“บพท.” จับมือ “อีอีซี” ใช้ความรู้จากงานวิจัย เสริมการพัฒนา "สมาร์ทซิตี้"

ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวถึงบทบาทของ บพท.ในความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า บพท.ได้มีการหารือกับอีอีซีในการใช้ความรู้จากงานวิจัยในการพัฒนาเมืองน่าอยู่และเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์กับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งในปัจจุบันอีอีซีนั้นมีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้งที่เป็นเมืองเก่า และพื้นที่ที่เป็นเมืองใหม่เพื่อรองรับจำนวนประชากร และแรงงานในพื้นที่อีอีซีที่มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

ทั้งนี้อีอีซีถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษที่จะรองรับการนำเอาความรู้ในงานวิจัยเกี่ยวกับการสร้างเมืองอัจฉริยะมาพัฒนาในพื้นที่เนื่องจากอีอีซีมีจุดแข็ง 3 เรื่องคือ

1.เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมของเรื่องข้อมูลที่มีการเก็บข้อมูลในหลายระดับทั้งจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา รวมทั้งองค์กรภาคประชาชน และภาคประชาสังคมซึ่งหากสามารถนำข้อมูลมารวมกันแล้วประยุกต์ใช้เพื่อให้เห็นข้อมูลในระดับพื้นที่ได้ครบถ้วนมากขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ

2.อีอีซีมี พ.ร.บ.เป็นของตัวเองซึ่งถือว่ามีความได้เปรียบในทางแง่กฎหมาย และกฎหมายของอีอีซีถือว่าเป็นกฎหมายที่ทรงพลัง และมีความทันสมัยมีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้ ซึ่งถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆที่อาจติดขัดในเรื่องข้อกฎหมาย และขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆ

และ 3.อีอีซีมีพื้นที่ทดลองในระดับนโยบายที่เรียกว่า “แซนด์บอกซ์” ซึ่งแนวความคิดนี้ก็ถือว่าสอดคล้องกับการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะซึ่งจะต้องมีการทดลองบางเรื่องในพื้นที่ที่มีขอบเขตจำกัดก่อน หากได้ผลจึงนำไปขยายผลในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถนำงานวิจัยไปทดลองทดสอบในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นแซนด์บอกซ์ก่อนที่จะขยายออกไปในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นได้

“บพท.มีประสบการณ์ในการทำเมืองอัจฉริยะมาหลายพื้นที่ ซึ่งเห็นถึงปัญหา อุปสรรคและจุดอ่อนของแต่ละพื้นที่ โดยจุดสำคัญที่ชี้วัดความสำเร็จคือความตื่นตัวของสมาชิกภายในชุมชน ซึ่งเมื่อสะท้อนปัญหาภายในแล้วจะสามารถนำเอาความรู้และงานวิจัยเข้าไปแก้ปัญหาได้ ซึ่งถือว่าตอบโจทย์เรื่องของความยั่งยืนในการพัฒนาเมือง และตอบสนองต่อปัญหาภายในที่มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของชุมชน ซึ่งบพท.ก็มีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆในการแก้ไขปัญหาของชุมชน และพัฒนาเมืองต่อเนื่องจนเป็นเมืองอัจฉริยะซึ่งกระบวนการที่สำคัญซึ่งไม่ใช่บทบาทที่นำโดยภาครัฐ”

 ทั้งนี้ บพท.ได้มีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ 15 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างยกระดับข้อมูล การให้ทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะยกระดับเมืองเข้าสู่การเป็นเมืองน่าอยู่และชาญฉลาด โดยจังหวัดและพื้นที่ตัวอย่างเช่น จ.ระยองที่มีโจทย์เรื่องของการยกระดับเมืองน่าอยู่ที่ปรับตัวได้ บนฐานข้อมูลเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน

นอกจากนี้ บพท.อยู่ระหว่างการพัฒนาข้อมูลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และเมืองอัจฉริยะ (Livable&Smart City) บนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม จะเป็นรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ครอบคลุมทั้ง 7 มิติ คือ มิติด้านการจัดการพลังงานที่ดี (Smart Energy) มิติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี (Smart Environment) มิติด้านการจัดการระบบการขนส่งคมนาคมที่ดี (Smart Mobility) มิติด้านการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ (Smart Economic) มิติด้านการพัฒนาทักษะความรู้ตลอดจนการมีส่วนร่วมของพลเมือง (Smart People) มิติด้านความสะดวกสบายและปลอดภัย (Smart Living) และมิติด้านการบริหารจัดการที่โปร่งใสมีธรรมาภิบาล (Smart Governance) ซึ่งจะส่งผลให้พลเมืองในเมืองอัจฉริยะ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570)

