ร.ฟ.ท.ชงบอร์ดเคาะ 'เปรม กรุ๊ป' คว้าสัญญาบริหารสถานีกลางฯ

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนใช้ประโยชน์พื้นที่ บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี จำนวน 4 สัญญา โดยระบุว่า ขณะนี้ได้พิจารณาข้อเสนอของเอกชน 1 ราย คือ บริษัท เปรม กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ที่เป็นผู้ยื่นข้อเสนอในสัญญาการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวนพื้นที่ 47,675 ตารางเมตร ระยะสัญญา 20 ปี

โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาข้อเสนอของเอกชนรายดังกล่าว พบว่าผ่านการพิจารณาคุณสมบัติข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านผลตอบแทนแล้ว โดยพบว่าข้อเสนอของเอกชนรายดังกล่าวได้เสนอผลตอบแทนสูงกว่าที่ ร.ฟ.ท. กำหนดไว้ที่ 78 บาทต่อตารางเมตร กระบวนการในขณะนี้อยู่ระหว่างเชิญเอกชนมาเจรจาในรายละเอียดเงื่อนไขให้ครบ และชัดเจนตามเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เพื่อให้ ร.ฟ.ท. และประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ประเมินว่ากระบวนการเจรจากับเอกชนรายดังกล่าวจะแล้วเสร็จพร้อมนำผลการเจรจาเสนอต่อประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาในเดือน ก.ย.นี้ โดยหากได้รับการเห็นชอบก็จะสามารถลงนามสัญญาได้ทันที เพื่ออนุญาตให้เอกชนเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างติดตั้งร้านค้าต่างๆ ตามข้อเสนอที่กำหนดไว้ และเริ่มดำเนินการในส่วนที่จำเป็นต่อการให้บริการผู้โดยสารเป็นอันดับแรก เช่น ร้านอาหาร

“ตามแผนเร่งด่วนที่เรามองว่าประชาชนต้องการใช้บริการ คือ ส่วนของร้านอาหาร ซึ่งเราต้องการให้เอกชนเข้าปรับปรุงศูนย์อาหารในปัจจุบันที่การรถไฟฯ เปิดให้บริการผู้โดยสารอยู่ที่บริเวณประตู 4 ชั้น 1 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยส่วนนี้คาดว่าจะเริ่มปรับปรุงได้ทันที และใช้เวลาปรับปรุงราว 2 – 3 เดือน ดังนั้นจะสามารถเปิดให้บริการผู้โดยสารในส่วนของร้านอาหารโฉมใหม่ภายในปลายปีนี้”

นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ศูนย์อาหารใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะดำเนินการโดยผู้ประกอบการรายใหม่ ส่วนจะขายอาหาร หรือเครื่องดื่ม หรือมีร้านอะไรบ้างนั้น เป็นหน้าที่ผู้ประกอบการที่ต้องศึกษาพฤติกรรมการผู้บริโภคว่าต้องการให้มีอาหาร และเครื่องดื่มประเภทใดบ้าง ซึ่ง ร.ฟ.ท. ได้ให้เร่งดำเนินการ คาดว่าจะมีร้านอาหาร และร้านเครื่องดื่มหลากหลาย รวมถึงจะมีร้านแบรนด์ดังมาเปิดให้บริการด้วย ส่วนราคาอาหาร เครื่องดื่มจะใกล้เคียงกับห้างสรรพสินค้า อาจมีราคาสูงกว่าด้านนอกเล็กน้อย แต่เบื้องต้นจะควบคุมไม่ให้ราคาสูงเกินไป รวมถึงจำเป็นต้องมีร้านอาหารราคาประหยัดเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการด้วย

ขณะที่การดำเนินงานจัดหาผู้ประกอบการบริหารสัญญาในอีก 3 สัญญาที่ ร.ฟ.ท.ได้เปิดประมูลไปก่อนหน้านี้แต่ไม่มีเอกชนยื่นข้อเสนอนั้น เบื้องต้น ร.ฟ.ท.จะเสนอบอร์ดเพื่อขอเปิดประกวดราคาอีกครั้งภายในปีนี้ ซึ่งยืนยันว่าเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชนรูปแบบเดิมมีความเหมาะสมแล้ว ดังนั้นจะยังคงใช้เงื่อนไข RFP ฉบับเดิม

แต่หากรอบนี้ไม่มีบริษัทเอกชนรายใดสนใจเข้ายื่นข้อเสนออีก เบื้องต้น ร.ฟ.ท. มีแนวทางให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด(SRTA) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท. ดูแลไปก่อน เนื่องจากสัญญาส่วนใหญ่เป็นสัญญาระยะสั้นที่ต้องการหาเอกชนเข้ามาบริหารเพียง 3 ปี ระหว่างรอเปิดประกวดราคางานเดินรถ งานระบบตั๋ว จัดหาขบวนรถ และการดำเนินงานและบำรุงรักษา(O&M) ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งจะเป็นการลงทุนในรูปแบบร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)

สำหรับการยื่นข้อเสนอโครงการเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนใช้ประโยชน์พื้นที่ บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี จำนวน 4 สัญญา โดยพบว่ามีรายละเอียด ดังนี้

1. สัญญาโครงการยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีเอกชนร่วมซื้อเอกสารประกวดราคา จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1. บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด 3. บริษัท เปรม กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และปรากฎว่า มีเอกชนยื่นข้อเสนอฯ จำนวน 1 ราย คือ บริษัท เปรม กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

2. สัญญาโครงการยื่นข้อเสนอเพื่อใช้สิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวนพื้นที่ มีผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคา จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1.บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) และ 2.บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แต่ปรากฏว่าไม่มีเอกชนเข้ายื่นข้อเสนอฯ

3. สัญญาโครงการยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง ไม่มีผู้ซื้อซองเอกสารข้อเสนอฯ

4. สัญญาโครงการยื่นข้อเสนอเพื่อใช้สิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี มีผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคา จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1.บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) และ 2.บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แต่ปรากฏว่าไม่มีเอกชนเข้ายื่นข้อเสนอฯ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...