“รัฐบาล” ไร้ทางออกช่วยชาวไร่อ้อย บีบโรงงานน้ำตาลจ่าย 2 บาท/กก.

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่อยู่ในระบบตลาดเสรีมานับตั้งแต่มีการลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศเมื่อปี 2561 ต้องถูกภาครัฐควบคุมอย่างเข้มงวดหลังจากกระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการควบคุมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2566

กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศควบคุมราคาน้ำตาลหน้าโรงงานเป็นครั้งแรก โดยใช้อำนาจ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เพื่อกำหนดให้น้ำตาลทรายขาวอยู่ที่กิโลกรัมละ 19 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 20 บาท ซึ่งปกติที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ประกาศราคาหน้าโรงงานตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย

รวมทั้งได้ออกประกาศควบคุมการขายปลีกราคาน้ำตาลในประเทศ โดยน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 24 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 25 บาท และกำหนดมาตรการการควบคุมการส่งออกน้ำตาล ซึ่งการส่งออกน้ำตาลเกิน 1 ตัน ต้องขออนุญาต

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทางการพิจารณาวงเงินชดเชยการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาอ้อย 8,000 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยได้เข้าชี้แจงกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอข้อมูลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และทำให้รัฐบาลยอมตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อหาแนวทางดูแลชาวไร่อ้อยให้ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่สูงขึ้น

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้ยอมให้มีการปรับราคาน้ำตาลหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 2 บาท เพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 ส่วนการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 เห็นว่าไม่ควรเป็นภาระของผู้บริโภคน้ำตาลที่ต้องมาจ่ายส่วนนี้จึงยอมให้ปรับราคาหน้าโรงงานขึ้นเพียง 2 บาท

หารือโรงงานจ่ายเงินเข้ากองทุน 2 บาท

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า รัฐบาลต้องตัดสินใจแนวทางการหาเงินมาใส่ในกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนไม่ให้เกษตรกรเผาอ้อยซึ่งจะเกิดปัญหา PM 2.5 ซึ่งเดิมนั้นมีข้อเสนอจากสำนักคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้ขึ้นราคาน้ำตาลเพิ่มอีก 2 บาท แต่ ครม.ไม่เห็นด้วยในแนวทางนี้ และมีข้อเสนอให้รัฐจัดงบประมาณ 8,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการส่วนนี้

ทั้งนี้ ครม.มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะที่กำกับ สอน.หาแนวทางที่เหมาะสมในการว่าจะนำเงินจากส่วนใดให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภคมากขึ้น โดยรัฐบาลมองว่าการปรับราคาน้ำตาลขึ้น 2 บาท เป็นภาระต่อผู้บริโภคมากอยู่แล้ว และหากจะหาเงินมาใส่กองทุนอ้อยเพื่อลดการเผาอ้อยจึงไม่ควรผลักภาระนี้ให้ผู้บริโภค

ดังนั้นจึงตั้งคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม โดยมีนายยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อหารือให้โรงงานผลิตน้ำตาลเป็นผู้รับภาระในส่วนที่จะเอาเงินใส่กองทุนสิ่งแวดล้อม เพราะโรงงานเป็นผู้รับผลผลิตจากชาวไร่มาแปรรูปเป็นน้ำตาล ขณะที่ราคาขายปลีกและส่งออกปรับเพิ่มขึ้นมาก จึงนำไรมาใส่กองทุนอ้อยได้ โดยไม่กระทบผู้บริโภค ซึ่งกำลังหาข้อสรุป

นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดให้ขึ้นราคาน้ำตาลเพียง 2 บาท ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยเหลือต้นทุนของชาวไร่อ้อยเท่านั้น ส่วนแนวทางการขึ้นราคาอีก 2 บาท เพื่อสมทบเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องรัฐบาลไม่เห็นด้วย และได้สั่งการให้ สอน.หาแนวทางที่เหมาะสมมาเสนอ ครม.

