เศรษฐกิจปีหน้าระวัง "สามสูง" ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย

วันนี้จึงขอแชร์ความเห็นของผมในประเด็นนี้ที่ได้ให้ไปกับหลายสื่อ ให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ

เจมี ดิมอน Jamie Dimon ประธานบอร์ดและซีอีโอ ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส ให้ความเห็นอย่างน่าฟังเมื่อสองอาทิตย์ก่อนว่า เรากําลังอยู่ในช่วงเวลาที่อันตรายมากสุดในช่วงหลายสิบปี ซึ่งผมเห็นด้วย

เพราะความขัดแย้งและสถานการณ์สู้รบรุนแรงที่กําลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่โลกพร้อมกันนั้นอันตราย ซึ่งสาเหตุมาจากภูมิศาสตร์การเมือง หมายถึงความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ต่างๆของโลกที่สะสมมา มีประเทศหลักเข้าไปเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ทำให้ความขัดแย้งเมื่อปะทุขึ้นเป็นสงคราม หรือสถานการณ์สู้รบก็อาจยืดเยื้อและหรือบานปลาย เป็นความไม่แน่นอนที่ส่งผลกระทบมากต่อเศรษฐกิจโลกอย่างที่เห็นในปีนี้ ชี้ให้เห็นว่า ภูมิศาสตร์การเมืองจะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกจากนี้ไป

ดังนั้น ปีหน้า ภูมิศาสตร์การเมืองจะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกต่อเนื่องจากปีนี้ที่ขณะนี้ความขัดแย้งมีให้เห็นชัดเจนแล้วอย่างน้อยสามจุด

หนึ่ง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ก่อตัวมาตั้งแต่ก่อนโควิด

สอง สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ปะทุขึ้นต้นปีที่แล้วและยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน

สาม การสู้รบระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอลที่มีความเสี่ยงที่อาจขยายวงหรือพัฒนาเป็นสงครามเต็มรูปแบบในตะวันออกกลาง
 

นี่คือความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกมีขณะนี้ และไม่ชัดเจนว่าปีหน้าความขัดแย้งในภูมิศาสตร์การเมืองโลกจะจํากัดอยู่ในรูปแบบและขอบเขตอย่างที่เห็นปัจจุบัน หรือจะขยายวงขยายผลไปสู่สถานการณ์สู้รบในจุดอื่นๆ ของโลก เป็นความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสำคัญที่ไม่มีใครทราบ

แต่ที่ชัดเจนคือ สถานการณ์สู้รบที่เกิดในหลายจุดพร้อมกันจะสร้างผลกระทบและข้อจำกัดมากต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก สำคัญมากสุดคือดิสรัปชันที่สงครามและสถานการณ์สู้รบจะกระทบการผลิตและการขนส่งสินค้าในเศรษฐกิจโลก ทําให้เกิดภาวะขาดแคลน เช่น อาหาร พลังงาน และวัตถุดิบ

ส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น และราคาจะยืนในระดับสูงตราบใดที่สถานการณ์สู้รบและความไม่แน่นอนต่างๆ ยังไม่คลี่คลาย

ดังนั้น ปีหน้า ราคานํ้ามัน และ เงินเฟ้อจะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ทําให้อัตราดอกเบี้ยจะลงยากจากระดับปัจจุบัน

สรุปคือปีหน้า ทั้งราคานํ้ามัน เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยจะยืนในระดับสูง ราคานํ้ามันสูง เพราะสถานการณ์สู้รบในพื้นที่ขัดแย้งที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันและอาจสูงมากขึ้น

ถ้าความขัดแย้งบานปลายกระทบการผลิตและการส่งออกนํ้ามันของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น อิหร่าน อัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกจะสูง เพราะดิสรัปชันต่อการผลิตที่เกิดขึ้นทําให้ต้นทุนการผลิตสินค้าทั่วโลกสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยจะยังสูงเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลก

ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐจะยังต้องสูงหรือสูงกว่าปัจจุบันไปอีกพอควร

