นักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้รัฐบาล”กู้มาแจก”เสี่ยงวินัยการคลังประเทศ

นายนณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)กล่าวให้ความเห็นกรณีรัฐบาลมีแผนในการ ออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตว่า ตนเห็นว่า แนวทางและโครงการดังกล่าว จะก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังและกระทบต่อเครดิตเรตติ้งของประเทศ

โดยในส่วนของความเสี่ยงทางการคลังนั้น เมื่อรัฐบาลกู้เงิน จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับเกินกว่า 60%ต่อจีดีพี ก็ถือว่า เกินกว่ากรอบวินัยการเงินการคลังได้กำหนดไว้อยู่แล้ว เมื่อรัฐบาลกู้เงินเพิ่ม ระดับหนี้สาธารณะก็จะปรับตัวสูงขึ้น หากระดับจีดีพีไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมาย เมื่อหนี้สาธารณะปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้กรอบการในการกู้เงินของเราแคบลง เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการใช้เงิน เช่น กรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เราจะมีกระสุนทางการคลังไม่เพียงพอ

“ขณะนี้ ระดับหนี้ต่อจีดีพีที่อยู่ในระดับเกินกว่า 60% ต่อจีดีพี ก็ถือว่า เสี่ยงอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมา เราก็กู้ไปมาก โดยเฉพาะในช่วงโควิด เรากู้สูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท ถ้าเรากู้เงินอีก กรอบในการกู้เงินเราก็จะยิ่งบางลง เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต เราก็จะมีกระสุนไม่เพียงพอ ก็อยากให้เก็บเสปรดตรงนี้ไว้ ดังนั้น ผมไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้วิธีการกู้เงิน และรวมถึง โครงการแจกเงินครั้งนี้”

เขายังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยเปรียบเสมือนลูกคนรวย กล่าวคือ มีระดับหนี้ที่ต่ำ ก็ทำให้เรามีเครดิตที่ดี แต่ล่าสุดหนี้ดังกล่าวมาอยู่ที่กว่า 60%ต่อจีดีพีแล้ว ดังนั้น ทางสถาบันจัดอันดับเครดิตต่างประเทศก็ได้ออกมาเตือนในลักษณะว่า ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีเครดิตดีเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ฉะนั้น ถ้ายังจะกู้เพิ่ม ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทางเครดิต และ ในที่สุดจะกระทบต่อต้นทุนการกู้เงินของประเทศ

สำหรับผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจนั้น เขาประเมินว่า ด้วยรูปแบบการใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนด จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินได้ไม่ถึง 1 เท่า หรือ ต่ำสุดที่ 0.4 เท่า และ สูงสุดที่ 0.9 เท่า เท่านั้น ดังนั้น กรณีรัฐบาลจะทุ่มเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาท ถ้าเงินหมุนได้เพียง 0.4 เท่า จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนได้เพียง 2 แสนล้านบาท กรณีหมุนได้สูงสุดที่ 0.9 เท่า จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนได้เพียง 4.5 แสนล้านบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ หากเทียบต่อจีดีพีที่ 17 ล้านล้านบาทกับเม็ดเงินที่ลงไป 5 แสนล้านบาท จะเท่ากับว่า เม็ดเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น มีสัดส่วนเพียง 3% ต่อจีดีพีเท่านั้น ฉะนั้น ในแง่ของการหมุนของเงินจึงไม่ได้แรง โดยมองว่า ในปีแรกที่เงินลงในระบบเศรษฐกิจ อาจจะได้เพียงครึ่งหนึ่ง หรือ ราว 50% ของเงินที่จะลงไปเท่านั้น และในปีถัดไปก็จะยิ่งอ่อนแรงลงเรื่อยๆ

“ด้วยการหมุนของเม็ดเงินที่จะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ จึงมองว่า ไม่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 4 ปีตามเป้าหมายของรัฐบาลแน่นอน ส่วนเป้าหมายที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 5%ในปีหน้า ก็มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะปีหน้าเราก็คาดการณ์จีดีพีจะโตได้ 4% อยู่แล้ว ฉะนั้น จึงเหลือแค่ 1% ถ้าโครงการนี้ลงไปก็น่าจะสนับสนุนการเติบโตได้”

ส่วนกรณีที่รัฐบาลมองว่า ด้วยการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่เฉลี่ย 2% ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ถือว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในขั้นวิกฤต เขาเห็นว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ จึงไม่จำเป็นที่ต้องได้รับการกระตุ้น ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยกับแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว

“ในสมัยโบราณ ขงเบ้งบอกว่า ต้องใช้นักวิชาการถึง 7 คน จึงจะทัดทานนโยบายของฮ่องเต้ได้ แต่สมัยนี้ นักวิชาการ 99 คน ยังไม่สามารถทัดทานนโยบายของรัฐบาลได้”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...