ส่วนประเด็นที่จะให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้รับภาระจะเหมาะสมหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ในขณะนี้ ต้องดูข้อเสนอของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย เช่นเดียวกับการใช้งบประมาณเข้ามาเติมในกองทุนอ้อยและน้ำตาล ซึ่งต้องดูข้อเสนอที่เข้ามาก่อน

"น้ำตาลขึ้น 2 บาท ตอนนี้ก็โอเคแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 2 บาทที่จะมาจัดการฝุ่น PM 2.5 จะไม่ให้ขึ้น แต่ให้ไปดูว่าจะทำอย่างไร เพราะเรื่องนี้ผู้บริโภคจะไม่ต้องรับผิดชอบ” นายภูมิธรรม กล่าว

โรงงานน้ำตาลค้านเก็บ 2 บาท

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่น เพราะเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ระหว่างโรงงานเป็นสัดส่วน 30% และชาวไร่อ้อย70% ดังนั้นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องให้โรงงานควักจ่ายจะเป็นการกินส่วนแบ่ง 30% นั้น ซึ่งหากต้องให้โรงงานเป็นผู้จ่าย 2 บาท หรือคิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาทต่อปี 

ขณะที่ยอดขายน้ำตาลรวมปีละ 2 แสนล้านบาท โรงงานได้ส่วนแบ่ง 6 หมื่นล้านบาท เมื่อต้องจ่ายเงินอุดหนุนอีกคิดเป็น 10% ของส่วนแบ่งยอดขายที่โรงงานจะได้รับ เมื่อเทียบกับราคาขายในประเทศซึ่งก็ไม่ได้มีส่วนแบ่งกำไรมากมาย

“วันนี้หากส่งน้ำตาลข้ามชายแดนไปผู้ขายก็ได้กำไรเกือบ 25% แล้ว เมื่อเทียบกับราคาที่ให้ขายในประเทศ ผู้ขายจะขาดทุนกำไร ถ้ายังให้ชดเชยไปอีกโรงงานก็เหมือนโดน 2 เด้ง”

ขณะนี้ต้นทุนการประกอบการของทุกธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าขนส่ง ทำให้ราคาสินค้าหลายประเภทปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นราคาน้ำตาลกลับไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของผู้ผลิตฝ่ายเดียว

“ถึงแม้ว่าจะขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศเป็นกิโลกรัมละ 24 บาท ยังถูกกว่าราคาตลาดโลกที่ 27 บาท ทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศยังชนะต้นทุนน้ำตาลประเทศเพื่อนบ้านด้วยซ้ำ แล้วมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องช่วยอุ้มราคาน้ำตาลในประเทศขนาดนี้" 

รวมทั้งต่อไปยิ่งราคาน้ำตาลในประเทศราคาถูกยิ่งส่งเสริมให้เกิดการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นจากปปัจจุบัน 2.5 ล้านตันอาจเพิ่มเป็น 3 ล้านตัน อยากให้มองหาทางแก้ปัญหาที่แก้ทีเดียวจบมากกว่านี้

“พาณิชย์” โยน สอน.บริหารน้ำตาลให้ดี

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนน้ำตาลหลังขึ้นราคา คาดว่าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นช่วงแรก แต่อีกไม่นานน้ำตาลจะไม่ขาดตลาด ซึ่งได้หารือกับ สอน.ให้ดูผลผลิตน้ำตาลที่ออกสู่ท้องตลาดไม่ให้กระจุกตัวเกินไป และถ้าบริหารจัดการได้ดีจะทำให้น้ำตาลทรายไม่จะขาดตลาด เพราะไทยผลิตได้ปีละ 10 ล้านตัน โดยส่งออก 8 ล้านตันบริโภคในประเทศเพียง 2 ล้านตัน

สำหรับการขออนุญาตส่งออก ขณะนี้ไม่ได้รควบคุมการส่งออกน้ำตาลโดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) แล้ว แต่ให้กลับไปใช้กลไกเดิมก่อนที่จะประกาศให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม คือผู้ที่ส่งออกน้ำตาลตั้งแต่ 1 ตันขึ้นไปให้อนุญาตจาก สอน. เหมือนเดิม โดยขณะนี้กระทรวงพาณิชย์และ สอน.เชื่อมโยงข้อมูลกัน ซึ่งทำให้โรงงานกลับไปใช้ช่องทางเดิมในการขออนุญาตส่งออกน้ำตาลตามปริมาณที่กำหนด

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...