หน้าหนาวแม้ไม่หนาวแต่ก็ยังต้องระวัง 4 โรคติดต่อ-ภัยสุขภาพที่ซ้อนอยู่

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งบางพื้นที่จะมีอากาศหนาวเย็นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย กรมควบคุมโรคมีภารกิจเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค จึงออกคำเตือนเรื่องการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2566 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ

  • โรคไข้หวัดใหญ่

แพร่กระจายผ่านการหายใจ ไอ จาม อาการผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ มักจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ น้ำมูกไหล ตาแดง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่จะมีบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรง เช่น ผู้มีโรคประจำตัว เด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ และอัตราการเสียชีวิตมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว 

  • โรคปอดอักเสบ

เกิดจากการติดเชื้อที่ถุงลมฝอยภายในเนื้อเยื่อปอด เชื้อก่อโรคส่วนใหญ่เป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอ และหายใจหอบเหนื่อย ผู้ที่มีอาการรุนแรงจะมีภาวะหายใจล้มเหลว และมีโอกาสเสียชีวิต พบได้ในทุกกลุ่มอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ที่มีประวัติโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ มักมีอาการรุนแรง สามารถรักษาด้วยการให้ยาต้านจุลชีพตามเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค

  • โรคโควิด 19

ติดเชื้อผู้ป่วยมักมีอาการเฉลี่ยประมาณ 5 วัน อาการที่พบได้บ่อย มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ สูญเสียหรือเปลี่ยนการรับรู้รสหรือกลิ่น หากมีอาการสงสัยให้ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ทันที และหากผลเป็นบวกให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น หากมีอาการรุนแรงให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด 19 หากติดเชื้อจะสามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตได้

โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ

  • โรคอุจจาระร่วงจากไวรัส

เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำ/น้ำแข็งที่มีการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค โดยเฉพาะไวรัสก่อโรคทางเดินอาหาร การรับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุก หรือค้างมื้อ ภาชนะที่ใช้ไม่สะอาด โดยพบผู้ป่วยได้ในทุกเพศทุกวัย ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ ส่วนใหญ่มักหายได้เอง แต่หากมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไป อาจทำให้ช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้ ป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย ดื่มน้ำสะอาดและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด 

โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว

  • โรคหัด 

ติดต่อโดยการไอ จาม หรือพูดคุยระยะใกล้ชิด ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ใน 1-2 วัน ก่อนที่จะเริ่มมีอาการ มักมีไข้ น้ำมูกไหล จะไอแห้ง มีผื่นขึ้นลักษณะผื่นนูนแดง ติดกันเป็นปื้นๆ ไม่มียารักษาจำเพาะ แต่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคได้ โดยฉีดเข็มแรกอายุ 9-12 เดือน เข็มสองอายุ 1 ปีครึ่ง

  • ภัยสุขภาพ

ภัยสุขภาพที่ทำให้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว คือการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ทั้งในและนอกที่พักอาศัยโดยไม่ได้มีเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องห่มกันหนาวที่เพียงพอ ขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมอบอุ่นร่างกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มเครื่องดื่มที่ให้ความอุ่น สวมใส่เครื่องนุ่งห่มกันหนาวที่เพียงพอ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงภาวะอากาศหนาว

นอกจากนี้ ให้ระวังการสูดดมแก๊สพิษจากเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส เนื่องจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ ประกอบกับในห้องน้ำมีช่องระบายอากาศไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการสะสมของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ในปริมาณมาก สามารถทำให้ผู้ที่สูดดมเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน นักท่องเที่ยวควรสังเกตการระบายอากาศในห้องน้ำ หากใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ควรเปิด พัดลมระบายอากาศทุกครั้งที่อาบน้ำ กรณีอาบน้ำติดต่อกันหลายคน ให้เปิดพัดลมดูดอากาศและเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาที กรณีไม่มีพัดลมดูดอากาศควรเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 15 นาที เพื่อให้อากาศถ่ายเท และใช้เวลาในการอาบน้ำโดยเร็ว

ในช่วงฤดูหนาวประชาชนนิยมเดินทางท่องเที่ยวไปสัมผัสอากาศหนาว จึงขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวก ให้คำแนะนำ ดูแลป้องกันอุบัติเหตุแก่นักท่องเที่ยวในจุดหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงซ้ำๆ และแนะนำนักท่องเที่ยวผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ เอาใจใส่ตนเองเป็นพิเศษเพื่อป้องกันเหตุไม่คาดคิด นำยาประจำตัวไปด้วยทุกครั้งที่เดินทาง และผู้ขับขี่รถยนต์ต้องไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพสิ่งของมึนเมาเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้ใช้ถนนร่วมกัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

ภาพจาก : Freepik

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...