ถอดรหัสเศรษฐกิจไทย “จีดีพี” ไตรมาส 3 ปี 2566

เท้าความกันหน่อยว่า ปีที่แล้วเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี ช่วงปลายปีที่แล้วมาจนถึงต้นปีนี้ ทุกหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ต่อปี จึงไม่แปลกที่จะบอกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว

ต่อมาตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ออกมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ชักไม่เป็นไปตามที่คาด

หน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจก็ทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลง 2-3 ครั้ง คราวนี้ไม่มีหน่วยงานใดบอกว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3.0 ต่อปี แล้ว เพราะสัญญาณจากเครื่องชี้เศรษฐกิจมันฟ้อง

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ประกาศว่า ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี ทีนี้ลองมาถอดรหัสว่า ตัวเลขเหล่านี้พยายามบอกอะไรเราบ้าง ผมสรุปได้ 12 ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1.เศรษฐกิจไทย 3 ไตรมาสแรกมีแนวโน้มชะลอตัว : ถ้าเอาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจมาเรียง 3 ไตรมาส จะเห็นว่าเศรษฐกิจเราชะลอลงจากร้อยละ 2.6 เหลือร้อยละ 1.8 และเหลือร้อยละ 1.5

ฉะนั้น 3 ไตรมาสแรกมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.9 ดีกว่าค่าเฉลี่ยปี 2561-2565 ที่อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และกลับไปเท่ากับค่าเฉลี่ยปี 2556-2560 ที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี

2.ส่งออกสินค้ายังคงหดตัวแต่มีสัญญาณดีขึ้น : ปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องกัน 4 ไตรมาส โดยไตรมาสที่ 3 หดตัวที่ร้อยละ -3.1 ต่อปี หดตัวในอัตราที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

สะท้อนถึงทิศทางที่ดีขึ้น และสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ว่ากลับมาขยายตัวเป็นบวกแล้วในเดือนสิงหาคมและกันยายน

3.ท่องเที่ยวยังขยายตัวสูงแต่ชะลอลง : ในด้านการใช้จ่ายเราดูภาคการท่องเที่ยวผ่านการส่งออกบริการ พบว่า ยังขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 23.1 ต่อปี แต่ชะลอลงเป็นลำดับจากปลายปี 2565

สะท้อนว่า ภาคการท่องเที่ยวกำลังกลับเข้าใกล้ระดับปกติก่อนโควิด-19 ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาเที่ยวประเทศไทยเกือบ ๆ 40 ล้านคน หรืออาจจะมองได้ว่าการท่องเที่ยวเริ่มหมดแรงส่งต่อเศรษฐกิจแล้ว ทั้งนี้ การส่งออกบริการเฉลี่ย 10 ปี ก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ที่ร้อยละ 7.6 ต่อปี เท่านั้น

4.การบริโภคภาคเอกชนเป็นเดอะแบกเศรษฐกิจไทย : การบริโภคภาคเอกชนไตรมาสที่ 3 ขยายตัวสูงปรี๊ดที่ร้อยละ 8.1 ต่อปี เฉลี่ย 3 ไตรมาส ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.3 ต่อปี ขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีหลังที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี และยังขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีหลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี

5.การบริโภคสูงเพราะได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยว : การบริโภคภาคเอกชนแบ่งเป็น 11 หมวด ปรากฏว่า หมวดที่ขยายตัวได้ดีมาก ๆ ได้แก่ หมวดร้านอาหารและโรงแรมขยายตัวร้อยละ 36.9 ต่อปี และหมวดบริการคมนาคมขยายตัวร้อยละ 13.0 ต่อปี

ทั้ง 2 หมวดนี้มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 23 ของการบริโภคภาคเอกชน หรือเกือบ 1 ใน 4 แล้ว ซึ่งเป็นหมวดที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว ดังนั้น หากท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวในระดับปกติ แรงส่งนี้อาจจะลดลง

