ทำไมปีนี้หุ้นขึ้นดี เทคฯ ขึ้นดี กองทุนเทคโนโลยีให้ผลตอบแทนดี แต่กลับแพ้ดัชนีอ้างอิง

รวมถึงความเสี่ยงของภาวะชัตดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา แต่กลับเป็นปีที่ผลตอบแทนตลาดหุ้นโดยเฉพาะหุ้นเติบโตและกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยมาก โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ย. 66) ดัชนี NASDAQ Composite ของสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนสูงถึง 34.9%

ดัชนีหลักที่เป็นตัวแทนของหุ้นทั่วๆ ไป เช่น S&P500 ให้ผลตอบแทน 17.6% หรือแม้แต่ดัชนีหุ้นโลกโดยรวม เช่น ดัชนี MSCI All Country World Index และ MSCI World Index ก็ให้ผลตอบแทนสูงถึง 13.3% และ 14.7% เช่นกัน จากตัวเลขดังกล่าวนับได้ว่าเป็นปีที่การลงทุนในหุ้นต่างประเทศดูเหมือนจะประสบความสำเร็จด้วยดี แต่เมื่อเราเปิดราคากองทุนดูกลับมาว่ากองทุนเทคโนโลยีหลายๆ กองกลับปรับตัวไม่สูงขึ้นเท่าที่คาดไว้ ทำให้อาจจะมีผิดหวังบ้างเล็กน้อยเมื่อพิจารณาจากทิศทางของตลาดหุ้นโดยรวม .. วันนี้เราลองมาทำความเข้าใจสาเหตุกันครับ

น่าจะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่าปี 2023 นี้นั้นเป็นปีที่หุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า “Mega Cap” นั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นทั่วๆ ไปโดยเฉลี่ย และเนื่องจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่จะใช้วิธีคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาดของหุ้น (Market Capitalization Weight) ทำให้ราคาของหุ้นเหล่านั้นมีผลต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์มาก โดยหุ้นยอดนิยม เช่น Apple (AAPL) Microsoft (MSFT) Alphabet (GOOGL) Amazon (AMZN) Meta (META) Nvidia (NVDA) Tesla (TSLA)

รวมกันแล้วมีน้ำหนักสูงถึง 29% ของดัชนี หรือเกือบ 1 ใน 3 ของดัชนี S&P500 โดยหุ้นทั้ง 7 ตัวดังกล่าวนั้นนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันให้ผลตอบแทนคิดมูลค่าตามขนาดบริษัทโดยรวมสูงถึง 71% เทียบกับหุ้นที่เหลืออีก 493 ตัวที่ให้ผลตอบแทนเพียง 6% โดยหลักๆ มาจากสองสาเหตุสำคัญ ได้แก่ (1) การที่หุ้นขนาดใหญ่เหล่านี้ถูกเทขายออกมามากในปีที่แล้วจากความกังวลเกี่ยวกับดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ทั้งกลุ่มปรับตัวลดลง 39% เทียบกับหุ้นอื่นๆ ที่ปีที่แล้วลดลงเพียง 10%

