‘แอชตัน อโศก’ คำตัดสินที่มี ‘กฎหมาย’ และ ‘คนทุบตึก’ เป็นผู้ชนะ

Key Points:

  • ถอดบทเรียน “แอชตัน อโศก” หลังศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ผู้เชี่ยวชาญการผังเมือง ชี้ ศาลพิจารณาจากกฎหมายสองส่วน คือ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดิน ปัญหาทางเข้าออกทำให้ที่ดินแปลงนั้นทำได้ทุกอย่างยกเว้น “ที่อยู่อาศัย”
  • ข้อกำหนดเรื่องทางเข้าออก 12 เมตร ขัดกับเจตนารมณ์ของ “กฎหมายผังเมือง” ซึ่งเป็นรองจากรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้พื้นที่ “แอชตัน อโศก” ต้องมีการใช้พื้นที่อย่างเข้มข้น จึงมีความไม่ลงรอยกันของกฎหมายทั้งสองส่วน
  • หลังจากนี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและต่างชาติผู้ซื้อคอนโดฯ จะลดลงอย่างแน่นอน กรณีนี้โจทก์คือหน่วยงานภาครัฐที่ออกใบอนุญาตไม่ใช่ผู้พัฒนาฯ อย่าง “อนันดา” ทั้งยังมีคอนโดฯ อีก 13 แห่งที่มีกรณีคล้ายกัน หากมีผู้ยื่นฟ้องบรรทัดฐานที่ศาลตัดสินก็อาจกระทบลูกบ้านอีกจำนวนมาก


ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นโดยมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง “แอชตัน อโศก” ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับเป็น “ครั้งแรก” ของไทยที่เกิดกรณีเช่นนี้ กล่าวคือ ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ มีลูกบ้านเข้าอยู่อาศัยมากถึง 800 ครัวเรือน ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทว่ากลับลงเอยที่การถูกเพิกถอนใบอนุญาต เท่ากับว่าสถานะของ “แอชตัน อโศก” ตอนนี้ไม่ปรากฏเป็นที่พักอาศัยอีกต่อไป โฉนดในมือไม่สามารถซื้อ-ขาย หรือทำธุรกรรมใดๆ ได้ 

อย่างไรก็ตาม มหากาพย์ “แอชตัน อโศก” ไม่ได้กระทบเพียงผู้พัฒนาโครงการอย่าง “อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” เท่านั้น แต่ยังกลายเป็น “โดมิโนเอฟเฟ็กต์” ถึงลูกบ้านในโครงการ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ผู้ประกอบการรายเล็ก-รายใหญ่ รวมถึงการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยหลังจากนี้ด้วย

หลังคลื่นลมสงบลงชั่วครู่ “กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “พนิต ภู่จินดา” อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมนักผังเมืองไทย ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญและนักผังเมืองในประเด็นข้อกฎหมาย และ “พนล ลีลามานิตย์” กรรมการผู้จัดการ เจด พาร์ทเนอร์ส และผู้จัดการกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ “ALLY KEX Private Equality Trust” รวมทั้งยังมีประสบการณ์เคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) ที่จะมาให้ความเห็นในมุมของนักพัฒนาอสังริมทรัพย์ด้วย

  • “ที่ดินเวนคืน” ต้องใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อ “คนกลุ่มเดียว”

หากนำคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดมาถอดรหัสดู จะพบว่า ตัวบทกฎหมายที่นำมาใช้ในการตัดสินครั้งนี้มีอยู่สองส่วน ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดิน ส่วนของกฎหมายควบคุมอาคาร อ.พนิตอธิบายว่า ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33/2535 ออกตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารหมวด 1 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า หากเป็นอาคารสูงหรือมีขนาดใหญ่พิเศษ หรือมีพื้นที่มากกว่า 30,000 ตารางเมตร ต้องมีถนนด้านใดด้านหนึ่งมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร และมีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร แปลให้เข้าใจโดยง่าย คือ ต้องมีทางเข้าออกสู่ตัวอาคารกว้าง 12 เมตรขึ้นไป และทางกว้าง 12 เมตรนี้ต้องเชื่อมติดกับถนนใหญ่ด้านนอกที่มีความกว้าง 18 เมตรขึ้นไปด้วย

