'ทักษิณ' กับ 'นักโทษเทวดา' ฉายาไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

วันนี้ก็ได้เห็นแล้วว่า คำพูดของ “ทักษิณ” แม้ไม่เป็นจริงทั้งหมด แต่ก็ถือว่าใกล้เคียงความจริง จนทำเอากลุ่มคนไม่เอาทักษิณ อดตั้งฉายาไม่ได้ว่า “นักโทษเทวดา” เพราะเห็นได้ชัดว่า มี “อภิสิทธิ์” เหนือนักโทษคนอื่น แถมติดคุกแบบสุขสบายอีกด้วย

“ทักษิณ” เดินทางกลับไทยครั้งแรกในรอบ 15 ปี เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 หลังประกาศจะกลับมาติดคุกและเลี้ยงหลาน โดยพร้อมเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการมอบตัวรับโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทว่ายังไม่ทันได้นอนค้างคืนในเรือนจำ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ส่งตัวเขาไปรับการรักษาอาการป่วยที่ รพ.ตำรวจ ตั้งแต่เวลา 0.20 น. ของวันที่ 23 ส.ค.2566

ต่อมา ได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ก่อนมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษให้ นักโทษเด็ดขาดชาย(น.ช.) ทักษิณ ชินวัตร จากจำคุก 3 คดี รวม 8 ปี เหลือโทษจำคุก 1 ปี

“เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน สืบไป”

กระทั่งปัจจุบัน “ทักษิณ” เข้ารักษาตัวอยู่ที่อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ อยู่ ระหว่างฟื้นฟูร่างกาย หลังการผ่าตัด(จากการเปิดเผยของ “อุ๊งอิ๊ง”)   

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ว่า ป่วยจริงหรือไม่ ทำไมได้อภิสิทธิ์ในการรักษาที่ รพ.ตำรวจ เหนือนักโทษคนอื่น ที่เจ็บป่วยหนักเช่นกัน ยิ่งกว่านั้น การรักษาตัวใน รพ.ตำรวจ เป็นเวลายาวนาน จนผิดวิสัยของการรักษาอาการป่วยที่ควรจะดีขึ้น จนถูกส่งกลับเข้าเรือนจำได้แล้ว แต่กลับพบว่า ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างนิ่งเฉยกันหมด จนเวลาล่วงเลยจะครบ 120 วัน ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้แล้ว

ขณะเดียวกัน เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ “คปท.” ก็เคลื่อนไหวมาตลอด โดยเรียกร้องให้มีการเปิดเผยอาการป่วยของ “ทักษิณ” บ้าง และเรียกร้องให้ส่งตัวกลับไปรักษาในรพ.ราชทัณฑ์ หรือ ถ้าหายแล้วก็ส่งกลับเข้าเรือนจำ แต่ก็ไม่มีผล และแม้แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวอย่างหนัก โดยยื่นหนังสือกดดันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า กรมราชทัณฑ์ รพ.ตำรวจ ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงยุติธรรม ก็ยังดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

อะไรไม่สำคัญเท่ากับ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ “ทักษิณ” ได้รับอภิสิทธิ์ เป็น “นักโทษเทวดา” ติดคุกไม่ถึง 1 วันเต็ม ก็ออกจากเรือนจำมารักษาตัวอยู่สุขสบายที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ หรือ ที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “คนที่ชั้น 14” นั้น

ปรากฏว่า “กรมราชทัณฑ์” ได้ออกระเบียบการจำคุกใหม่ ให้ใช้สถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำได้ และดูเหมือนว่าจะเข้าทาง “ทักษิณ” ด้วย หลายคนสงสัยว่าเป็นเหตุบังเอิญ หรือตั้งใจที่จะให้มีผลรองรับการกลับไปรักษาตัวที่“บ้าน” ของ “ทักษิณ” โดยที่ไม่ต้องเข้าคุกจริง หรือ อยู่ในเรือนจำอีกเลยแม้แต่วันเดียว?

 

โดย “สาระสำคัญ” ของระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ซึ่งมีเนื้อหา 6 หมวด รวม 20 ข้อ

ที่น่าสนใจ ระเบียบนี้ จะมีคนอย่างน้อย 4 กลุ่มที่มีส่วนในกระบวนการกำหนดว่า จะคุมขังที่ไหน อย่างไร ใครได้สิทธิประโยชน์บ้าง

กล่าวคือ ผู้บัญชาการเรือนจำ เป็น “ผู้กำกับสถานที่คุมขัง”

ข้าราชการ พนักงานราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอธิบดีมอบหมาย หรือ เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่คุมขัง เป็น “ผู้ดูแลสถานที่คุมขัง”

คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง 9 คน มีรองอธิบดีที่กำกับดูแลกองทัณฑวิทยาเป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองการให้ผู้ต้องขังรายใดคุมขังในสถานที่คุมขัง และการเพิกถอนการคุมขัง เสนอต่ออธิบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ในการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก โดยคณะทำงาน 1 คน มี 1 เสียง

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็น “ผู้รักษาการตามระเบียบนี้” และมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติ รวมถึงออกหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเพิ่มเติม

ส่วนใครได้สิทธิประโยชน์บ้าง ระบุว่า ผู้ต้องขังที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ออกไปคุมขังนอกเรือนจำ ต้องมีคุณสมบัติครบ 3 ข้อ ได้แก่

เป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์

ผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังหรือทบทวนแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล และคณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำเห็นควรให้คุมขังผู้ต้องขังรายนั้นๆ ในสถานที่คุมขัง

ในการตรวจสอบคุณสมบัติ คณะทำงานฯ จะพิจารณาข้อมูลการถูกดำเนินคดีอื่นๆ ในชั้นศาล, ประวัติและพฤติกรรมก่อนต้องโทษ, ประวัติการใช้ความรุนแรงหรือการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว, ประวัติการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด, ประวัติการกระทำผิดความผิดเกี่ยวกับเพศ, การเปลี่ยนหรือย้ายที่อยู่ และพฤติกรรมขณะต้องโทษ เพื่อเสนอให้ผู้บัญชาการเรือนจำและกรมราชทัณฑ์พิจารณาต่อไป

มีคุณสมบัติเฉพาะและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังแต่ละกลุ่มของกรมราชทัณฑ์

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติครบ 3 ข้อ แต่ถ้าติด 2 เงื่อนไข ก็จะหมดสิทธิได้รับการพิจารณาคัดเลือกไปคุมขังนอกเรือนจำ คือ 1. มีโทษกักขังแทนโทษจำคุก กักขังแทนค่าปรับ มีโทษปรับซึ่งยังไม่ได้ชำระค่าปรับ หรือต้องถูกกักกันตามคำสั่งศาลภายหลังพ้นโทษ ไม่ว่าจะในคดีนี้หรือคดีอื่น และ 2. อยู่ระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย หรือถูกลงโทษทางวินัย

สำหรับสถานที่คุมขัง มีที่ไหนบ้าง ระบุว่า นักโทษที่จะได้ย้ายออกจาก เรือนจำ ไปอยู่ใน สถานที่คุมขัง จะทำได้เฉพาะตามวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

การปฏิบัติตามระบบการจำแนกและการแยกคุมขัง : คุมขังในสถานที่สำหรับอยู่อาศัย

การดำเนินการตามระบบการพัฒนาพฤตินิสัย : คุมขังในสถานที่ราชการ หรือสถานที่ที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะ สถานศึกษา วัด มัสยิด สถานประกอบการของเอกชน มูลนิธิ สถานสงเคราะห์ หรือสถานที่ที่ใช้สำหรับการสังคมสงเคราะห์ทั้งของราชการและเอกชน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนด

การรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง : คุมขังในสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน

การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย : คุมขังในสถานที่คุมขังตาม 3 ข้อข้างต้น

อย่างไรก็ตาม สถานที่คุมขัง ไม่ว่าจะเป็น บ้าน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง ต้องมีทะเบียนบ้านและบ้านเลขที่ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และสามารถกำหนดตำแหน่งหรือพิกัดเพื่อใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (กำไลอีเอ็ม) ได้

ทั้งนี้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้กำหนดสถานที่คุมขัง โดยออกประกาศแจ้งว่า ให้ใช้สถานที่ใดเป็นสถานที่คุมขัง ด้วยวัตถุประสงค์ใด พร้อมระบุที่อยู่และเลขที่ตามทะเบียนบ้าน แผนที่แสดงอาณาเขตของสถานที่คุมขัง และชื่อ-นามสกุลของผู้ดูแลสถานที่คุมขัง  

อีกกรณี นอกจากระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ แล้ว ยังมีเรื่อง “พักโทษ” ซึ่งในวันที่ 20 ธ.ค.2566 “ทักษิณ” ในวัย 74 ปี จะมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ขอพักโทษได้ตามประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป พ.ศ. 2563

ประกาศฉบับนี้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไป ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาด และต้องมีผู้อุปการคุณและยินดีอุปการคุณ กรณีนี้ก็น่าติดตามว่า กรมราชทัณฑ์ จะเสนอพักโทษให้ “ทักษิณ” หรือไม่

กลับมาที่ระเบียบใหม่ กรมราชทัณฑ์ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์กันว่า คนที่จะได้ประโยชน์ทันที หลังจากมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา คือ “ทักษิณ”

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ไม่ทราบเรื่องเลย เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับผม”

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม นายกฯ ฟังด้วยสีหน้าเรียบเฉย แต่ไม่ได้ตอบคำถามนี้ แล้วเดินออกจากวงสัมภาษณ์ไปทันที

