นายกฯ เผยสั่งการยกระดับตั้ง “กรมฮาลาล” ดันอาหารเศรษฐกิจส่งออกไปในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมสูง พร้อมสั่งการ “ดีอี-มท.” ทำแผนปราบแก๊งค้าข้อมูล
วันที่ 7 พ.ย. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงอุตสาหกรรมฮาลาลว่า เรื่องของอาหารฮาลาลซึ่งเป็นอาหารของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ตรงนี้เป็นหน่วยงานหนึ่งในกรมของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถือว่าเล็ก รัฐบาลนี้ตระหนักดีถึงความสำคัญของอาหารฮาลาลว่า อาหารเศรษฐกิจที่สามารถส่งออกได้ในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมสูง อย่างแอฟริกา ตะวันออกกลาง ก็อยากจะยกระดับความสำคัญหน่วยงานนี้ให้เป็นกรม จึงได้มีการสั่งการและมีการพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ยกระดับหน่วยงานนี้ให้เป็นกรม จะได้ให้ความสำคัญและพัฒนาต่อไปได้
นอกจากนี้ นายกฯ ยังให้สัมภาษณ์ถึงการจับกุมแก๊งขายข้อมูลคนไทยกว่า 15 ล้านรายชื่อว่า ได้กำชับนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และมอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ช่วยดูเข้าไปกำกับดูแลและช่วยดูเรื่องนี้ด้วย โดยให้เวลาอีกหนึ่งสัปดาห์กลับมาเสนอแผน
ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ในที่ประชุม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ได้มีดำริว่าอุตสาหกรรมฮาลาล เป็นสินค้าที่มีตลาดใหญ่มาก รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการผลิตสินค้าฮาลาล แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นเพียงระดับกองในกระทรวงอุตสาหกรรม จึงสั่งการให้ รมว.อุตสาหกรรม ไปหาวิธียกระดับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องสินค้าฮาลาลให้เป็นระดับกรมได้หรือไม่
พร้อมได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ป.ป.ส.) หารือกับทุกหน่วยงานและมีความเห็นว่าการครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดถือเป็นผู้เสพ แต่ถ้ามากกว่า 5 เม็ดให้ถือเป็นผู้ค้า จึงมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขไปออกกฎหมายออกมาเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าวโดยเร็ว
...