โดยมีตั้วอย่างของการจัดการเมืองอัจฉริยะในแต่ละพื้นที่ เช่น จ.ฉะเชิงเทรา ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบข้อมูลเมือง และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของเมือง จ.สระบุรี ที่มีการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการวางผังเมือง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองน่าอยู่ด้วยฐานข้อมูล และกรุงเทพมหานคร ที่มีการสร้างโมเดลหุ้นส่วนธุรกิจการจัดการขยะบนฐานข้อมูลทางกายภาพและกลไกความร่วมมือของชุมชน เป็นต้น

ด้านนางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการอีอีซี กล่าวว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่อีอีซีเป็นภารกิจสำคัญที่รองรับการเติบโตของพื้นที่อีอีซีในอนาคตซึ่งจะมีการเพิ่มขึ้นของประชากร แรงงาน และนักลงทุนในพื้นที่ 3          จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีคนอยู่ในพื้นที่นี้กว่า 3.5 แสนคน ซึ่งโจทย์การพัฒนาเมืองทั้งเมืองเก่าและเมืองใหม่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะจะตอบโจทย์ของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งนโยบายการพัฒนาเมืองคู่ขนานที่พัฒนาควบคู่กับกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับการขยายความเจริญสู่ภูมิภาค

ทั้งนี้เป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของอีอีซีถือว่ามีเป้าหมายที่ใกล้เคียงกับ บพท.คือเนื่องจากจะเป็นเมืองที่มีความทันสมัย มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกเชื่อมต่อคนและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน แล้วยังต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่จะรองรับการอยู่อาศัยของกลุ่มคนต่างๆในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่อีอีซีมุ่งเน้นให้ความสำคัญมากขึ้น

สำหรับโครงการสมาร์ทซิตี้ในอีอีซีเป็นโครงการ เร่งด่วนภายในระยะเวลา 99 วัน ที่สำนักงานอีอีซีจะดำเนินการเมื่อมีรัฐบาลใหม่ สำหรับพื้นที่ใหม่จะเริ่มต้นจากศูนย์ทั้งหมด โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ตามเป้าหมาย เน้นการลงมือทําจริง เพื่อดึงดูดเงินลงทุนผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 5 คลัสเตอร์หลัก คือ การแพทย์ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG และบริการ 

ทั้งนี้ตามแผนแม่บทพัฒนาโครงการได้จัดทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแบ่งโซนตามกลุ่มธุรกิจหลัก แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย

1) ศูนย์กลางการเงิน ประกอบด้วยธุรกิจการเงินและตลาดทุน สนับสนุนการลงทุน Fintech และ Green Bond  

2) สำนักงานภูมิภาค RHQ/ศูนย์ราชการ เช่น สำนักงานภูมิภาคของธุรกิจไทยที่มีธุรกิจในอีอีซี และสถานที่ราชการที่สำคัญ 

3) การแพทย์แม่นยำ/การแพทย์อนาคต เพื่อเป็นที่ตั้งของธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนกับโรงพยาบาลชั้นนำของโลก ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย 

4) การศึกษา วิจัย และพัฒนา เป็นพื้นที่สำหรับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสนับสนุนธุรกิจเฉพาะด้านการวิจัยพัฒนาเพื่อธุรกิจเฉพาะด้าน 

5) ธุรกิจเฉพาะด้าน เช่น พลังงานสะอาด ธุรกิจ Digitization และ 5G กลุ่มโลจิสติกส์และวิทยาศาสตร์การกีฬา

โดยพื้นที่ใหม่อยู่ในพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ เวลานี้กำลังอยู่ในช่วงการออกแบบซึ่งจะใช้เวลาราว 2-3 ปี โดยเฟสแรกมีพื้นที่ 5,000 ไร่ การออกแบบจะรเน้นตอบโจทย์การใช้สอยของกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาลงทุน ซึ่งสมาร์ทซิตี้ของอีอีซีเป็นโครงการเมืองใหม่อัจฉริยะ ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 14,619 ไร่  ในท้องที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรีเพื่อดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ 

ซึ่ง มติ กพอ. เห็นชอบให้ สกพอ. ขอรับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 15,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 4,000 ล้านบาท รวม 19,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าชดเชยที่ดิน 10,000 ล้านบาทโครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบขั้นรายละเอียดและจัดทำรายละเอียดการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) 1,000 ล้านบาทโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 200 ล้านบาท และโครงการปรับพื้นที่และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง 7,800 ล้านบาท โดยจะพัฒนาระยะแรกประมาณ 5,000 ไร่ โครงการมีที่ตั้งห่างจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา 15 กม. และห่างจากกรุงเทพฯ 160 กม. มีระยะการพัฒนา 10 ปี ระหว่างปี 2565-2575

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...