บริจาคอย่างไรให้ถูกหลักภาษีอากร | ศิริรัตน์ เจนศิริศักดิ์

กล่าวคือยิ่งมีเงินได้สุทธิจำนวนมากเท่าไร ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ผู้เสียภาษีหลายคนจึงมองหาวิธีการวางแผนภาษีเพื่อให้ตนเองเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาน้อยลงแต่ยังถูกต้องตามกฎหมาย

เงินบริจาคถือเป็นหนึ่งในค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่ผู้มีเงินได้สามารถนำมาใช้ในการคำนวณเงินได้สุทธิ ไม่ว่าจะเป็น การบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา บริจาคให้กับองค์การกุศลสาธารณะ หรือการสาธารณประโยชน์ เช่น โรงพยาบาลของทางราชการ มูลนิธิหรือสมาคมที่ได้รับการประกาศจากกระทรวงการคลัง เป็นต้น

  และเพื่อให้การวางแผนภาษีในการใช้สิทธิประโยชน์กับค่าลดหย่อนเงินบริจาคดังกล่าวมีประสิทธิผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย บุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่เสียภาษีควรตระหนักและเห็นความสำคัญของการบริจาคให้ถูกหลักตามเงื่อนไขของภาษีอากร

ซึ่งจะทำให้การบริจาคเป็นทั้งการตอบแทนคืนสู่สังคม และสามารถประหยัดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เช่นเดียวกัน

จากการศึกษากฎหมาย ข้อหารือ คำพิพากษาศาล และข้อกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริจาคแล้วทำให้เห็นว่ามีหลายเหตุการณ์ที่ผู้มีเงินได้เข้าใจผิดในหลักเกณฑ์ของการนำเงินบริจาคไปใช้ในการหักลดหย่อน

รวมทั้งความเข้าใจผิดว่าการเจตนาปลอมหลักฐานการบริจาคและทำให้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาน้อยลงนั้นคือการวางแผนวางภาษีอย่างหนึ่ง

ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะให้กับกรมสรรพากรและผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้

ข้อเสนอแนะสำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถสรุปเงื่อนไขการบริจาคให้ถูกหลักภาษีได้ดังนี้

1.จะต้องบริจาคเป็นเงินสดเท่านั้น การบริจาคเป็นสิ่งของไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้

2.จะต้องบริจาคให้แก่หน่วยงานที่กฎหมายหรือกระทรวงการคลังประกาศกำหนดไว้เท่านั้น เช่น สถาบันการศึกษาของรัฐบาลและเอกชน โรงพยาบาลของรัฐ สภากาชาดไทย วัดวาอาราม  องค์การกุศลสาธารณะหรือการสาธารณประโยชน์ เป็นต้น

3.ในการบริจาคให้แก่สถานที่ทางศาสนา ให้หมายความรวมถึงวัด โบสถ์ หรือมัสยิด แต่ต้องเป็นสถานที่ทางศาสนาที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น

4.หลักฐานการบริจาคที่ต้องเตรียมไว้ให้เจ้าพนักงานตรวจสอบจะต้องเป็นหลักฐานที่แสดงว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้บริจาคเงินให้แก่สถานที่รับรับบริจาคนั้นจริง

ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้กำหนดรูปแบบของหลักฐานการรับบริจาคว่าจะต้องเป็นรูปแบบใด ขอเพียงให้มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงชื่อผู้บริจาค จำนวนเงิน วันเดือนปีที่บริจาค และลงชื่อผู้มีอำนาจลงนาม ทั้งนี้จำนวนเงินจะต้องไม่เกินที่กฎหมายกำหนด

5.ในกรณีที่บริจาคร่วมกันหลายคน หลักฐานการรับบริจาคจะต้องระบุชื่อผู้บริจาคให้ชัดเจนว่าแต่ละคนบริจาคเป็นจำนวนเงินเท่าไร หากไม่ได้ระบุจำนวนเงินบริจาคที่ชัดเจน จะถือว่าบริจาคด้วยจำนวนเงินเฉลี่ยตามรายชื่อผู้บริจาคที่เท่ากัน

6.ผู้ที่มีสิทธินำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนได้จะต้องเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น

7.ใบเสร็จรับเงินระบุวันบริจาคไว้ในปีภาษีใด ให้นำมาหักลดหย่อนได้ในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ ปีภาษีหมายถึงปีปฏิทิน

เป็นที่น่าสังเกตว่า การหักลดหย่อนอื่น ๆ ประมวลรัษฎากรจะกำหนดค่าลดหย่อนไว้ชัดเจนด้วยจำนวนเงินที่แน่นอน เช่น ค่าลดหย่อนผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสคนละ 60,000 บาท ค่าลดหย่อนจากค่าเบี้ยประกันชีวิตตามจ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น

แต่สำหรับค่าลดหย่อนเงินบริจาคนั้น ประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้สามารถหักได้ตามจริงหรือสองเท่าจากจำนวนที่บริจาคจริง (แล้วแต่กรณี) แต่ไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นก่อนหักเงินบริจาคแล้วเท่านั้น

ดังนั้น ผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นก่อนหักเงินบริจาคเป็นจำนวนมาก เมื่อคำนวณร้อยละสิบของเงินได้ที่เหลือนั้น ย่อมมีเพดานของเงินบริจาคที่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้มากขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น กรณีดังกล่าวอาจเป็นเหตุจูงใจให้ผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินปลอมแปลงหลักฐานการบริจาคโดยอาจเสนอให้ผลตอบแทนแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการปลอมแปลงหลักฐานการบริจาคเพื่อประโยชน์ของตนในการประหยัดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระก็ได้

ข้อเสนอแนะสำหรับกรมสรรพากร

กรมสรรพากรควรตระหนักและให้ความสำคัญกับการให้ความรู้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมทั้งหาแนวทางในการป้องกันและตรวจสอบการกระทำผิดทางกฎหมายให้รัดกุมยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะการกำหนดแนวทางในการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับเพื่อพิสูจน์ความมีอยู่จริงของการบริจาคให้แก่องค์กรหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีและไม่ต้องจัดทำบัญชี ซึ่งกรณีนี้จะตรวจสอบย้อนกลับได้ยากเนื่องจากไม่มีหลักฐานในการพิสูจน์ที่ชัดเจน

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเห็นประโยชน์ของการบริจาคผ่านระบบ e-donation โดยไม่ต้องขอหลักฐานการบริจาค เกิดความสะดวกในการจัดเก็บเอกสาร ลดความเสี่ยงในการสูญหายของหลักฐานการบริจาค และความถูกต้องครบถ้วนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เนื่องจากข้อมูลในการบริจาคผ่านระบบ e-donation จะรวบรวมข้อมูลการบริจาคในระบบ e-filing ของกรมสรรพากรไว้เรียบร้อยแล้ว ประโยชน์เหล่านี้ย่อมย่อมส่งผลต่อทั้งกรมสรรพากรและผู้มีหน้าที่เสียภาษีทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ กรมสรรพากรควรประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดบทลงโทษองค์กร หน่วยงานหรือบุคคลที่มีส่วนร่วมในการปลอมแปลงหลักฐานการบริจาค หรือนำหลักฐานการบริจาคปลอมมาใช้ โดยกำหนดบทลงโทษให้รุนแรงขึ้น

เช่น ไม่สามารถใช้หลักฐานการบริจาคที่ได้รับจากหน่วยงานหรือองค์กรดังกล่าวได้อีกต่อไป.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...