6.การลงทุนรวมขยายตัวได้จากภาคเอกชน : การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี เกิดจากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี แต่การลงทุนภาครัฐหดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี ซึ่งเกิดจากการก่อสร้างซ่อมแซมถนนและสะพานลดลง การจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงาน ยานพาหนะ และเครื่องมือทางการแพทย์ลดลง

7.ผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องตามการส่งออก : การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ -4.0 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องมาแล้ว 4 ไตรมาส และเป็นการลดลงทั้งอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมสินค้าทุนละเทคโนโลยี ตัวนี้จะลดลงสอดคล้องกับการส่งออกและนำเข้า เพราะอุปสงค์จากต่างประเทศลดลง

8.ภาคเกษตรกรรมขยายตัวได้น้อย : ภาคการเกษตรขยายตัวได้ร้อยละ 0.9 ต่อปี เป็นผลจากปริมาณน้ำกักเก็บและปริมาณฝนลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ผลผลิตหลัก เช่น ข้าว มัน ปาล์ม สับปะรดลดลง ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรก็ยังคงลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงยังคงลดลง

9.ภาคบริการเกี่ยวกับท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดี : ที่พักแรมและร้านอาหารขยายตัวร้อยละ 14.9 ต่อปี การคมนาคมขนส่งขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อปี ทั้ง 2 ตัว แม้จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากต้นปี แต่ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 11 ของ GDP รวม 3 ไตรมาสในปี 2566

10.สินค้าคงคลังระบายล้างสต็อก : มูลค่าสินค้าคงคลังของไตรมาส 3 ลดลงกว่า 1.8 แสนล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ -175 ต่อปี รวม 3 ไตรมาส ลดลงไปแล้วกว่า 1.9 แสนล้านบาท

สะท้อนว่า มีการนำสินค้าในโกดังไปขาย มากกว่าที่จะผลิตเข้ามาเติมในโกดัง เช่น ข้าวเปลือก สินค้าอุตสาหกรรม และน้ำมันดิบ ทำไมไม่ผลิตเพิ่ม ก็อาจจะเป็นเพราะการส่งออกยังหดตัวตามความต้องการซื้อที่ยังชะลอตัว ก็เลยชะลอการผลิตไปก่อน รอจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

11.คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นในไตรมาสที่ 4 : สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ว่าปี 2566 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 ต่อปี หมายความว่า ไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจไทยต้องขยายตัวให้ได้ร้อยละ 3.9 ต่อปีเป็นอย่างน้อย (ช่วงคือร้อยละ 3.9 – 4.2 ต่อปี) ทั้งปีจึงจะได้ร้อยละ 2.5 ต่อปี สูงกว่านี้คือกำไร

12.ยอมรับว่าเศรษฐกิจปี 2566 จะชะลอลงจากปี 2565 : การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2566 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 ต่อปี หมายความว่า สภาพัฒน์ฯ ประเมินแล้วว่าเศรษฐกิจปี 2566 สู้ปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี ไม่ได้ และจะฟื้นตัวชัดเจนในปี 2567 ตามที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 2.7 – 3.7 ต่อปี

จาก 12 ประเด็นข้างต้น ทำให้เราถอดรหัสได้ว่า เศรษฐกิจไทยชะลอลตัวลงอันเป็นผลจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกสะท้อนผ่านการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการนำเข้าสินค้ามาเพื่อผลิตส่งออกที่หดตัวลงต่อเนื่อง

2) ภาคการท่องเที่ยวซึ่งรวมถึงโรงแรม ภัตตาคาร คมนาคม และการบริโภคภาคเอกชนในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ที่เคยมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสูง ๆ ก่อนหน้านี้ เริ่มอ่อนแรงลงต่อเนื่อง และ

3) การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐก็ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่จนกว่าการจัดทำงบประมาณปี 2567 จะแล้วเสร็จ และเริ่มเบิกจ่ายอัดฉีดเศรษฐกิจได้ราว ๆ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 และหลังจากนี้ เศรษฐกิจไทยก็จะเข้าสู่แนวโน้มการฟื้นตัวจริง ๆ อย่างที่ควรจะเป็นเสียที

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...