สำหรับกรณี “แอชตัน อโศก” เจตนารมณ์ของผู้พัฒนาฯ คือ ต้องการนำที่ดินมาพัฒนาเป็นแปลงใหญ่ และหากประเมินมูลค่าที่ดินบริเวณดังกล่าวจะทำแบบ “ไม่ใหญ่พิเศษ” ก็ดูจะไม่คุ้มค่าที่ดิน ทว่าปัญหาคือที่ดินตรงนั้นมีทางเข้าออกกว้างเพียง 6.4 เมตร ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมอาคารไม่สามารถทำเป็นที่อยู่อาศัยได้เลยแม้แต่บ้านเดี่ยวก็ยังทำไม่ได้ สิ่งที่ “อนันดา” ทำจึงเป็นการติดต่อเจรจาขอใช้ทางเข้าออกร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ “รฟม.” ผู้เป็นเจ้าของที่ดินทางเข้าออกจากการเวนคืนมาสร้างรถไฟฟ้า โดยทั้ง “อนันดา” และ “รฟม.” มีการเจรจาตกลงกันโดย “อนันดา” จ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวน 97 ล้านบาทในการสร้างอาคารจอดรถเพื่อแลกกับการใช้ทางเข้าออกกว้าง 13 เมตรตามกฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม แม้ที่ดินทางเข้าออกดังกล่าวจะตรงตามข้อกำหนด พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร แต่ อ.พนิต ชี้ว่า ประเด็นที่ทำให้ทางเข้าออกนี้ “ถูกตีตก” จนนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาต เนื่องจาก “รฟม.” เวนคืนที่ดินมาด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณะ คำถามคือ “รฟม.” สามารถนำที่ดินมาแลกสิทธิให้เอกชนเข้าออกแปลงที่ดินของตัวเองได้หรือไม่ การให้เอกชน คือ “อนันดา” ใช้เป็นทางเข้าออกจึงผิดวัตถุประสงค์การเวนคืนที่ดิน นอกจากนี้ หากจะเปลี่ยนเป็น “สัญญาเช่า” ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะอาคารชุดเพื่อการพักอาศัยตามวัตถุประสงค์ คือ “อยู่อาศัยตลอดไป” ผู้พัฒนาโครงการจึงต้องเป็นเจ้าของแล้วโอนให้ลูกบ้านผู้ถือโฉนดได้ 12 เมตรเต็มๆ จากทั้งสองเงื่อนไขนี้จึงทำให้ศาลเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้าง

“ที่ดินแปลงนี้ทำได้ทุกอย่างเว้นคอนโดฯ อาคารใหญ่พิเศษก็ทำได้ยกเว้นคอนโดฯ เพราะคอนโดฯต้องมีทางเข้าออก 12 เมตรเต็มๆ ถ้าเป็นศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ให้เช่า สามารถใช้วิธีการเช่าทางเข้าออกได้ เพราะตามกฎหมายอาคารเหล่านี้มีอายุใช้งาน 30 ปีตามอายุอาคาร แต่คอนโดมิเนียมเป้าหมายคือขายขาดเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยตลอดไป เกิดวันหนึ่ง รฟม. เขาไม่ให้เช่าต่อไปแล้วจะทำยังไงนี่คือวัตถุประสงค์ ทั้งหมดนี้วางอยู่บนหลักการ “Public safety” ต้องมีความสามารถในการรองรับการจราจรขนาดใหญ่ได้เพียงพอ พอเป็นอาคารชุดพักอาศัยจึงไม่สามารถที่จะทำได้ ตึกประเภทอื่นถ้าหาสัญญาเช่ามาได้ก็จบ แต่อาคารชุดพักอาศัยคืออยู่อาศัยตลอดไป”

  • “กฎหมายผังเมือง” ข้อโต้แย้งที่ยังไม่มีใครพูดถึง

แม้ในคำตัดสินจะระบุถึงสองส่วนหลักๆ คือ ขัดกับ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร และผิดวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินเพื่อสาธารณะ แต่ อ.พนิตชี้ให้เห็นว่า มีอีกส่วนสำคัญที่ยังไม่มีใครพูดถึง และหากนำมาเทียบเคียงพิจารณาร่วมกับกฎหมายควบคุมอาคารก็จะพบว่า มีความไม่ลงรอยกันพอสมควร นั่นคือ “กฎหมายผังเมือง”