เช่นเดียวกับ ผู้ใหญ่ในรัฐบาลอีกหลายคนที่ไม่ยอมตอบเรื่องนี้  

ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งคำถามอย่างแหลมคม “ขอถามนายกฯ เศรษฐา กับ รมว.ยุติธรรม ว่า ปล่อยให้กรมราชทัณฑ์ลักไก่ออกระเบียบให้นักโทษไปติดคุกที่บ้านเพื่อรองรับนักโทษชั้นพิเศษได้อย่างไร เพราะถ้าทำได้ ต่อไปคำพิพากษาศาลสถิตยุติธรรมก็ไม่มีความหมาย ศาลสั่งตัดสินจำคุกไม่ต้องสนใจ เพราะกรมราชทัณฑ์สั่งให้ไปติดคุกนอนเสวยสุขอยู่กับบ้านได้ แล้วคุกจะมีไว้ทำไม มีไว้ขังคนจนกับคนไม่มีอำนาจเท่านั้นหรือ”

ทั้งยังกล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ถ้านายกฯ ไม่ทำอะไร ก็จะมีคำถามว่า “จะมีนายกฯ ไว้ทำไม มีไว้ดูแลประชาชน หรือมีไว้ดูแลนักโทษเทวดา”

แน่นอน, สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “ทักษิณ” ตั้งแต่พูดถึงการกลับไทยหลายครั้ง ก่อนที่จะยืนยัน “กลับจริง” แต่ก็ยังติดโรคเลื่อนตามสถานการณ์การเมือง เนื่องจากการ “ดีล” ตั้งรัฐบาลยังไม่ลงตัว หลายคนเชื่อว่า ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือเกิดขึ้นโดยประจวบเหมาะเคราะห์ดี เพราะโชคช่วยแต่อย่างใด อย่างที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามจะกล่าวอ้าง และข้าราชการก็รับลูกทำตามกฎระเบียบ กฎหมาย

หากแต่คนที่ต่อ “จิกซอว์” ได้ นับแต่คำพูดของ “ทักษิณ” ที่ว่า จะกลับไทยแบบเท่ๆ จะไม่ยอมติดคุก แม้พักหลังจะยอมเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ยอมติดคุก กลับมาเลี้ยงหลานในบั้นปลายของชีวิต ก็รอจนกว่า การ “ดีล” จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ และกลับไทยในวันที่รัฐสภา โหวตลงมติให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างนี้จะไม่ให้คิดว่า ต้องการใช้ “อำนาจรัฐบาล” นำกลับมา และสร้างเงื่อนไขไม่ให้ติดคุกหรือ?  

แล้วเมื่อถูกส่งเข้าเรือนจำ เพื่อรับโทษ ก็อยู่ในเรือนจำไม่ถึงข้ามคืน ก่อนอาศัยระเบียบกรมราชทัณฑ์ เพื่อรักษาตัวนอกเรือนจำ คือ รพ.ตำรวจ จนถึงวันนี้

แล้วยังได้ลุ้น “ขอพักโทษ” โดยกรมราชทัณฑ์จัดให้ หรืออาจประเดิม “คุมขัง” นอกเรือนจำ “ที่บ้าน” ตามระเบียบใหม่ กรมราชทัณฑ์ ที่เพิ่งออกมาใหม่หมาด เข้าเงื่อนไขราวจับวาง

อย่างนี้ฉายา “ทักโทษเทวดา” คงไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วย เป็นแน่แท้ หรือว่า ไม่จริง!?

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ซูเปอร์ไต้ฝุ่น ‘กองเร็ย’ ถล่มไต้หวัน เสียชีวิตแล้ว 1 ราย บาดเจ็บ 73 ราย

สำนักอุตุนิยมวิทยากลาง รายงานว่า พายุไต้ฝุ่นกองเร็ย ที่มีความเร็วลมสูงสุด 184 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัด...

'BYD' โค่น 'Tesla' มีรายได้รายไตรมาสแซงหน้า Tesla ครั้งแรก

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “บีวานดี” (BYD) ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีน ก้าวขึ้นนำค่ายรถอีวีสหรัฐอย่าง “เทสล...

'ทรัมป์-แฮร์ริส' ลุยหาเสียงโค้งสุดท้ายรัฐสมรภูมิ

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถือโอกาสจัดฉากหาเสียงบนรถขยะในรัฐวิสคอนซิน เมื่อวันพุธ เพื่อตอกย้ำกระ...

‘จิล ไบเดน’ ใส่มาสคอต ‘แพนด้า’ ควงปธน.ร่วมงานฮาโลวีนที่ทำเนียบขาว

สำนักข่าวเซาท์ไชนา มอร์นิง โพสต์ รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และจิล ไบเดน ภรรยาของเขา เป็นเจ้าภาพ...