ดราม่า #แบนเที่ยวเกาหลี KTO ยัน ‘ไม่นิ่งนอนใจ’ จับตาเอฟเฟกต์ ไทยเที่ยวเกาหลี

ทั้งถึงขั้นถูกส่งตัวกลับไทย ขณะที่หลายรายเจอคำถามแปลกๆ ของเจ้าหน้าที่ ตม. ขณะใช้ “ดุลยพินิจ” พิจารณาว่าจะให้นักท่องเที่ยวไทยผ่านเข้าประเทศหรือไม่ ลามไปถึงประเด็นเลือกปฏิบัติ และเหยียดคนไทย ทำลายความตั้งใจของคนที่อยากไปเที่ยวจริงๆ

ประเด็นนี้เปรียบเหมือน “เหรียญสองด้าน” เริ่มจากปัญหา “ผีน้อย” หรือ แรงงานผิดกฎหมาย ลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ ทำให้ภาพลักษณ์ของคนไทยที่เดินทางไปเกาหลีใต้ ถูกเพ่งเล็งจับจ้องเป็นพิเศษ! ว่าเดินทางมาท่องเที่ยวจริงๆ หรือตั้งใจจะหลบหนีเข้ามาทำงานอย่างไม่ถูกกฎหมายกันแน่?

โดยในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวการจับตัวผีน้อยคนไทยได้อย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มที่ซื้อทัวร์บังหน้า ทำให้หลายคนที่ตั้งใจไปเที่ยวจริงๆ ถูกเหมารวม โดนหางเลขไปด้วย บางคนรู้สึกเหมือนถูก ตม. เกาหลีใต้ เลือกปฏิบัติ กระทบต่อความรู้สึก นำไปสู่การติดแฮชแท็ก #แบนเที่ยวเกาหลี เชิญชวนคนไทยไม่ไปเที่ยวเกาหลี ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 27 ต.ค. 2566

อริญชยา เลิศวัฒนชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (KTO) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เกาหลีใต้ (ส่วน ตม. อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงยุติธรรม ของ เกาหลีใต้) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากประเด็นร้อน #แบนเที่ยวเกาหลี ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ ตม.เกาหลีใต้ ยังไม่ได้รับรายงานเกี่ยวกับฟีดแบ็กของบริษัททัวร์ที่ทำตลาดนักท่องเที่ยวไทย เนื่องจากกระแสดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถวัดผลกระทบได้ หรือเห็นตัวเลขชี้นำว่านักท่องเที่ยวไทยหายไปอย่างชัดเจน

“จริงๆ แล้วในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเข้าสู่ไฮซีซันฤดูหนาวของเกาหลี เป็นช่วงที่คนไทยนิยมเดินทางไปเที่ยว และมีหลายคนที่ทำการจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าค่อนข้างมากเอาไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ในการจองตั๋วเครื่องบินระยะยาว ยังไม่แน่ใจว่าประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบขนาดไหน”

ทั้งนี้ KTO ได้รับทราบถึงปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางเข้าเมืองของนักท่องเที่ยวไทย ทั้งเรื่องการลงทะเบียนผ่านระบบ K-ETA และการตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) มานานเป็นปีแล้วตั้งแต่ยุคโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งยืนยันว่าทาง KTO “ไม่ได้นิ่งนอนใจ” แต่อย่างใด ได้ส่งรายงานเกี่ยวกับประเด็นปัญหาดังกล่าวไปยังสำนักงานใหญ่ของ KTO ที่เกาหลี เพื่อประสานงานไปยังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถานทูตเกาหลีในประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานที่ดูแล K-ETA โดยตรง ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น เพราะตลาดนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเกาหลีมากเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชีย

“จากสถิติล่าสุด พบว่าในช่วง 8 เดือนแรก (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 ส.ค.) ของปี 2566 มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าเกาหลีสะสม 2.5 แสนคน โดยตลอดปี 2566 ตั้งเป้าเห็นการฟื้นตัว 70% ของจำนวน 5.7 แสนคนเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19” อริญชยา กล่าวปิดท้าย

คงต้องติดตามกันต่อว่า ประเด็น #แบนเที่ยวเกาหลี ที่ร้อนแรงในโลกทวิตเตอร์ตอนนี้ จะส่งผลกระทบต่อ “ความเชื่อมั่น” ทำเอานักท่องเที่ยวไทย (ตัวจริง) เข็ด เจ็บแล้วจำ สะเทือนยอดจองการเดินทางไปเกาหลีในปี 2567 หรือไม่

และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกโรงแก้ปัญหาอย่างไร สำหรับปัญหาการเข้าเมืองของคนไทยที่แสนจะเซนซิทีฟ!!!

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์

 

 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...