หากดูจากกฎหมายผังเมืองจะพบว่า ที่ดิน “แอชตัน อโศก” ถูกกำหนดในผังเมืองรวมให้เป็นที่ดินสีแดง พ.5 คือ อยู่ในที่ดินประเภทพาณิชยกรรม ใช้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางการค้า บริการ การท่องเที่ยว สามารถนำมาใช้เพื่อการพาณิชย์หรือสร้างเป็นที่อยู่อาศัยได้ 

สมมติมีที่ดิน 1 ไร่ที่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีแดง ที่ดินบริเวณดังกล่าวสามารถ “ใช้สอยพื้นที่ในอาคารได้อย่างเข้มข้น” เสมือนเป็นพื้นที่ 10 ไร่ มีความเข้มข้นในการใช้ที่ดินมากเท่ากับที่ดินย่าน “สีลม” หรือ “รัชดา” ซึ่งเป็นย่านที่มีความหนาแน่นและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ฉะนั้น ที่ดิน “แอชตัน อโศก” ซึ่งมีทางเข้าออกเพียง 6.4 เมตรตาม พ.ร.บ. นั้น อาจเข้าข่ายขัดต่อเจตนารมณ์ผังเมืองที่ต้องการให้ใช้ที่ดินอย่างเข้มข้น 

“ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะไม่เกิดการพัฒนาเมืองตามผังเมือง ตามตัวศักยภาพของที่ดิน และถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็จะไม่เกิดการพัฒนาที่ดินอย่างเข้มข้นเพราะมีทางเข้าเพียง 6.4 เมตร กลายเป็นว่า ส่วนที่ควรจะพัฒนาอยู่กลางเมืองก็ต้องออกไปอยู่นอกเมืองถ้าในเมืองมีแปลงที่ดินหลายแปลงถูกกำหนดผังเมืองให้ใช้ประโยชน์อย่างเข้มข้นแต่มีทางเข้าออกไม่พอ กลางเมืองเราก็จะมีความหนาแน่นต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่มีรถไฟฟ้า มีระบบขนส่งมวลชนที่ดีกว่า ฉะนั้นต้องทำให้หนาแน่นมากที่สุดแล้วค่อยขยายออกไปชานเมือง หากพิจารณาตรงนี้จึงขัดกับเจตนารมณ์ของผังเมือง

อ.พนิต ยังเสริมด้วยว่า กฎหมายผังเมืองเป็นเรื่องสากล มีอำนาจสูงกว่ากฎหมายอื่นๆ เกือบทั้งหมด เป็นรองเพียงรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเท่านั้น โดยกฎหมายผังเมืองยังมีอำนาจสามารถ “รอนสิทธิ” และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบางส่วนได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินของนาย A ต้องการสร้างเป็นโรงงานทำวัตถุระเบิด นาย A อาจบอกว่า ที่ดินนี้เป็นของตนจึงสามารถทำได้ แต่หากดูแล้วเป็นอันตรายต่อผู้คนในสังคมกฎหมายผังเมืองสามารถห้ามได้

  • ทุบตึกแถวไม่ช่วยอะไร ถ้าจะต้องมีคนผิด ก็คือ ผู้ออกใบอนุญาต 

อีกประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างมากในกรณีนี้ คือ การแก้ปัญหาด้วยการเข้าข้อซื้อตึกแถวด้านหลังโครงการเพื่อใช้เป็นทางเข้าออก อ.พนิตให้ข้อมูลว่า แม้ “อนันดา” จะสามารถซื้อตึกแถวบริเวณดังกล่าวได้ทั้งหมดก็ไม่สามารถทำให้ทางเข้าออกถูกต้องตามกฎหมายได้ เพราะตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารทางเข้าออกที่ติดกับเขตทางจะต้องกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ซึ่งทางเข้าด้านหลังหากนับเฉพาะที่ดินที่เป็น “ทางบก” ไม่รวมคลองหรือหนองบึงอย่างไรก็ไม่ถึง 18 เมตร

ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ นี้ คือ เพื่อเป็น “Public safety” ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต้องกว้างพอที่จะให้จำนวนครัวเรือนกว่า 800 ครัวเรือนที่พักอาศัยในคอนโดฯ สามารถอพยพ-เข้าออกได้ กรณีนี้จึงตัดตัวเลือกการกว้านซื้อตึกแถวด้านหลังทิ้งไปได้เลย ซึ่งทาง “อนันดา” น่าจะทราบเรื่องนี้อยู่แล้วว่า ทำไม่ได้ จึงใช้วิธีการเจรจาขอใช้พื้นที่ร่วมกับ “รฟม.” แทน