ดังนั้น เมื่อความกังวลต่างๆ เริ่มลดลงในปีนี้ โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้หุ้นเหล่านี้ฟื้นตัวได้แรงกว่าหุ้นโดยรวม นอกจากนี้อีกปัจจัยสำคัญก็คือ (2) เรื่องของทิศทางผลประกอบการที่ดีกว่า โดยการประมาณการล่าสุดจากนักวิเคราะห์ในตลาดการเงินพบกว่าหุ้นทั้ง 7 ตัวนี้ ในช่วงปี 2023 ถึง 2025 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ ที่ 11% เทียบกับที่เหลือที่คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเพียง 3% (ข้อมูลจาก Goldman Sachs Global Investment Research) หรือแม้อัตราส่วนกำไรขั้นต้น (Net Profit Margin) ในปีนีที่สูงกว่าที่ 22% เทียบกับ 10%) ดังนั้นจะเห็นได้ว่านอกจากการฟื้นตัวหลังจากถูกแรงเทขายอย่างหนักในปีที่แล้ว ทิศทางของผลประกอบการก็ยังคงดีต่อเนื่อง ทำให้เป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดีและฉุดดัชนีในภาพรวมให้ปรับสูงขึ้นมาด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการลงทุนผ่านกองทุนรวม จะพบว่าในปีนี้กองทุน Master Fund ที่กองทุนรวม Feeder Fund บ้านเรากระจายกันไปลงทุนอย่างหลากหลายนั้นให้ผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีอ้างอิงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นตัวเลขในระดับที่อาจไม่ได้เห็นกันบ่อยๆ แม้แต่จะเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจก็ตาม โดยการที่กองทุน Underperform อย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ก็จะทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาดูน่าสนใจลดลงไปด้วย

โดยสาเหตุหลักๆ เกิดจากการที่กองทุนนั้นทั้งไม่สามารถลงทุนหรือไม่เต็มใจจะลงทุนในหุ้น Mega Cap เหล่านั้นในส่วนส่วนที่ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง ที่ราวๆ 30% จะเป็นหุ้น Mega Cap 7 ตัวดังกล่าว ดังนั้นเมื่อราคาหุ้นกลุ่มเหล่านี้ยังคงปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้กองทุนให้ผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีอ้างอิงอันเป็นผลมาจากการลงทุนในสัดส่วนที่น้อยกว่านั้นเอง แม้จะมีบางกองทุนที่ลงทุนแบบกระจุกตัวในหุ้นกลุ่มนี้โดยเฉพาะซึ่งอาจจะให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงหรือมากกว่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่มากกว่า

โดยในภาพรวมส่วนใหญ่กองทุนจะมีการกระจายการลงทุนมากกว่าดัชนีอ้างอิงที่ปัจจุบันกระจุกตัวอย่างมาก อย่างไรก็ตามข้อดีก็คือหากหุ้นเหล่านี้มีการปรับฐาน กองทุนรวมเหล่านั้นก็จะปรับลดลงในขนาดที่น้อยกว่าจากน้ำหนักการลงทุนที่น้อยกว่านั่นเอง ดังนั้นเมื่อเป็นสาเหตุนี้ การ Underperform หากเกิดจากปัจจัยดังกล่าวในปีนี้ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องแย่ไปเสียทีเดียว

นอกจากนั้นอีกปัจจัยสำคัญก็คือเมื่อเราแปลงการลงทุนเหล่านั้นกลับมาเป็นในสกุลเงินบาท หลายๆ กองทุน Feeder Fund จะมีนโยบายป้องกันความเสี่ยง (Foreign Currency Hedging) อยู่บางส่วนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของแต่ละกองทุน

แต่ในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ สูงกว่าไทย ทำให้เกิดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจจะลดทอนผลตอบแทนของการลงทุนต่างประเทศในรูปเงินบาทลงบ้างบางส่วน และเมื่อเราเปิดพอร์ตการลงทุนดูก็อาจจะพบว่าผลตอบแทนของกองทุนเทคโนโลยีดูจะไม่สูงเท่าดัชนีต่างๆ ที่ได้ยินมาตามแหล่งข่าวต่างๆ เหล่านั้น หรือ อาจจะเรียกได้ว่าให้ผลตอบแทนดี แต่ก็อาจจะผิดหวังเล็กน้อยที่ไม่สูงเท่าที่คิดนั่นเอง

แต่ก็นับได้ว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ และเมื่อพิจารณาทิศทางของกลุ่มเทคโนโลนีที่ยังน่าจะเติบได้ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การลงทุนในกลุ่มนี้ก็ยังคงจำเป็นที่จะสมควรมีติดพอร์ตฟอลิโอไว้บ้างอยู่ดี แต่ความเข้าใจก็จะช่วยให้เราพิจารณาการลงทุนต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด


 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...