JKN ขอเลื่อนส่งคำชี้แจงงบไตรมาส 3/66 เป็น 22 ธ.ค. อ้างข้อมูลในการตรวจสอบมาก

นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ JKN เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.) ว่า ขอขยายเวลาชี้แจงและส่งข้อมูลเพิ่มเติมงบการเงินไตรมาส 3/66 ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สอบถามไปอีก 14 วัน นับถัดจากวันครบกำหนดเดิมวันที่ 8 ธ.ค.ไปเป็นวันที่ 22 ธ.ค.66

เนื่องจากข้อมูลมีรายละเอียดจำนวนมากและเกี่ยวข้องกับหลายส่วนงานภายในของบริษัท ขณะที่ข้อมูลด้านบัญชีจำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่บัญชีของบริษัทเพื่อประสานกับผู้สอบบัญชีของบริษัทเพื่อจัดเตรียมข้อมูล ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลก่อนการชี้แจงเพิ่มเติม เพื่อป้องกันความผิดพลาดหรือบกพร่องของข้อมูล ประกอบกับในช่วงรอยต่อระหว่างปลายเดือน พ.ย.ถึง ต้น ธ.ค.66 มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 14/2566 วานนี้มีความเห็นในการชี้แจงเบื้องต้น ดังนี้

(1) การประเมินด้อยค่าสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการประเมิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์และฐานะการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ปัจจัยที่ใช้พิจารณาการด้อยค่าสินทรัพย์ สถานะการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ความเห็นของฝ่ายจัดการต่อการปรับปรุงมูลค่าสินทรัพย์และประเมินผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัท เป็นต้น นั้น

เนื่องจากในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินจะดำเนินการโดยผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินอิสระตามมาตรฐานการจัดทำบัญชี PAE (TFRS 9) ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการประสานงานกับบริษัทผู้ประเมิน ในขณะที่การประเมินด้อยค่าทรัพย์สินดังกล่าวในไตรมาส 3/66 ดำเนินการโดย ผู้สอบบัญชีของบริษัทตามมาตรฐานการสอบทานทางบัญชี ซึ่งภายหลังจากได้รับแจ้งจากตลท.บริษัทได้ติดต่อประสานกับผู้สอบบัญชีจัดส่งข้อมูลให้แก่บริษัท ขณะนี้อยู่ระหว่างรอที่จะรวบรวมจัดส่งไปพร้อมกับความเห็นของฝ่ายจัดการต่อการปรับปรุงมูลค่าสินทรัพย์และประเมินผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัท

(2) แผนการขายเงินลงทุนในบริษัท เอ็มเอ็น เบฟเวอเรจ จำกัด (บริษัทย่อย 60%) ซึ่งมีค่าความนิยม 40 ล้านบาท โดยราคาขายกำหนดต่ำกว่าราคาซื้อ 27% และการมีเงินให้กู้ยืมคงค้าง 42.4 ล้านบาท เช่น เหตุผลในการขายเงินลงทุน เกณฑ์การกำหนดราคาขาย รายละเอียดผู้จะซื้อ ความคืบหน้าการพิจารณาแผนการขาย MNB ฯลฯ นั้น

เหตุผลหลักที่ทำให้ต้องขายเงินลงทุนใน เอ็มเอ็น เบฟเวอเรจ เนื่องจากผู้ร่วมทุนรายเดิม คือ กลุ่ม MN Auto Team ซึ่งมีความชำนาญในการประกอบธุรกิจโรงงานผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแบบบรรจุขวด และให้บริการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด 40% ออกไปให้กับบริษัท ทีซีจี โซเชียลมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (TCG) อีกทั้งโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ห่างไกลจากสำนักงานของบริษัทอย่างมาก ทำให้การบริหารจัดการเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงได้เสนอให้ TCG ซื้อหุ้นทั้งหมดที่บริษัทถืออยู่ทั้งหมด 60%

อนึ่ง บริษัทมีความประสงค์จะแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ถือหุ้นรับทราบถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเกณฑ์การกำหนดราคาขายรายละเอียดผู้จะซื้อ รวมถึงความคืบหน้าการพิจารณาแผนการขาย MNB บริษัทจำเป็นต้องรวบรวมจากหลายส่วนงานภายในบริษัท และจากผู้ประเมินราคาซื้อขายซึ่งเป็นที่ปรึกษาและเป็นบุคคลภายนอก ทำให้ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลและส่งมอบให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ได้ทันภายในเวลาที่กำหนด

นอกจากนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานะการประกอบธุรกิจและผลการดำเนินงานของ MNB ในปัจจุบัน การจ่ายชำระดอกเบี้ยที่ผ่านมา และการประเมินความสามารถในการชำระคืนเงินต้นนั้น แม้ว่า MNB จะเป็นบริษัทย่อย แต่ข้อมูลตามที่ตลท.ขอให้ชี้แจงนั้น จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของ MNB จัดเตรียมและส่งมอบให้แก่บริษัทเพื่อนำมาสรุปก่อน ขณะนี้ MNB อยู่ระหว่างการจัดเตรียมข้อมูล ซึ่งจากการประสานด้วยวาจาคาดว่าจะสามารถส่งให้แก่บริษัทได้ภายใน 7-10 วัน นับแต่วันที่ 4 ธ.ค.66