ปัจจุบันสถานะของ “แอชตัน อโศก” คือ “ไม่มีสถานะ” เสมือนว่าตอนนี้ไม่มีอาคารสิ่งปลูกสร้างแห่งนี้อยู่เลย มีผล “โมฆียะ” ทางกฎหมายไปแล้ว ในมุมของนักผังเมืองอาจารย์มองว่า “อนันดา” ก็เป็นเหยื่อในเรื่องนี้เช่นกัน ในมุมมองของ อ.พนิต ระบุว่า ถ้าจะมีคนผิดที่สุด ก็คือผู้ออกใบอนุญาตหรือ “กทม.” เพราะเป็นผู้พิจารณารับรองว่า เอกสารทั้งหมดถูกต้อง “อนันดา” ในฐานะเอกชนผู้พัฒนาโครงการจะรวบรวมเอกสารมาอย่างไรก็ได้ “รฟม.” จะพิจารณาตกลงให้เอกชนเช่าทางเข้าออกอย่างไรก็ได้เช่นกัน แต่ด่านสุดท้ายที่เป็นผู้พิจารณาและเชื่อว่า เอกสารเหล่านั้นถูกต้อง คือ ผู้ออกใบอนุญาต เพราะหน่วยงานเหล่านี้มีหน้าที่ในการคัดกรองความถูกต้อง และผู้บริโภคไม่มีทางรับรู้กระบวนการเหล่านี้ได้

-“พนิต ภู่จินดา” อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมนักผังเมืองไทย-

  • อสังหาฯ ซึมยาว นักลงทุนหดหาย ความเชื่อมั่นตลาดวูบ

ข้ามมาทางฝั่งผู้พัฒนาที่ดิน “พนล ลีลามานิตย์” เท้าความว่า จุดประสงค์ของ “Developer” คือ ต้องหาทุกวิธีที่จะส่งมอบคุณค่าที่ดินผืนนั้นให้คุ้มประโยชน์มากที่สุด สำหรับผู้พัฒนาฯ แล้ว โดยส่วนใหญ่ก่อนเริ่มโครงการจะมีการส่งจดหมายไปยังหน่วยงาน คณะกรรมการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อเป็นการรับรองว่า ทุกกระบวนการเป็นไปอย่างถูกต้อง

สำหรับ “แอชตัน อโศก” ไม่ได้เป็นโครงการของ “อนันดา” เจ้าเดียว แต่ยังเป็นการร่วมทุนกับ “มิตซุย ฟูโดซัง” ผู้พัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ในญี่ปุ่น ทั้งสองแบรนด์เป็น “บิ๊กเนม” ในวงการทั้งคู่ กรณีแอชตันจึงกระทบกับความเชื่อมั่นทั้งในมุมของนักลงทุนต่างชาติและผู้บริโภคอย่างแน่นอน กลายเป็นว่า ชื่อเสียง-ประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่สามารถการันตีสินค้าที่ซื้อไปได้ เสียทั้งความรู้สึกและความมั่นใจโดยเฉพาะผู้ซื้อต่างชาติที่อาจจะมีมุมมองอีกแบบเกี่ยวกับเรื่องความมั่นใจ ความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือในการลงทุนจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่แม้จะถือโฉนดก็ไม่สามารถการันตีได้

“ปัญหาหลักที่จะทำให้อสังหาฯ ซึมไปอีกสักพักเลย คือ เอเจนต์จะสามารถสื่อสารให้ลูกค้าต่างชาติเข้าใจได้ไหม เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปากต่อปาก เรื่องความมั่นใจอาจจะหายไปเยอะ กระทบกับการตัดสินใจไปแล้วไม่รู้จะเชื่อใครได้ เพราะภาครัฐมีความเห็นโอเค มีค่าขอใช้พื้นที่กับภาครัฐโดยตรงก็ยังไม่เพียงพอ แล้วคำตัดสินของศาลก็กลายเป็นหน่วยงานภาครัฐผิดเอง สมมติเกิดกรณีที่ภาครัฐต้องชดเชยค่าเสียหายให้ลูกบ้านก็ไม่รู้ว่า เงินชดเชยที่จ่ายต้องเอาภาษีเราไปจ่ายผู้ซื้อด้วยหรือไม่เพราะก็เป็นเงินจากหน่วยงานภาครัฐ แต่ส่วนที่น่ากังวลที่สุดคือความเชื่อมั่นในตลาด ตั้งแต่โควิด-19 สินค้าประเภทคอนโดมิเนียมไม่ขยับเลย พอเราเริ่มเปิดประเทศบ้านจัดสรรได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะคนอยู่คอนโดฯ ไม่ไหว ซึ่งตอนนี้ก็กลับมาซึมอีกเพราะดีมานด์ที่อยู่อาศัยถูกใช้ไปกับการซื้อบ้านไปแล้ว ตอนนี้คอนโดฯ จึงค่อนข้างเงียบ”

