’ญี่ปุ่น’ ส่งสัญญาณลุย ‘แลนด์บริดจ์’ เล็งปล่อยกู้ - ร่วมประมูล ’PPP’

การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 14-19 ธ.ค.2566 นอกจากเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ยังได้หารือกับบริษัทญี่ปุ่นในหลายธุรกิจเพื่อเพิ่มการลงทุนในไทย เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์

รวมทั้งได้จัดงาน “Thailand Landbridge Roadshow” ในวันที่ 18 ธ.ค.2566 เพื่อให้ข้อมูลโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) โดยมีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัทให้ความสนใจร่วมเข้ารับฟัง

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญจากคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยริเริ่มจากโอกาสและศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งภูมิภาค และอนาคตอาจเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลก

“ไทยพร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากนักลุงทุนญี่ปุ่น ซึ่งเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงสุดที่ 40% รองลงมาเป็นยุโรปที่สัดส่วน 38% ซึ่งการค้าขายส่วนใหญ่จะอาศัยการขนส่งทางเรือเพราะขนส่งได้มากและประหยัดที่สุด และการเดินเรือสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปส่วนใหญ่ผ่านช่องแคบมะละกา”

 

ทั้งนี้แม้ปัจจุบันช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลหลัก โดยตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วน 25% ของจำนวนตู้สินค้าทั่วโลก รวมทั้งการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วน 60% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก ทำให้ช่องแคบมะละกามีปริมาณการเดินเรือคับคั่งและแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

รวมทั้งปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์ในท่าเรือที่อยู่บริเวณช่องแคบมะละกามี 70.4 ล้านตู้ต่อปี และมีเรือผ่านช่องแคบมะละกา 90,000 ลำต่อปี คาดการณ์ว่าปี 2573 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะประสบปัญหาตู้สินค้าจำเป็นต้องรอที่ท่าเรือ เพื่อรอเรือเข้ามาทำการขนถ่ายตู้สินค้า ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากความล่าช้า

ทั้งนี้ไทยเห็นโอกาสพัฒนาเส้นทางบรรเทาผลกระทบ โดยใช้ที่ตั้งกลางคาบสมุทรอินโดจีนที่พัฒนาเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยไทยเชื่อว่าแลนด์บริดจ์เป็นเส้นทางเลือกสำคัญที่จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น

กลุ่มเป้าหมาย“เรือขนส่งขนาดกลาง”

รวมทั้งเมื่อเทียบต้นทุนและเวลาการขนส่งตู้สินค้าผ่านแลนด์บริดจ์กับช่องแคบมะละกา พบว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะมาใช้แลนด์บริดจ์ ได้แก่ เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง (Feeder) ที่ขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย

นอกจากนี้ ปัจจุบันการขนส่งตู้สินค้าจากประเทศผู้ผลิตในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง จะขนส่งมาโดยเรือขนาดใหญ่ (Mainline) แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder ที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา เพื่อขนส่งไปประเทศผู้บริโภค ซึ่งเมื่อมีแลนด์บริดจ์จะทำให้ตู้สินค้าเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิต โดยใช้เรือ Feeder แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder อีกลำที่แลนด์บริดจ์ ซึ่งประหยัดต้นทุนขนส่งอย่างน้อย 4% และประหยัดเวลา 5 วัน

สำหรับสินค้าที่ผลิตจากประเทศผู้ผลิตในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีนด้านตะวันออก ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาประเทศผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่ขนส่งด้วยเรือ Feeder แล้วมาถ่ายลำที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ไปลงเรือ Feeder อีกลำ เพื่อขนส่งตู้สินค้าไปประเทศผู้บริโภค เมื่อมีแลนด์บริดจ์จะทำให้ตู้สินค้ามาถ่ายลำที่แลนด์บริดจ์ ซึ่งประหยัดต้นทุนขนส่งอย่างน้อย 4% และประหยัดเวลา 3 วัน

ส่วนกลุ่มสินค้าที่ผลิตในไทย ลาว กัมพูชา เมียนมาและจีนตอนใต้ จะขนถ่ายตู้สินค้าผ่านโครงข่ายคมนาคมทางบกของไทยไปออกที่ แลนด์บริดจ์ด้วยเรือ Feeder ไปประเทศผู้บริโภค เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศในเอเชียกลางและตะวันออกกลาง ซึ่งแลนด์บริดจ์จะประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมได้ถึง 35% และประหยัดเวลาถึง 14 วัน