นี่คือ "สามสูง" ที่จะผลต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจเรา และตลาดการเงินโลกในปีหน้า กระทบทั้งในเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจและเสถียรภาพเศรษฐกิจ คืออัตราเงินเฟ้อ การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ความผันผวนในตลาดการเงิน และภาระการชําระหนี้ของผู้ที่มีหนี้ที่ต้องชำระ

ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคธุรกิจหรือครัวเรือน ซึ่งปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ก็จะสร้างแรงกดดันให้กับสถาบันการเงิน เป็นสถานการณ์เศรษฐกิจที่จะยากขึ้นกับทุกฝ่าย

คําถามคือ เศรษฐกิจโลกพร้อมหรือไม่ที่จะรับมือกับภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่จะยากมากขึ้นในปีหน้า

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟเมื่อกลางเดือนนี้ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวลดลงในปีหน้าเป็นร้อยละ 2.9 จากร้อยละ 3.0 ปีนี้ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ที่ทําขึ้นก่อนการสู้รบระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอลจะปะทุขึ้น

ไอเอ็มเอฟ มองว่า เศรษฐกิจโลกขณะนี้ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับช่วงก่อนโควิดและการฟื้นตัวกําลังถูกกดกัน ทั้งจากผลของปัจจัยเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกที่ได้เปลี่ยนไป เช่น ภูมิศาสตร์การเมืองและสงคราม และปัจจัยวัฏจักรเศรษฐกิจที่มากับการฟื้นตัว เช่น เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

แต่ที่น่าห่วงโดยเฉพาะสําหรับประเทศกําลังพัฒนา คือ ความขัดแย้งในภูมิศาสตร์การเมืองจะทําให้การขาดแคลนอาหารและปัญหาเงินเฟ้อจะยิ่งรุนแรง

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ก็อาจทําให้ความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศที่มีหนี้มากมีปัญหาได้ และอาจเกิดเป็นวิกฤติใหญ่ถ้าหลายประเทศมีปัญหาพร้อมกัน เพราะกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศที่มีรายได้ต่ำขณะนี้กําลังมีปัญหาเรื่องหนี้ นี่คือความเสี่ยงสําคัญที่ต้องระวังปีหน้า

สำหรับประเทศเรา เศรษฐกิจเราพึ่งเศรษฐกิจโลกมากทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ทำให้เราจะถูกกระทบมากขึ้นตามไปด้วยในปีหน้า

ภาวะสามสูง เศรษฐกิจโลกที่ชะลอ และแนวโน้มที่การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศจะเป็นขาออกมากกว่าขาเข้า จะสร้างข้อจํากัดต่อเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องการขยายตัว เงินเฟ้อ สภาพคล่อง การลงทุน การหารายได้และความเป็นอยู่ทั่วไปของประชาชน

ดังนั้น ปีหน้าจึงเป็นปีที่การดําเนินนโยบายเศรษฐกิจจะท้าทาย เพราะต้องประคับประคองให้เศรษฐกิจสามารถปรับตัวและไปต่อได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยากขึ้น ดูแลผู้ที่ถูกกระทบที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อวางพื้นฐานให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้เข้มแข็งมากขึ้นในอนาคต เป็นโจทย์ที่อาจอยู่นอกบริบทที่ผู้ทํานโยบายกําลังคิดอยู่ขณะนี้

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

UNHCR ชื่นชม ครม. ไทยอนุมัติแนวทางแก้ปัญหายุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งมีพันธกิจเพื่อแก้ไขและลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ แสด...

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะเปลี่ยนโลก?

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ขณะนี้โลกกำลังรอคอยว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการนำโลก ขณะที่ชาวอเมริกันจะหย...

หน่วยรบยูเครนหวัง 'แฮร์ริส' ชนะเลือกตั้ง

คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ได้หาเสียงว่า ความช่วยเหลือทางทหารต่อยูเครนจะยังคงมีต่...

เปิด 3 นวัตกรรม นักวิจัยสตรีทุนลอรีอัล รักษามะเร็ง พลังงาน และเกษตรยั่งยืน

ตามข้อมูลของ UNESCO งานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) เป็นงานเพื่ออนา...