"ธุรกิจไทย"พับแผนลงทุนเมียนมา เหตุการณ์ไม่สงบฉุดเศรษฐกิจ

สถานการณ์เศรษฐกิจของเมียนมาชะลอตัวมาตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2563 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รายงานว่าเศรษฐกิจเมียนมาปี 2563 ขยายตัว 3.2% แต่ในปี 2564 ที่เกิดรัฐประหารและความวุ่นวายในประเทศ เศรษฐกิจติดลบ 17.9% ส่วนปี 2565 เศรษฐกิจ 0.06%

ในขณะที่ปี 2566 ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะ 2.49% แต่เป็นประมาณการณ์ก่อนเกิดการสู้รบระหว่างรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและหลายฝ่ายกังวลว่าจะนำมาสู่สถานการณ์ “รัฐล้มเหลว”

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์  ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่า นักธุรกิจไทยได้ติดตามสถานการณ์ในเมียมาอย่างใกล้ชิดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดสถานการณ์ตามชายแดนฝั่งเหนือของเมียนมา ที่ติดระหว่างรัฐฉาน รัฐกระฉิ่นกับมณฑลยูนนานของจีน โดยเฉพาะเขตอิทธิพลของกองกำลังโกก้าง ยังคงคุกรุ่นอยู่ตลอดนับตั้งยุทธการ 1027 ซึ่งตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 1 ธ.ค.2566 ด้านชายแดนฝั่งเมืองเมียววดี-เกาะกะเร็ก ได้สู้รบระหว่างทหารรัฐบาลกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กองกำลังติดอาวุธของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกลุ่มต่อต้านอื่นๆ โจมตีฐานทัพทหารในเมืองของรัฐบาลได้ทำการโจมตีทางอากาศ

ขณะที่กลุ่มต่อต้านพยายามยึดเมืองเกาะกะเร็ก ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สงบต่อเนื่อง และจะกระทบการขนส่งสินค้าจากชายแดนแม่สอดสู่กรุงย่างกุ้งสะดุดหยุดลงได้ เหตุการณ์ดังกล่าวน่ากังวลว่าจะบานปลายออกไปนานแค่ไหนยังคาดการณ์ไม่ได้

นายกริช กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบภายในทำให้การค้าในประเทศเมียนมา ยังคงมีปัญหากระแสเงินสด อีกทั้งการขาดแคลนเงินดอลลาร์ยังไม่ดีขึ้น แต่การค้าระหว่างไทย-เมียนมา โชคดีกว่าประเทศอื่นเพราะใช้เงินบาท-จ๊าดได้ แม้แก้ไขไม่ได้ทั้งหมด

สำหรับปัญหาใหญ่ของการค้าเป็นปัญหาการจำกัดจำนวนเงินในการขออนุญาตนำเข้า-ส่งออกไปเมียนมา ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้แต่ละบริษัทขออนุญาตนำเข้าได้จำกัด เพื่อปกป้องเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ ดังนั้นอุปสรรคดังกล่าวทูตพานิชย์รับทราบและกำลังหาช่องทางเจรจากับทางรัฐบาลเมียนมาอยู่ ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานคงจะทราบผล

“เอฟดีไอ”เมียนมาชะลอยาว

ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ใหม่ได้ลดลงตามความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในประเทศ จึงไม่ค่อยเกิดการลงทุนใหม่ อย่างไรก็ตามทางการเมียนมาได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืนออกมาต่อเนื่องเช่นกัน

สำหรับผลกระทบทางตรงต่อธุรกิจไทยในเมียนมายังเป็นผลกระทบทางอ้อมเพราะทำให้บรรยากาศของการค้า-การลงทุน ที่ซบเซาแล้วได้รับผลกระทบมากขึ้น การลงทุนในเมียนมา ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนกระทั้งหลังการปกครองพบการลงทุนใหม่หายไปเกือบหมดโดยเหลือเพียงนักลงทุนเก่าที่ตกค้างอยู่ส่วนรายใหม่ต่างกังวลความไม่แน่นอน จนกระทั่งหยุดชะงักหมดสิ้น

ส่วนการค้าแม้จะมีปัญหาแต่ประชาชนยังต้องบริโภคเพียงแต่กระแสเงินสดในท้องตลาดได้หดหายไปบ้าง ตามสภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลเมียนมาถูกแซงชั่นจากรัฐบาลประเทศตะวันตก จึงทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำลงเร็ว

อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่อ่อนค่าลงมาก ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงมาก รัฐบาลเมียนมาพยายามแก้ปัญหาด้วยการออกมาตรการเพื่อยับยั้งการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ไม่เป็นผลเท่าที่ควร อีกการค้าขายในท้องตลาดยังจับจ่ายใช้สอยลดลงมาก ด้วยสาเหตุของอัตราเงินเฟ้อที่รุนแรง จึงได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า

