“ภูมิธรรม” เผยผลประชุม คกก.ประชามติชุดใหญ่ มอบอนุกรรมการศึกษาแนวทางใช้เทคโนโลยีลงคะแนน เล็งหาช่องใช้สภาฯ ถามแนวทางที่ชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญ ยัน รัฐบาลตั้งใจทำให้สำเร็จ เพราะเป็นประโยชน์กับประชาชน
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นเวลา 16.00 น. นายภูมิธรรม เปิดเผยผลการประชุม ว่า วันนี้มีการรายงานความคืบหน้าการทำงานของอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ที่มี นายนิกร จำนง เป็นประธาน ซึ่งเหลือการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในภาคเหนือและภาคใต้ และรอรัฐสภาเปิดเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หลังจากที่ฟังจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มาแล้ว ก่อนจะสรุปความคิดเห็นทั้งหมด
ส่วนความเห็นต่างเราจะบันทึกข้อคิดเห็นนั้นด้วย เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อมูลทั้งหมดเพื่อตัดสินใจ ขณะที่คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ที่มี นายวุฒิสาร ตันไชย เป็นประธาน ที่ได้ศึกษาว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง จะเลือกทางเดินในการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เกี่ยวกับวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกันมาก เราจึงสรุปและเชื่อมโยงข้อกฎหมายต่างๆ และกฎหมายประชามติที่เราจะเข้าไปทำ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการแก้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ใช้เทคโนโลยีในการออกเสียงประชามติได้ และทำให้ พ.ร.บ.ประชามติ ทำประชามติได้กว้างขวางขึ้น สามารถทำร่วมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน โดยจะให้อนุกรรมการชุด นายวุฒิสาร ไปศึกษาให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
...
นายภูมิธรรม กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังมีมติให้ตนทำจดหมายไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหญ่ เพื่อสอบถามความเห็นเรื่องเกี่ยวกับการทำประชามติ เพราะก่อนหน้านี้คุยกับเลขาธิการ กกต. ยังไม่ได้ข้อสรุปในทางกฎหมาย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังต้องการทราบว่าองค์กรใดมีอำนาจยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับการทำประชามติ จึงมีข้อเสนอขึ้นมา อยากให้สภาเสนอตีความตรงนี้ หากกระบวนการนี้จะเกิดขึ้น สภาจะเป็นผู้เสนอหากเห็นว่ามันขัดแย้งกันและเห็นว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ศาลก็มีอำนาจตีความให้เกิดความชัดเจน ซึ่งทุกประเด็นในวันนี้จะประมวลและมีความชัดเจนให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ว่าจะไปถึงระดับไหน
เมื่อถามว่ากรณี นายนิกร เสนอให้แก้กฎหมายประชามติเพื่อลดเงื่อนไข ได้พิจารณาหรือไม่ นายภูมิธรรม ตอบว่า ก็มอบหมายให้ไปศึกษาพร้อมกับเรื่องอื่นๆ ด้วย ผู้สื่อข่าวถามต่อ ที่จะเสนอให้สภาเสนอศาลรัฐธรรมนูญนั้นคือประเด็นอะไร นายภูมิธรรม ระบุว่า ประเด็นเกี่ยวกับความชัดเจนในการทำประชามติ กฎหมายประชามติจะต้องทำกี่ครั้งและทำอย่างไร รวมถึงทำกับกฎหมายเลือกตั้งอื่นได้หรือไม่ ทำประชามติผ่านเทคโนโลยีได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องมีการคุยกันในสภา ถ้ามีปัญหาอุปสรรคว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง สภาก็จะทำหน้าที่ไปถามศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ประเด็นสำคัญคืออยู่ที่ว่า ถ้าจะทำรัฐธรรมนูญต้องถามผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก่อน ซึ่งนำมาสู่จะต้องทำประชามติ 2-3 ครั้ง ถือเป็นประเด็นสำคัญ
ขณะที่เมื่อถามย้ำว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาให้หรือไม่ เพราะไม่ได้มีหน้าที่เป็นที่เป็นที่ปรึกษา นายภูมิธรรม เผยว่า ถ้ามีความขัดแย้งในสภาว่าจะทำ 2 หรือ 3 ครั้ง แล้วยังไม่ได้ข้อยุติ เป็นอำนาจหน้าที่ที่สภาจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เราไม่ได้คิดว่าท่านเป็นที่ปรึกษา แต่เราคิดว่าหากเป็นข้อขัดแย้งที่หาข้อยุติไม่ได้ ก็ต้องเสนอ
ส่วนคำถามว่า กระบวนการต่างๆ ที่ตั้งเพิ่มขึ้นจะกระทบไทม์ไลน์ที่จะสรุปข้อเสนอให้ ครม. ในต้นปี 2567 หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า คณะกรรมการมุ่งมั่นตามไทม์ไลน์เดิมที่เราประกาศ และพยายามทำให้ถึงเงื่อนไขตรงนั้นให้ได้ แต่ถ้าถึงจุดสุดท้ายแล้วมีปัญหาอะไรเราก็จะชี้แจงให้ทราบ และถ้าเป็นเรื่องที่จำเป็น เป็นข้อจำกัดที่ฟังได้ ตนคิดว่าประชาชนก็เข้าใจ ส่วนที่มีการมองว่ารัฐบาลจะดึงเรื่องให้เกิดความล่าช้า ขอยืนยันว่าการดำเนินการเรื่องนี้รัฐบาลตั้งใจทำให้สำเร็จ เพราะเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกส่วน.