“แลนด์บริดจ์”ลดเวลาขนส่งเฉลี่ย4วัน

ดังนั้น เฉลี่ยแล้วการขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางผ่านแลนด์บริดจ์จะลดเวลาเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนได้ 15% ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของแลนด์บริดจ์อยู่ที่ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกอยู่ที่ 13.8 ล้านตู้ หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดที่ผ่านท่าเรือในช่องแคบมะละกา จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 23%

“เป็นการประมาณการแบบขั้นต่ำ (Conservative) และพิจารณา การเชื่อมโยงสินค้าที่เกิดจากเรือ Feeder มาต่อเรือ Feeder เท่านั้น ยังไม่รวมโอกาสที่เรือขนาดใหญ่จะมาเทียบท่าในแลนด์บริดจ์”

ส่วนการขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง พบว่าปัจจุบันขนส่งน้ำมันดิบ 19 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยที่ 56% หรือ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งหากใช้แลนด์บริดจ์เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบในภูมิภาค จะประหยัดต้นทุนขนส่งอย่างน้อย 6%

อีกทั้งการลงทุนโครงการนี้ นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการ ธุรกิจภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและการธนาคาร ซึ่งผลประโยชน์เกิดขึ้นกับธุรกิจภาคเกษตรกรรม และธุรกิจภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curves ที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่ม

นอกจากนี้แลนด์บริดจ์จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยจะสร้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และจีดีพีของไทยจะเติบโตถึง 5.5% ต่อปี หรือไปอยู่ที่ 6.7 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ

ดึงแบงก์ญี่ปุ่นแหล่งทุนแลนด์บริดจ์

รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายจุนอิจิ ฮันซาวะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MUFG Bank จำกัด และนายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2566 โดยหารือประเด็นการเป็นแหล่งทุนให้แลนด์บริดจ์

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์มีมูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรัฐ (PPP) ประกอบด้วยการลงทุน 4 ระยะ ครอบคลุมโครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร และระนอง มอเตอร์เวย์ ท่อขนส่งน้ำมัน ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน รองรับการขนส่งสินค้าจากทางเรือจากท่าเรือ 2 ฝั่ง แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 มีการลงทุน 6.09 แสนล้านบาท
  • ระยะที่ 2 มีการลงทุน 1.647 แสนล้านบาท
  • ระยะที่ 3 มีการลงทุน 2.28 แสนล้านบาท และ
  • ระยะที่ 4 ใช้เงินลงทุน 8.51 หมื่นล้านบาท

สำหรับการขับเคลื่อนโครงการนี้หลังจากที่ ครม.เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการจะเริ่มจากโรดโชว์ลงทุนโครงการนี้ในต่างประเทศตั้งแต่เดือน พ.ย.2566 ถึงเดือน ม.ค.2567 จากนั้นจะเร่งการทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ ร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ....

ดึงสายเดินเรือญี่ปุ่นมาร่วมลงทุน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้ร่วมประชุมหารือทวิภาคีกับ นายไซโต เท็ตสึโอะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ระหว่างร่วมคณะนายกรัฐมนตรี โดยมีการนำเสนอการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือที่อยู่ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน 

พร้อมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากนักลงทุนญี่ปุ่น เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ต่อไป

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้เชิญชวนให้บริษัทโลจิสติกส์ และบริษัทเดินเรือขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนในโครงการดังกล่าวของประเทศไทยด้วย

อีกทั้งในการประชุมหารือครั้งนี้ ยังได้หารือถึงความร่วมมือการลงทุนระบบราง โดยได้หารือให้ MLIT และผู้ประกอบการญี่ปุ่นร่วมมือในการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ของประเทศไทย ตามแผนแม่บทระบบการขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือ M-MAP 

รวมถึงจัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรางมาประจำที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีในการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ในไทย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือความร่วมมือทางด้านการบินในเส้นทางระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อแก้ปัญหาราคาค่าโดยสารแพง และตอบสนองต่อความต้องการในการเดินทางของนักท่องเที่ยวในเส้นทางดังกล่าว เนื่องจากแต่ละสายการบินจะสามารถขอตารางการบิน (Slot) ในเส้นทางไทย - ญี่ปุ่นเพิ่มเติมได้ ภายหลังจากการเปิดให้บริการทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ที่ 3) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณเที่ยวบินได้มากถึง 2,800 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมี Slot เพิ่มมากขึ้น

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...