‘พาณิชย์’ ก้าวพลาด โดดเข้ามาคุมราคาน้ำตาล

รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ประกาศนโยบายดูแลค่าครองชีพประชาชน เริ่มต้นด้วยการลดราคาดีเซล เบนซินและไฟฟ้า

ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงานเมื่อวันที่ 28 ต.ค.2566 กิโลกรัมละ 4 บาท

การประกาศของ สอน.ดำเนินการตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่ต้องกำหนดราคาหน้าโรงงานเพื่อเป็นราคาอ้างอิงในการคำนวณระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานในระบบ 70:30

ทันทีที่ สอน.ประกาศออกมา ทำให้นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทบทวนทันที เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาน้ำตาล

กระทรวงพาณิชย์นัดประชุมคณะกรรมการราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ในวันที่ 30 ต.ค.2566 โดยใช้อำนาจ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เข้ามาควบคุมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ ดังนี้

1.กำหนดราคาหน้าโรงงาน โดยให้น้ำตาลทรายขาวอยู่ที่กิโลกรัมละ 19 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 20 บาท

2.กำหนดราคาขายปลีกราคาน้ำตาลในประเทศ โดยน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 24 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 25 บาท 

3.กำหนดมาตรการการควบคุมการส่งออกน้ำตาล ซึ่งการส่งออกน้ำตาลเกิน 1 ตัน ต้องขออนุญาต

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยประหลาดใจกับมาตรการดังกล่าว เพราะที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่เคยเข้ามาควบคุมราคาหน้าโรงงาน

รวมทั้งสร้างความสับสนว่าจะใช้ราคาหน้าโรงงานที่ประกาศตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย หรือใช้ราคาหน้าโรงงานที่ประกาศตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

“มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ทำให้เห็นการไม่ทำการบ้านของรัฐบาล รวมทั้งการไม่เข้าใจอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย”

เป็นความเห็นของ นายวิโรจน์ ณ ระนองผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หลังจากกระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการดังกล่าว

นายวิโรจน์ ยังเห็นว่า การที่กระทรวงพาณิชย์มาควบคุมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบดังกล่าว เป็นแนวทางที่ถอยหลังเข้าคลองย้อนไปก่อนที่จะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งยกเลิกราคาขายปลีกในประเทศ

หลังจากนั้นกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ก่อนที่จะตั้ง นายยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี มาทำหน้าที่ประธานคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

สำหรับนายยรรยง เคยทำหน้าที่อธิบดีกรมการค้าภายใน (2550-2552) , ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (2552-2555) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (2556-2557) ในยุคที่น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุมราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 23.50 บาท (ไม่รวมค่าขนส่ง)

คณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล มีมติเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2566 หรือ 2 สัปดาห์หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์เข้ามาควบคุมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ

โดยมีข้อสรุปให้ยกเลิกราคาหน้าโรงงานที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศไปเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2566 และให้ปรับราคาหน้าโรงงานขึ้น 2 บาท ดังนี้

1.ราคาทรายขาว กิโลกรัมละ 21 บาท 

2.ราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กิโลกรัมละ 22 บาท

ทั้งนี้ มีข้อเสนอถึงรัฐบาลหากต่อไปจะเปลี่ยนแปลงราคาน้ำตาลทั้งขึ้นหรือลง ขอให้ประสานงานใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะรับผิดชอบภารกิจต่างกัน

"เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่เกิดขึ้นขณะนี้ ต้องมีการประสานงานกันมากขึ้น" นายยรรยง กล่าว

นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงานเพียง 2 บาท เพราะผู้บริโภคไม่ควรมารับภาระทั้งหมด 4 บาท

"น้ำตาลขึ้น 2 บาทตอนนี้ก็โอเคแล้วส่วนที่เหลืออีก2บาทที่จะมาจัดการฝุ่น PM2.5 จะไม่ให้ขึ้นแต่ให้ไปดูว่าจะทำอย่างไร” นายภูมิธรรมกล่าว

สำหรับการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย จะมีคณะกรรมการดูแลอุตสาหกรรมทั้งระบบรวม 5 คณะ

โดยแต่ละคณะจะมีผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนโรงงานและผู้แทนชาวไร่ร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อนำมาสู่ระบบการแบ่งปันผล 70:30 ดังนี้

1.คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)

2.คณะกรรมการบริหาร (กบ.)

3.คณะกรรมการอ้อย (กอ.)

4.คณะกรรมการน้ำตาล (กน.)

5.คณะกรรมการกองทุน (กท.)

ทั้งนี้ ในคณะกรรมการทุกชุดจะมีผู้แทนภาครัฐจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยที่ผ่านมาการกำหนดนโยบายบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะเป็นที่รับทราบข้อมูลกันผ่านกลไกดังกล่าว

นายบุญถิ่น โคตรศิริ กรรมการบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) กล่าวว่า หากกระทรวงพาณิชย์ต้องการควบคุมราคา ควรเข้ามาควบคุมเฉพาะราคาขายปลีก

ในขณะที่ราคาหน้าโรงงานเป็นราคาที่คำนวณมาจากต้นทุนการเพาะปลูกอ้อยของชาวไร่และต้นทุนการผลิตน้ำตาล ซึ่งที่ผ่านมา สอน.เป็นเจ้าภาพในการจัดทำต้นทุนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบมาตลอด

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...