TDRI แนะปรับโครงสร้างพลังงาน 'ลด' ค่าไฟ

นายชาคร เลิศนิทัศน์ นักวิจัยอาวุโสทีมนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พร้อม ดร.สิริภา จุลกาญจน์  สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีมติจะขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 4.68 บาทต่อหน่วยตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2567 ว่า ธันวาคมนี้ เป็นเดือนสุดท้ายของมาตรการลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ก่อนที่จะมีการปรับค่าไฟขึ้นตามมติของ กกพ. และแม้ว่ารัฐบาลออกมาระบุว่าจะพยายามตรึงราคาค่าไฟให้ไม่เกิน 4.20 บาท แต่กรณีดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่าการปรับลดราคาค่าไฟ โดยขาดการปรับโครงสร้างการผลิต และการลงทุนสำหรับแหล่งพลังงานชนิดใหม่ๆ สามารถทำได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น และไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

นายชาคร ระบุว่า หนึ่งในข้อเสนอที่สำคัญที่จะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าต่ำลง คือ การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานเพื่อลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืน โดยการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีภายในประเทศในการผลิตไฟฟ้าให้เพิ่มสูงขึ้น เช่น แหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทยแต่มีราคาผันผวนต่อปัจจัยภายนอกที่ประเทศไทยไม่สามารถกำหนดได้  นอกจากนั้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้ายังสอดคล้อง และสนับสนุนเป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ.2593  ซึ่งภาคพลังงานเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดอีกด้วย

 

นักวิจัยอาวุโสทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดเครื่องมือทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Finance เพื่อใช้ในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความเหมาะสมกับบริบทการใช้งานในประเทศ ซึ่งแบ่งช่วงเวลาได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ระยะเริ่มต้นพัฒนา ซึ่งเป็นช่วงที่องค์ความรู้ในช่วงนั้นค่อนข้างต่ำ และการลงทุนในเทคโนโลยีนั้นมีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือนักลงทุนเฉพาะกลุ่มเป็นหลัก ระยะที่ 2 ช่วงที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนามากขึ้น ซึ่งต้องมีการทดสอบระบบ และกระจายเทคโนโลยีต่อผู้ใช้ ทำให้การระดมทุนจากภาคเอกชนในลักษณะของกองทุนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น พร้อมกับภาครัฐสามารถช่วยสนับสนุนการลงทุนบางส่วนได้

และระยะที่ 3 คือ ช่วงที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างเต็มที่ ภาคเอกชน จะมีบทบาทที่เด่นชัดในการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีในระยะนี้ โดยรัฐสามารถลดบทบาทลงผ่านการสนับสนุนในรูปแบบการปล่อยเงินกู้ การรับประกันโครงการ หรือการช่วยเหลือภาคเอกชนในการเข้าถึงตลาดทุน อาทิ การออกพันธบัตรสีเขียว (Green Bond) หรือพันธบัตรเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Bond)

ด้าน ดร.สิริภา เปิดเผยถึงรายงานการศึกษาเรื่อง Climate Finance for Carbon Neutrality in Thailand ภายใต้โครงการ CASE ว่า มีการประเมินเครื่องมือทางการเงินที่ภาครัฐสามารถนำมาใช้เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชน ได้ 4 มาตรการ ดังนี้ มาตรการเงินให้เปล่า  เหมาะสำหรับเทคโนโลยีในช่วงการวิจัยและพัฒนาในระยะที่ 1 เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ และสาธิตการใช้งานเทคโนโลยีแก่สาธารณชนทั่วไป, มาตรการสนับสนุนต่อหน่วยผลผลิต และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ  ซึ่งเหมาะสมกับระยะที่ 2 ของการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งในระยะนี้ เทคโนโลยีเริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และได้รับความสนใจในการลงทุนจากภาคเอกชน และตลาดทุน

มาตรการกลไกราคาคาร์บอน และตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) ซึ่งเป็นกลุ่มมาตรการที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีที่มีความแพร่หลายเชิงพาณิชย์ มักจะมีบทบาทในช่วงการพัฒนาระยะที่ 3 ที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างเต็มที่ และมาตรการจูงใจทางด้านภาษี เป็นอีกมาตรการเสริมที่สามารถสนับสนุนเทคโนโลยีในทุกระดับความพร้อม ตั้งแต่ในระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 3 ในช่วงที่เทคโนโลยีได้รับความนิยมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดร.สิริภา ระบุว่า การศึกษาดังกล่าวยังได้แสดงให้เห็นอีกว่าเม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐจะคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.2 ของการลงทุนทั้งหมดเท่านั้น และอีกกว่าร้อยละ 97 จะเป็นการลงทุนจากทางภาคเอกชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของภาคการเงินที่จะเข้ามามีบทบาทในการระดมทุนเพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน โดยในแต่ละมาตรการจะมีระดับการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนที่แตกต่างกันไป

           

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...