หารือทูตไทยเตรียมแผนสำรอง

ด้านสถานการณ์การสู้รบทางภาคเหนือ ยังห่างไกลกับหัวเมืองหลักอย่างกรุงย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์อยู่มาก จะมีเพียงการกระทบทางอ้อมต่อภาคเศรษฐกิจประเทศแต่ถ้าเวลายืดยาวไปกว่านี้จะไม่เกิดผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน สิ่งที่จะต้องจับตามองน่าจะเป็นการสู้รบทางฝั่งรัฐกระเหรี่ยงมากกว่า

ทั้งนี้ สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ได้รับการประสานงานจากนายเอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา ทูตพาณิชย์ไทยประจำกรุงย่างกุ้ง เพื่อหาช่องเตรียมแผนสำรองในกรณีเกิดเหตุการณ์บานปลายออกไป 

รวมทั้งกำลังศึกษาช่องทางชายแดนอื่น ซึ่งอาจเพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่จะทำให้สินค้าไทยไม่หายไปจากตลาด อีกทั้งนายเอกวัฒน์ ได้นำเรื่องดังกล่าวหารือกับนายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชฑูตไทยในเมียนมา เพื่อหาช่องทางช่วยผู้ประกอบการไทยในเมียนมา

ปตท.ชะลอลงทุนใหม่ในเมียนมา

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.เข้าไปดำเนินธุรกิจในเมียนมา 2 ด้านหลัก คือ 

1.ธุรกิจสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม ของ บริษัท บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งยังคงจัดส่งก๊าซได้ตามปกติเพื่อความมั่นคงของประเทศ

2.ธุรกิจน้ำมันของ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งปัจจุบันเปิดสาขาร้านกาแฟอเมซอนและสร้างคลังน้ำมันและคลังก๊าซ LPG แต่ต้องชะลอการลงทุน โดยไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม แต่ยังไม่ถึงกับถอนการลงทุน

ทั้งนี้ ไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาตั้งแต่ปี 2541 ในปัจจุบันนำเข้า 965 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยรับจากแหล่งยาดานา 650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 10% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในไทย ซึ่งนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ใช้ในอุตสาหกรรมและภาคขนส่งในรูปของ NGV เช่นเดียวกับก๊าซจากอ่าวไทย และ LNG

“โออาร์”ไม่ใส่เงินลงทุนเพิ่ม

นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจต่างประเทศ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  สถานการณ์ในเมียนมาทำให้สหรัฐและประเทศพันธมิตรยังคงมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  โดย OR ไม่เพิ่มเงินลงทุนในโครงการที่ได้ดำเนินการแล้วในเมียนมา 2 โครงการ ได้แก่

1.โครงการร่วมทุนบริษัท Brighter Energy (BE) ตั้งแต่ปี 2562 โดยถือหุ้นสัดส่วน 35% เพื่อประกอบธุรกิจค้าส่งและคลังเก็บ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นคลังน้ำมันใหญ่สุดของเมียนมา ความจุ 1 ล้านบาร์เรล และมีความจุ LPG 4,500 เมตริกตัน 2.โครงการร่วมทุนบริษัท Brighter Energy Retail โดยนำแบรนด์ของ OR มาทำตลาด ได้แก่ สถานีบริการน้ำมันและก๊าซแอลพีจี , ร้านคาเฟ่ อเมซอน

“OR ไม่มีการชำระทุนเพิ่มเติมในโครงการ BE โดยยังคงสนับสนุนพันธมิตรในด้านการให้ความรู้ การฝึกบุคคลากรและให้ผู้ถือหุ้นดำเนินการต่อเอง ขณะที่การเปิดร้านคาเฟ่ อเมซอนในเมียนมา ยังเปิดที่สำนักงาน ปตท.สผ.ซึ่งย้ายมาจากโลเคชั่นเดิมที่เกิดเหตุปะทะขึ้น  ทั้งนี้เพื่อเป็นการคงความรับรู้ถึงแบรนด์”

รวมทั้งระหว่างนี้เป็นช่วงที่ OR นิ่งและรอ (wait and see) เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยยังไม่มีแผนถอนการลงทุน แต่จะรอจนกว่าจะปลดแซงชั่น

“หากไม่มีการรัฐประหารและสงครามภายในเมียนมาถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพการลงทุน เพราะเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่บริโภคน้ำมันสูง อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เมียนมายังมีความเสี่ยงสูงสำหรับนักลงทุน”

แบงก์กรุงเทพระวังปล่อยสินเชื่อ

นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่กิจการธนาคารต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า การให้บริการของธนาคารกรุงเทพ สาขาย่างกุ้ง ยังเปิดบริการตามปกติทั้งให้บริการผ่านธุรกรรมปกติ ฝาก-ถอน และให้บริการสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจรายใหญ่

