่ยนในชีวิตหลายอย่าง ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้คู่สามี-ภรรยา ยังไม่คิดอยากมีลูก
สถิติเพิ่มเติมโดยนิด้าโพล 2566 เผยถึงเหตุผลที่ทำให้ ‘คนไม่อยากมีลูก’
38.3% : ไม่อยากเพิ่มภาระด้านค่าใช้จ่าย
38.3% : เป็นห่วงลูกในสภาพสังคมปัจจุบัน
37.7% : ไม่อยากเพิ่มภาระหน้าที่ การดูแล
33.2% : ต้องการมีชีวิตเป็นอิสระ
17.6% : กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดีพอ
13.7% : อยากให้ความสำคัญกับงาน และอื่นๆ
5.39% : สุขภาพตนเอง และคู่ครองไม่ค่อยดี
2.10% : กลัวเป็นพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ที่ไม่ดี
0.90% : กลัวกรรมตามสนอง เพราะเคยทำไม่ดีไว้กับพ่อ - แม่
- มีบุตรยาก
ด้านสุขภาพเป็นอีกหนึ่งเหตุผล และเป็นเรื่องที่เหนือการควบคุม เพราะคู่สมรสบางคู่ ในอัตราส่วนร้อยละ 10 - 15 ประสบภาวะมีบุตรยาก แม้ตั้งใจอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม และในบางคู่ยังไม่มีงบประมาณทางด้านการเงินเพียงพอ เพื่อใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทางการแพทย์เพื่อมีบุตรอย่างจริงจัง
- ไม่สามารถมีบุตรได้
คนบางกลุ่มเป็นกลุ่มคนที่อยากมีบุตรแต่ไม่สามารถมี หรือเข้าถึงบริการเทคโนโลยี ในการช่วยการเจริญพันธุ์ได้ โดยจะเชื่อมโยงกับข้อข้างต้น หรือกลุ่ม LGBTQA+ ที่อยากมีบุตรมากๆ และติดปัญหาด้านกายภาพ
โดยทาง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจในด้านประชากรศาสตร์อีกว่าใน 60 ปีข้างหน้า ปี 2626 จำนวนประชากรไทย อาจมีจำนวนลดลงกว่าครึ่ง จาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน และประชากรวัยทำงาน (อายุ 15 ปี - 64 ปี) ลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคนเท่านั้น
ทำให้ประชากรในวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0 ถึง 14) ที่มีสถิติการเกิดลดลจาก 10 ล้านคน ในเหลือเพียง 1 ล้านคน กลับกันกลายเป็นว่ามีผู้สูงวัย อายุ 65+ เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน ไปเป็น 18 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ
จากข้อมูลทั้งหมดทำให้ทางรัฐบาลมีนโยบาลผลักดันการส่งเสริมการมีบุตรให้เป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยพิจารณาจากเหตุผลทั้ง 4 ข้อข้างต้นในมาตรการดังนี้
นโยบายส่งเสริมการมีบุตรของรัฐบาล
- เพิ่มช่องทางการสร้างสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
- การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อการพบปะของผู้คนที่มากขึ้น
- สถานรับฝากเลี้ยงเด็กคุณภาพ (ของรัฐ)
- เงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร
- มาตรการลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายบุตร
- การให้คำปรึกษาทางเลือก
- สถานที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว
- เพิ่มจำนวนคลินิกรักษาภาวะมีบุตรยากภาครัฐทุกจังหวัด
- ให้เป็นสิทธิประโยชน์ใน 3 กองทุน
- สิทธิการลา เพื่อเข้ารับการรักษา
- พ.ร.บ.อุ้มบุญ
- สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
เหตุผลทั้งหมดทำให้ทาง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2566 นี้ จะมีการเตรียมพัฒนาศักยภาพให้บุคลากร 3 กลุ่มหลัก คือ สูตินรีแพทย์ พยาบาล และนักเทคนิคการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนสามารถได้รับคำแนะนำที่มีคุณภาพ และเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยากได้เร็วยิ่งขึ้น
ข้อมูล : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, nidapoll
ภาพ : istock