  • “EIA” ขอยาก ที่ดินทับซ้อน กฎหมายคลุมเครือ

นอกจากปัญหาด้านความเชื่อมั่นที่จะยืนระยะไปอีกพักใหญ่ “พนล” ยังเสริมต่อถึงปัญหาในวงการอสังหาริมทรัพย์ ณ ขณะนี้ว่า ประเด็นการขอ “EIA” หรือ “Environment Impact Assessment Report” การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในปัจจุบันใช้เวลาค่อนข้างนาน ก่อนหน้านี้กินเวลา 6-8 เดือน แต่ปัจจุบันลากยาว 1-2 ปี ผลกระทบต่อผู้พัฒนาฯ ในการใช้เวลาขอ “EIA” นาน คือ ความเสี่ยงเมื่อซื้อที่ดินมาแล้วขอใบอนุญาตไม่ได้ ทำให้เกิดผลกระทบกับบริษัทผู้พัฒนาฯ ค่อนข้างหนัก ที่ผ่านมาเคยมีกรณีบริษัทผู้พัฒนาฯ รายใหญ่ซื้อที่ดินเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายสร้างไม่ได้ก็กระทบหนักเช่นกัน แม้ “EIA” จะมีข้อดี คือ ทำให้ผู้พัฒนาฯ ระมัดระวังผลกระทบกับชุมชนแต่ตอนหลังกลับเป็นโจทย์ยากมากขึ้นเรื่อยๆ 

อีกประเด็นที่ “พนล” ยกตัวอย่าง คือ ถนนในกรุงเทพฯ มีความสลับซับซ้อนไม่น้อย อย่างช่วงถนนสุขุมวิทที่แม้จะเป็นซอยเชื่อมติดกันแต่ก็มีทั้งถนนสาธารณะและถนนส่วนบุคคลปะปนกัน หรือถนนพหลโยธินก็มีบางส่วนที่เป็นที่ดินของกองทัพบก เส้นรัชดาภิเษกเองก็มีส่วนที่เป็นที่ดินของ “การรถไฟ” ตลอดแนวเช่นกัน หมายความว่า มีกรณีคล้ายกันนี้เยอะมากที่เอกชนขอใช้ทางเข้าออกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพราะหน่วยงานบางแห่งก่อตั้งมาหลักร้อยปีจึงมีที่ดินถือครองจำนวนมาก บางแห่งได้มีการเจรจาจ่ายค่าเปิดทางด้วยกรณีคล้ายกับ “แอชตัน อโศก” แม้ว่าตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารจะมีข้อกำหนดเพื่อปกป้องประชาชนก็ตาม

-พนล ลีลามานิตย์ กรรมการผู้จัดการ เจด พาร์ทเนอร์ส และผู้จัดการกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ “ALLY KEX Private Equality Trust”-

  • บทสรุปไม่จบง่ายๆ ลากยาวอย่างน้อย 5 ปี ไม่มีใครชนะนอกจาก “คนทุบตึก”

“พนล” มองว่า ความคลุมเครือของกฎหมายที่เกิดจากบรรทัดฐานใหม่กระทบกับความมั่นใจของผู้พัฒนาฯ แน่นอน การจ้างนักกฎหมายหรือส่งจดหมายหารือยังไม่เพียงพอ มองว่า ควรมี “Rule book” เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันหรือไม่ว่า แบบไหนที่สร้างได้ถูกต้องแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งยังมองว่า กรณีนี้เป็น “ครั้งแรก” ที่เกิดขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะยกให้เป็นกรณีศึกษา เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 800 ครัวเรือน