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ในเมียนมาทำให้ธนาคารกรุงเทพให้บริการระมัดระวังขึ้น โดยแทบไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่สำหรับการลงทุนใหม่เลยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะนักลงทุนรายใหม่ไม่ต้องการลงทุนจนกว่าสถานการณ์ในเมียนมาจะดีขึ้น ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อเน้นประคอง และให้บริการสำหรับลูกค้าเก่าเป็นหลัก ทั้งลูกค้าคนไทยที่ไปลงทุนธุรกิจในเมียนมาและลูกค้าเมียนมาที่เป็นลูกค้าธนาคารกรุงเทพ

อย่างไรก็ตามลูกค้าของธนาคารกรุงเทพทั้งลูกค้าไทยและลูกค้าในเมียนมาบางส่วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่แน่นอนในเมียนมาทำให้บางส่วนชะลอลงทุน แต่โดยรวมลูกค้าเดิมยังมีผลประกอบการดีและชำระหนี้ได้ตามปกติ

“ปัจจุบันธนาคารระมัดระวังให้บริการ และยังไม่ปิดสาขา ยังให้บริการปกติ แต่หลักๆ ในมุมสินเชื่อเป็นการให้สินเชื่อลูกค้าเก่าที่ยังประคอง แต่ลูกค้าใหม่แทบไม่มีเพราะที่ผ่านมาไม่มีดีมานด์การลงทุนใหม่ในเมียนมา ดังนั้นกลยุทธ์ธนาคารยังไม่เร่งปล่อยสินเชื่อ แต่เน้นดูแลความสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งยอมรับว่าลูกค้าเราได้รับผลกระทบบ้าง เพราะทำธุรกิจยากขึ้น แต่โชคดีทีธุรกิจยังมีผลประกอบการดี”

อย่างไรก็ตาม ก่อนมีเหตุการณ์การปฏิวัติ ธนาคารกรุงเทพเป็นแบงก์เดียวที่ได้รับอนุมัติยกระดับธนาคารต่างประเทศเป็นธนาคารท้องถิ่นในเมียนมา โดยเมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชะลอ แต่อนาคตหลังสถานการณ์ดีขึ้น ธนาคารมีแผนขอยกระดับธนาคารเป็นธนาคารท้องถิ่นอีกครั้ง เพราะเมียนมาเป็นตลาดมีศักยภาพเติบโตสูง

“กสิกร-ไทยพาณิชย์”รอสถานการณ์

ทั้งนี้ที่ผ่านมาไม่เฉพาะธนาคารกรุงเทพที่ลงทุนในเมียนมา แต่มีแบงก์ใหญ่เข้าไปลงทุน เช่น ธนาคารกสิกรไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ก่อนหน้านี้ ธนาคารกสิกรไทยประกาศชะลอลงทุนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

จากก่อนหน้าธนาคารกสิกรไทยขยายธุรกิจเพื่อเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 ด้วยกลยุทธ์ Asset Light and Digital Expansion โดยรุกตลาดเมียนมาผ่านการร่วมลงทุนสัดส่วน 35% ในธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ (เอแบงก์)

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ต้องการปักหมุดเมียนมา โดยได้รับอนุมัติตั้งธนาคารลูก (Subsidiary Bank) ในเมียนมา และมีแผนบริการการเงินลูกค้ารายใหญ่กลุ่มเอสเอ็มอีและรายย่อยครบวงจร ซึ่งพร้อมเป็นสะพานเชื่อมการค้าการลงทุนระหว่างไทย-เมียนมา และต่อยอดสู่เครือข่าย CLMV+2 คาดว่าตั้งธุรกิจแล้วเสร็จพร้อมให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยตั้งเป้า 5 ปีแรกอัดฉีดสินเชื่อ 7,000 ล้านบาท ภายในปี 2567 และมองว่าเมียนมาเป็นประเทศมีศักยภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจอันดับต้นของภูมิภาคที่นักลงทุนจากทั่วโลกสนใจ

โดยการได้รับการอนุมัติจากธนาคารกลางเมียนมาให้ตั้งธุรกิจแบบจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายเมียนมา (Subsidiary Bank) ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดธนาคารในรูปแบบบริษัทลูกที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้น 100% และประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เสมือนธนาคารท้องถิ่นในเมียนมา โดยภายใต้ Subsidiary License ทำให้เปิดสาขาในแหล่งธุรกิจที่สำคัญได้ 10 สาขา

แม้ในมุมของการ “ขยายสาขา” หรือการเข้าไปถือหุ้นในแบงก์เมียนมาจะถูกพับแผนหรือชะลอไม่มีกำหนด แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินไทยยังสนใจเมียนมา โดยเฉพาะผ่านการให้บริการในด้านการโอนเงินระหว่างประเทศที่จับมือพันธมิตรเข้าไปให้บริการ

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...