หวัง 'ดิจิทัล วอลเล็ต' ดันGDPโตแซงหนี้  'พรหมินทร์' ยันกู้ 5 แสนล้านในประเทศ

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทของรัฐบาลเพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ตแจกเงิน 10,000 บาทให้คน 50 ล้านคน ว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพราะมองเห็นปัญหาเศรษฐกิจที่สั่งสมอยู่ของประเทศมานานและหากปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไรในปี 2567 เศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดวิกฤติได้

ทั้งนี้ปัญหาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนั้นเรามีการฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ช้าที่สุดในภูมิภาค เมื่อรวมกับเศรษฐกิจในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวเฉลี่ย 1.9% ต่อปีซึ่งถือว่าขยายตัวได้ต่ำมาก ขณะที่หนี้ครัวเรือนไทยนั้นสูงถึง 91.6% สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราเร่งทำให้ประชาชนที่มีภาระต้องผ่อนสินค้านั้นมีภาระสูงมากขึ้นจนไม่มีกำลังจะใช้จ่าย ซึ่งภาวะแบบนี้ทำให้ประชาชนไม่มีกำลังซื้อส่งผลต่อกำลังการผลิตสินค้าที่ลดต่ำกว่า 58% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า การลงทุนของรัฐวิสาหกิจชะลอตัว ทั้งหมดอยู่ในภาวะที่ลดลงหากปล่อยไปแบบนี้เรื่อยเศรษฐกิจไทยจะไม่โตและอยู่ในภาวะเฉาตายในที่สุด

“ภาวะวิกฤติที่รออยู่ข้างหน้าสะท้อนผ่านภาวะ ตัวเลขต่างๆ เมื่อรวมกับเรื่องของหุ้นกู้ของเอกชนจำนวนมากที่จะครบกำหนดชำระกว่า 1 ล้านล้านบาทในปีหน้า หนี้ที่สูงทำให้เสี่ยงจะเป็นต้มยำกุ้งได้ แต่เมื่อรู้แล้วเราต้องแก้และป้องกันก่อน สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมาแล้วมองไปข้างหน้าเมื่อคาดการณ์ไปถึงอนาคตแล้วมีความเสี่ยงมากทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจในวันนี้เพราะมีขั้นตอนทางกฎหมายที่ต้องดำเนินการ”

นพ.พรหมินทร์กล่าวต่อว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตรัฐบาลต้องยืนให้มั่นในเรื่องนี้เพราะนโยบายนี้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและโตได้มากกว่าหนี้ที่เกิดขึ้น นโยบายนี้จึงไม่ใช่การสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย เพราะการแจกเงินครั้งนี้บางส่วนนั้นจะเกิดการลงทุนใหม่ๆ เพราะผลการสำรวจที่ออกมาระบุว่าบางส่วนจะเอาเงินนี้ไปรวมกันทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน เพื่อเป็นทุนในการผลิตและต่อยอดอาชีพต่อไป

โดยรัฐบาลคาดว่าเม็ดเงินจะหมุนในระบบเศรษฐกิจได้ 3.3 รอบ ทั้งนี้ได้ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเพิ่มขยายตัวขึ้นจากมาตรการนี้ประมาณ 1-1.5%

ทั้งนี้ยืนยันว่าการหาแหล่งเงินโดยการออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้นั้นได้มีการปรึกษากับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วว่าจะไม่กระทบกับเครดิตเรตติ้ง โดยสิ่งสำคัญคือวันแรกของการเริ่มใช้นโยบายนี้รัฐบาลต้องมีเงินแบ็คอัพเต็มจำนวนแบบบาทต่อบาทเท่ากับจำนวนที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่กำหนดเงินจำนวนนั้นเป็นดิจิทัลเคอร์เรนซี และรัฐบาลต้องมีแผนใช้คืนเงินที่ชัดเจน

ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะใช้หนี้จำนวนนี้ใน 4 ปี และจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลงกลับมาอยู่ที่ระดับ 61 – 62% ภายในเทอม 4 ปีของรัฐบาลนี้ โดยการกู้เงินนี้จะใช้การกู้เงินในประเทศเป็นหลักเนื่องจากมีสภาพคล่องเพียงพอ

 

“ที่ผ่านมารัฐบาลได้พิจารณาถึงทางเลือกต่างๆที่จะหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการนี้ ซึ่งตอนจะใช้การขยายมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังก็มีเสียงที่ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ขณะที่เรื่องของงบประมาณก็มีข้อจำกัดมาก ขณะที่ พ.ร.ก.ก็ไม่สามารถออกได้เพราะติดเงื่อนไขของความเร่งด่วน การออก พ.ร.บ.เงินกู้จึงเป็นวิธีการที่เซฟที่สุดและสะอาดที่สุด ส่วนขั้นตอนการผ่านสภาฯนั้นรัฐบาลมั่นใจว่าจะผ่านสภาฯแน่นอนเพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมาก และเหตุผลที่ได้บอกมาแล้วจะสามารถโน้มน้าวให้สมาชิกสภาฯเห็นชอบได้เพราะเรื่องนี้รัฐบาลของเราทำเพื่อประชาชน จึงไม่มีแผนสองรองรับ”น.พ.พรหมินทร์กล่าว  

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...