“นิกร” มอง กฎหมายประชามติ เสียงข้างมากชั้น 2 ทําเดดล็อก แก้รัฐธรรมนูญยาก แนะให้ตัดทิ้ง ชี้ หากรัฐบาลเสนอร่างแก้เอง ผ่านด่าน สส.-สว. ง่ายกว่า
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 นายนิกร จํานง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 13 เรื่องเกณฑ์การทำประชามติ มีเนื้อหาสาระอย่างไร ว่า ภายในคณะอนุกรรมการหารือกันว่า การทำประชามติมีปัญหาที่จะทำให้ผ่านไม่ได้ เพราะต้องมีเสียงข้างมาก 2 ระดับ คือ
1. ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ทําประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด คือประมาณ 26 ล้านคน
2. ใน 26 ล้านคนนี้ จะต้องเห็นด้วยว่าควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 13 ล้านกว่าคน
ทั้งนี้ คิดว่าทําได้ยากมาก เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเหมือนเรื่องไกลตัว น่าจะทำประชาสัมพันธ์กันไม่ทัน ความเห็นต่างก็ไม่เยอะ คนที่ไม่เห็นด้วยมีไม่มากนัก แรงส่งที่จะทําให้มีคนออกมาใช้สิทธิ์น่าจะน้อย จึงเห็นว่าอาจมีปัญหา และถ้าหากประชามติไม่ผ่านขึ้นมา ก็จะกลายเป็นว่าคนไทยไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่จริงไม่ใช่แบบนั้น ดังนั้น จะต้องมีการหารือกันในคณะกรรมการ ซึ่งตนจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้
นายนิกร กล่าวต่อไปว่า ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ ไม่ใช่แค่เรื่องการเห็นด้วยหรือไม่ แต่กฎหมายประชามติมีปัญหา ไม่ใช่เฉพาะรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายประชามติในลักษณะนี้ไม่เคยมี เพิ่งมีในรัฐธรรมนูญนี้เป็นฉบับแรก จึงคิดว่าเป็นกฎหมายที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง สมควรมีการแก้ไข เพราะจะได้ใช้ในอนาคตได้ด้วย เนื่องจากการทำประชามติเป็นประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน ฉะนั้น ควรทำกฎหมายตรงนี้ให้ดี
...
ส่วนตัวมองว่าเสียงข้างมากชั้นที่ 2 ไม่ควรมีเป็นอย่างยิ่ง ควรจะใช้เสียงข้างมากอย่างเดียว เพราะเมื่อมีการออกมาใช้สิทธิ์ทำประชามติ บางคนอาจจะงดออกเสียงก็ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นเมื่อรวมเสียงกันแล้ว เสียงที่เห็นชอบจะไม่ได้เกินกึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นของพรรคก้าวไกล ที่มองว่าควรเป็น 25% ของผู้มีสิทธิ์ ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วก็คล้ายกับที่ตนเสนอ เพียงแต่เขามีวิธีอธิบายอีกแบบ แต่ก็จะมีปัญหาว่าประชาชนเข้าใจยาก และจะทำให้กฎหมายผ่านยาก ดังนั้น ต้องคุยกันว่าเรื่องนี้จะแก้อย่างไร แต่ถ้าแก้โดยการตัดชั้นที่ 2 ทิ้ง ให้เป็นแบบเสียงข้างมากปกติ ก็แก้เพียงมาตรา 13 ซึ่งจะทําให้แก้ได้เร็วขึ้น แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายปฏิรูปต้องผ่านความเห็นของทั้ง 2 สภา จึงต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ดี เพราะเขาไม่เห็นด้วยกันอยู่
ผู้สื่อข่าวถามต่อไป มั่นใจว่าจะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ นายนิกร ตอบว่า ยังไม่ทราบ แต่อยู่ที่หลักการและเหตุผล ทั้งนี้ ถ้าพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นจะมีปัญหา เพราะเป็นกฎหมายปฏิรูป ซึ่งไม่ใช่กฎหมายธรรมดา มีกลไกเยอะ แต่ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยและยื่นเป็นร่างของรัฐบาลก็จะง่ายขึ้น เมื่อถามอีกว่าจะถูกมองเป็นการยื้อเวลาของรัฐบาลหรือไม่ นายนิกร ระบุว่า ไม่ได้ยื้อ แต่เป็นการเห็นกำแพงที่ผ่านยากอยู่ข้างหน้า ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้รัฐธรรมนูญตามนโยบายเสียด้วยซํ้า และฝ่ายค้านเองก็ต้องร่วมกัน.