ส่วนการอธิบายถึงสาเหตุทีการแจ้งมติคณะกรรมการเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.66 ว่าบริษัทไม่มีภาระค้ำประกัน และหนี้คงค้างกับ MNB ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลทีปรากฏในหมายเหตุงบการเงินข้อ 5 ว่า มีเงินให้กู้ยืมคงค้างแก่ MNB 42.4 ล้านบาทนั้น เนื่องจาก ตามที่บริษัทชี้แจงว่า "บริษัทไม่มีภาระค้ำประกันและภาระอื่น ๆ รวมถึงหนี้ค้างชำระใด ๆ กับ MNB ไม่ได้มีข้อแตกต่างกับงบการเงินที่จัดทำโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต สรุปได้ว่า MNB มีสถานะเป็นลูกหนี้ของบริษัทตามจำนวนดังกล่าว โดยบริษัทไม่ได้มีภาระหนี้สินคงค้างกับ MNB

(3) การดำเนินการต่อกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่มียอดซื้อลิขสิทธิ์รวม 99% ของรายได้ค่าสิทธิในงวด 9 เดือนปี 66 โดยลูกค้ากลุ่มนี้มียอดคงค้างชำระ 97% ของลูกหนี้การค้าคงค้าง เช่น รายละเอียดลูกหนี้การค้า ระยะเวลาค้างชำระ หลักเกณฑ์ในการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ ผลการดำเนินงาน ฐานะการเงินของลูกหนี้ ความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบ และความเหมาะสมของนโยบายการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เป็นต้น นั้น

บริษัท ขอเรียนว่าบริษัทมีข้อมูลรายละเอียดลูกหนี้การค้าและ ระยะเวลาค้างชำระของลูกหนี้ทุกราย แต่จำเป็นต้องสรุปข้อมูลเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจพิจารณาของ ตลท.และผู้ถือหุ้นส่วนข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ บริษัทมีหลักเกณฑ์ที่กำหนดเรื่องนี้เอาไว้พร้อมจัดเตรียมเพื่อส่งให้แก่ตลท.แล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนของผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของลูกหนี้บริษัทมีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวให้เป็นปัจจุบันก่อนที่จะแจ้งให้ตลท.ทราบ ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารของบริษัทได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวของลูกหนี้แล้ว อยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบ

ส่วนในเรื่องของความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบต่อนโยบายการให้เครดิตแก่ลูกค้า นโยบายการติดตามหนี้ การติดตามให้บริษัทปฏิบัติตามนโยบาย และความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบต่อมาตรการดูแลความเสี่ยงในการเรียกเก็บหนี้จากลูกค้า และความเหมาะสมของนโยบายการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ นั้น เนื่องจากเมื่อช่วงเดือน พ.ย.66 กรรมการตรวจสอบชุดเดิมลาออกไป 2 คน ซึ่งบริษัทเพิ่งจะมีการแต่งตั้งเข้ามาแทน ขณะนี้อยู่ระหว่างที่กรรมการตรวจสอบชุดใหม่ตรวจสอบข้อมูลในเรื่องดังกล่าวจากนั้นจึงจะสามารถให้ความเห็นได้

ในส่วนของสาเหตุที่ลูกหนี้การค้าค้างนานและเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การดำเนินการติดตามทวงถามการชำระเงินของลูกหนี้ และแผนการเรียกเก็บหนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขการชำระหนี้นั้น เนื่องจากการค้างจ่ายหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน จำเป็นที่บริษัทจะต้องรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริง แล้วจัดทำสรุปข้อมูลส่วนนี้ให้ชัดเจนเพื่อสร้างความกระจ่างให้แก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 ธ.ค.ได้

ส่วนในเรื่องนโยบายเกี่ยวกับการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ความเพียงพอของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญดังกล่าว และการตัดหนี้สูญ บริษัทมีข้อมูลเหล่านี้เรียบร้อยแล้ว และจะจัดส่งให้แก่ตลาดหลักทรัพย์พร้อมกับเอกสารรายการอื่นๆในลำดับถัดไป

(4) การจ่ายคืนเงินกู้ยืมกรรมการที่ไม่มีภาระดอกเบี้ย 300 ล้านบาท ในไตรมาส 2/66 และการลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ปี 66 รวม 2,524 ล้านบาท ในขณะทีมีภาระคืนหนี้หุ้นกู้ตามกำหนดซึ่งไม่ได้ชำระจนเป็นเหตุให้ผิดนัดหนี้ทั้งหมด

บริษัทชี้แจงเบื้องต้นว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อทราบสาเหตุที่มีการจ่ายคืนเงินกู้ยืม และตรวจสอบแผนจัดหาแหล่งเงินทุนและบริหารสภาพคล่องในระยะที่ผ่านมา ตลอดจนตรวจสอบความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระเกี่ยวกับความเหมาะสมของการจัดการทางการเงินที่ผ่านมาว่าได้ดำเนินการอย่างระมัดระวังโดยยึดประโยชน์สูงสุดของบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายแล้วหรือไม่ ซึ่งจะจัดส่งให้ตลท.พร้อมกับรายละเอียดของเงินกู้ยืมกรรมการ ได้แก่ รายชื่อผู้ให้กู้ จำนวนเงิน วัตถุประสงค์ และระยะเวลากู้ยืม และรายละเอียดของเงินกู้ระยะสั้นจากกิจการอื่น 180 ล้านบาท ที่ปรากฏในไตรมาส 3/66ได้แก่ รายชื่อผู้ให้กู้ วัตถุประสงค์ จำนวนเงิน อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งจะเปิดเผยข้อมูลในลำดับถัดไป

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...