“สำหรับผู้บริโภคก็เห็นด้วยว่า ไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่ต้องมาตรวจสอบ ส่วนเคสที่เกิดกับอนันดาเป็นสิ่งที่ต่อให้ปรึกษานักกฎหมายอย่างไรก็ไม่มีทางเจอ ถ้าเป็นผู้บริโภคที่เก่งมากก็อาจจะตรวจสอบโฉนด ถามกรมที่ดินว่าถูกต้องไหม บริษัทที่ก่อสร้างมีเงินสดพอไหม ขาดทุนไหม อันนี้คือสิ่งที่เขาหาได้โดยไม่ลำบากเกินไป แต่ในกรณีแอชตันต่อให้เก่งแค่ไหนก็มองไม่เห็นว่ามีปัญหา มันเป็นปัญหาที่อนันดาเกี่ยวข้องแต่ไม่ใช่โจทก์ ไม่ใช่จำเลยในคดีนี้ซึ่งเคสนี้คงจบไม่เร็ว การย้ายครัวเรือนที่เข้าไปอาศัยแล้วของชุมชนไม่ง่าย คงเป็นเรื่องยาว 5-7 ปี ผู้ชนะผู้เดียวถ้ามีการทุบ คือ กฎหมาย กับ ผู้รับเหมาทุบตึก หรืออาจจะมีทางออกอีกแบบไหม คือเป็นความผิดนะแต่ผิดเป็นครั้งแรก ยกเว้นได้ไหม เป็นเคสแรกที่เกิดขึ้นโดยหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้กระทำผิดแต่ผู้ได้รับผลกระทบเยอะมาก ไม่รู้ว่ามีทางออกทางอื่นไหม แต่เรื่องนี้นานแน่นอน” พนลกล่าว

ด้าน อ.พนิต ระบุว่า ตามที่มีการเปิดรายชื่อคอนโดมีเนียมอีก 13 แห่งว่า มีลักษณะการขอเปิดใช้ทางเข้าออกคล้ายกับ “แอชตัน อโศก” นั้น “เป็นความจริง” คำตัดสินของศาลที่ต่อไปจะถูกนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานกับกรณีคล้ายกันนี้จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง หากมีผู้ร้องต่อศาลก็อาจเกิดกรณีซ้ำรอยเหมือนกับ “แอชตัน อโศก” ได้ 

“มันวุ่นวายแน่ๆ เพราะว่า กฎหมายเวนคืนชอบธรรมอยู่แล้ว ต้องเวนคืนเพื่อสาธารณประโยชน์ ไม่งั้นก็เหมือนตีเช็คเปล่าให้รัฐเอาไปให้ใครใช้ก็ได้ คนที่ผิดที่สุด คือ คนออกใบอนุญาต รฟม. เขาจะเขียนอะไรก็ได้ ให้คุณเช่าหมดทั้งแปลงเป็นเวลา 3,000 ปีก็ทำได้ คนที่ออกใบอนุญาตเขาก็ยื่นหลักฐานทั่วไป เขาจะเอาหลักฐานอะไรมาให้ก็ได้แต่คุณเชื่อว่าหลักฐานนั้นถูกต้องได้อย่างไร นี่คือเหตุว่าทำไมอนันดาไม่ผิด เพราะเขายื่นเอกสารตามปกติ กทม. มีหน้าที่พิจารณา และเมื่อหน่วยงานออกเอกสารให้ หน่วยงานไม่ได้กรองให้ก่อนเหรอ คนอยากพัฒนาก็ยื่นเอกสารทุกอย่างแต่ก็ยื่นไปให้คุณพิจารณาไม่ใช่ยื่นแล้วได้เลยอ.พนิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม วันที่ 23 สิงหาคม 2566 “อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” แจ้งความคืบหน้าในการแสวงหาทางออกให้กับผู้พักอาศัยซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุด โดยได้มีการเข้าหารือร่วมกับผู้ออกใบอนุญาตสองราย คือ “กทม.” และ “รฟม.” โดยจะมีการขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ จัดหาทางเข้าออกใหม่ และขออนุมัติ “EIA” ตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงขั้นตอนทางกฎหมายอื่นๆ อย่างการยื่นต่อศาลปกครองให้มีการพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ ประสานเจ้าของเดิมให้ขอคืนที่ดินที่ถูกเวนคืนจาก “รฟม.”  เสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดินไปยังรัฐสภา ทั้งหมดล้วนเป็นขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายที่ต้องมีระยะเวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...